เปิดหนังสือ“ขอให้ไต่สวน-ดำเนินคดี” “รัฐมนตรีคมนาคม”พัวพันที่ดินรถไฟ (1)

26 มี.ค. 2564 | 10:30 น.

เปิดหนังสือ“ขอให้ไต่สวน-ดำเนินคดี” “รัฐมนตรีคมนาคม”พัวพันที่ดินรถไฟ (1) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3665 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

หลังจากผมนำเสนอบทความเรื่อง  “ฮึดทวง”ที่เขากระโดง “แทนคนไทย”พ.ต.อ.ทวี  “นักต่อสู้ตัวจริง” ไปเมื่อฉบับที่แล้ว มีคนแชร์ไปราว 1,500 คน และมีการขอให้ผมนำเอกสารฉบับที่ร้องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ที่ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด เพื่อจะได้รู้เรื่องใน “คดีดินเขากระโดง” ที่เกี่ยวพันกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ผมจึงนำหนังสือร้องขอให้ป.ป.ช.ไต่สวนและดำเนินคดี ...มาเสนอให้ทราบกัน ดังนี้...

ด้วยสืบเนื่องจากประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ) ได้มีหนังสือที่ ปช.๐๐๑๘/๑๐๘๕ ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่องให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ (ตามหนังสือที่ส่งมาด้วย ๑)ของโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ (นายชัย ชิดชอบเป็นผู้ขอออกโฉนด) และโฉนดเลขที่ ๘๕๖๔( นางกรุณา ชิดชอบ ) ถือกรรมสิทธิ์ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  

ซึ่งคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า “การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔ เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙๙” จนถึงปัจจุบันก็ ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแต่ประการใด....  

โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และเป็นผู้กำกับดูแล การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งทราบปัญหาการบุกรุก ครอบครองที่ดิน และออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบดังกล่าวมาก่อนที่จะรับตำแหน่งแล้ว แต่กลับมีพฤติกรรม เพิกเฉย ละเลยไม่ดำเนินการที่จะรักษา ที่ดินรถไฟ ซึ่งเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน และใช้เพื่อบริการสาธารณะ ซึ่งโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ และ ๘๕๖๔ ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่สงวนหวงห้ามบริเวณเขากระโดงด้วย จงใจกระทำผิดกฎหมายฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นตัวการ และหรือผู้สนับสนุนให้ตนเอง ญาติพี่น้อง และพวกพ้องยึดถือครอบครอง ที่ดินของการรถไฟ ใช้อำนาจช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง ถูกดำเนินคดีและไม่ให้ถูกับงคับคดี ในที่ดินของการรถไฟ อย่างไม่เกรงกลัวและไม่เคารพต่อกฎหมาย  

นอกจากนี้ ไม่สั่งการให้ผู้ว่าการรถไฟดำเนินการบังคับคดีและเรียกค่าเสียหายกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐ และ ๘๐๒๗ / ๒๕๖๑ ทำให้การรถไฟซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหายอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีจำนวนเนื้อที่ ๕,๐๘๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา อันเป็นที่หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟมาตรา ๓ (๒) ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ และได้รับความคุมครองตามมาตรา ๖ (๑) (๒)

กล่าวคือ ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ ถือกรรมสิทธิ์เข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยวิธีใดๆ ตราบใดที่ยัง “ไม่มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆ ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟ และมีการเพิกถอน หรือ แก้ไขพระราชกฤษฎีกาสงวนที่ดินของการรถไฟฯ”

ข้อเท็จจริงยัง ได้ปรากฏว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้แจ้งที่อยู่ต่อรัฐสภา เมื่อครั้นได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ตนเองอยู่บ้านเลขที่ ๓๐/๒ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งบ้านเลขที่ดังกล่าวนั้นได้ตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๖๔ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในที่ดินของการรถไฟ นอกจากนี้ยังพบว่ามีบรรดาเครือญาติ และบุคคลใกล้ชิดของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้บุกรุก ครอบครอง ใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟโดยมิชอบด้วยกฎหมายจำนวนมาก พฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง

จากกรณีดังกล่าว พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ ๑๖- ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กระทำการจงใจบริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้องไม่คำนึงถึงผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลย สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะ “ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองและผู้อื่น”  

และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีมีการบุกรุก ครอบครอง ทำประโยชน์ ตลอดจนออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ของการรถไฟโดยมิชอบ อีกทั้งจงใจละเว้นไม่บังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย  

โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมีรายละเอียดตามข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้

๑. เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์ให้สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมทางหลวงตรวจและวางแนวทางรถไฟตั้งแต่นครราชสีมา ไปยังบุรีรัมย์ จนถึงอุบลราชธานี ให้เสร็จภายใน ๒ ปี โดยได้แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการทที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตทที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าห้ามผู้หนึงผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อน ๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๒ ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่(ตามที่ส่งมาด้วย) ไปยกหรือซื้อขาย และเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใดห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ และกรมรถไฟหลวงเห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทางจึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณ เขากระโดงและบ้านตะโกอันเป็นแหล่งระเบิดหินและย่อยหิน มีระยะทาง ๘ กิโลเมตร

ในช่วง ๔ กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน ๑๘ รายมีความกว้างจากกึงกลางทางรถไฟข้างละ ๑๕ – ๒๐ เมตรส่วนอีก ๔ กิโลเมตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน ขณะนนไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดินได้จัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ มาตรา ๓ (๒) บุคคลใดจะเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และตามมาตรา ๖(๑),(๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวห้ามไม่ให้เอกชนเข้าหวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟห้ามมิให้ยกอายุความขึ้น ต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๔

ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกิดข้อพิพาทระหว่างนายชัย ชิดชอบ และราษฎรบุกรุกที่ดินของการรถไฟในพื้นที่ “เขากระโดง” ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายหลังการประชุมเจรจากันนายชัย ชิดชอบ รับว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และทำหนังสือขออาศัยในที่ดินของการรถไฟ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ปรากฏตามบันทึกการประชุมร่วมที่ส่งมาด้วยลำดับที่ ๒

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๕ นายชัย ชิดชอบ กลับนำที่ดินไปทำการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๔๖๖ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา ในพื้นที่การรถไฟซึ่งตั้งอยู่ “เขากระโดง” ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากออกโฉนดแล้วได้นำที่ดินขายให้กับ นางละออง ชิดชอบ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ และต่อมานางละออง ชิดชอบ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวขายต่อให้กับบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ฯ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๘ ได้ปรากฏว่านายประพันธ์ สมานประธาน ได้นำที่ดินบริเวณพื้นที่ เขากระโดงไปออกโฉนดเลขที่ ๘๕๖๔ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา และนำที่ดินขายต่อเป็นทอดๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการโอนขายให้กับนางกรุณา ชิดชอบ และทำนิติกรรมการจดจำนองกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์มีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) เลขที่ ๑๓๑๒๙/๘๕๖๗ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ แจ้งและยืนยันว่าที่ดินที่จดจำนองอยู่ในเขตทางรถไฟ 

จนกระทั่งเมื่อปี ๒๕๓๙ เกิดมีกรณีพิพาทบุกรุกในที่ดินบริเวณพื้นที่ “เขากระโดง”ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างราษฎรรวมถึงนายชัย ชิดชอบ และ นางกรุณา ชิดชอบ กับการรถไฟ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทดังกล่าว ให้คณะกรรมกฤษฎีกาวินิจฉัย จนในที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ตามหนังสือ นร.๐๖๐๑/๒๑๑ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๑

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) มีมติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๖๖,๘๕๖๔ ทั้ง ๒ แปลง ซึ่ง นายชัย ชิดชอบ และ นางกรุณา ชิดชอบ ครอบครองอ้างกรรมสิทธิ์บริเวณพื้นที่ “เขากระโดง”นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ อันเป็นที่หวงห้ามเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้ดำเนินการส่งเรื่องให้กับกรมที่ดินทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังได้มีหนังสือที่ ปช.๐๐๘๑/๑๐๘๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินทั้ง ๒ แปลงที่ขอออกโฉนดที่ดินของการรถไฟที่สงวนหวงห้ามไว้ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ลำดับที่ ๔

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาที่ ๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐ คดีระหว่างราษฎรจำนวน ๓๕ รายเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ ๑ และ กรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๒ เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทในพื้นที่ “เขากระโดง”ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ลำดับที่ ๕

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ศาลฎีกามีคำพิพากษา ที่ ๘๐๒๗/ ๒๕๖๑ คดีซึ่ง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องการรถไฟเป็นจำเลย เพื่อรังวัดขอออกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาจากนายชัย ชิดชอบ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.๓ ข เลขที่ ๒๐๐ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๔ ตารางวา ซึ่งการรถไฟ ทำหนังสือคัดค้านและต่อสู้คดีอ้างว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของการรถไฟทั้งแปลง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องและวินิจฉัยทำนองเดียวกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒-๘๗๖/๒๕๖๐ ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ ๖

เห็นรายละเอียดแล้วเป็นอย่างไร ยังไม่จบนะครับ ฉบับหน้าผมจะลงอีกตอนครับ....