เราเตรียมคนไว้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจแบบใหม่ แล้วหรือยัง (1)

17 เม.ย. 2564 | 22:10 น.

เราเตรียมคนไว้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจแบบใหม่ แล้วหรือยัง (1) : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์)  โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,671 หน้า 5 วันที่ 18 - 21 เมษายน 2564

นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจของประเทศไทยรู้ดีว่า เรากำลังติดกับดักประเทศที่ไร้เครื่องยนต์ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเหตุด้วยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศไทยนับแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึง 2562 วนเวียนอยู่ในอัตราร้อยละ 1-4 เพียงเท่านั้น (โปรดดูกราฟที่ 1 ประกอบ) 

อาการของรถแข่งที่เครื่องยนต์ไม่แรงเพียงพอที่จะส่งกำลังให้รถวิ่งไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็นก็ย่อม จะทำให้รถแข่งคันนั้นแพ้คันอื่นที่เครื่องยนต์แรงกว่า หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเข้าแข่งขันหรือสู้รบทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ นั่นเอง

 

เราเตรียมคนไว้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจแบบใหม่ แล้วหรือยัง (1)

 

ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ดูไร้อนาคตและไร้ทิศทางก็จะไม่สามารถสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ของโลกได้ สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยติด “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ไม่พัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วเสียที ก็คงมีเหตุเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง 

หากท่านผู้อ่านเคยศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทยแล้ว ท่านผู้อ่านก็คงจะทราบและตระหนักดีกว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มต้นอย่างชัดเจนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เริ่มให้บทบาทการชี้นำการพ ัฒนาประเทศผ่านหน่วยงานที่เรียกว่า “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “สภาพัฒน์ฯ” และแน่นอน บรรดาเทคโนแครตของประเทศไทยก็ร่วมกันผลิตผลงานชิ้นสำคัญที่มีชื่อว่า “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” และเดินหน้าบังคับใช้แผนนี้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยอย่างเอาจริงเอาจัง 

เราก็คงต้องยอมรับว่า การลงมือบริหารประเทศของเหล่าเทคโนแครตผ่านนักการเมืองประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เปลี่ยนโฉมจากระบบเศรษฐกิจพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ดังตัวอย่างที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ยานยนต์เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

เพราะสินค้าจากประเทศไทยมีคุณภาพและตรงตามมาตรฐานที่ตลาดโลกต้องการ รัฐบาลจึงขยายผลของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด หรืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่กลายเป็นแหล่งกำเนิดรายได้อันมหาศาลของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เติบโตในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดของภาคตะวันออก เป็นต้น 

เราอาศัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมาอย่างยาวนานไม่ตํ่ากว่า 50 ปี แต่กระแสการพัฒนาทางเทคโนโลยีของโลกกลับก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตลอด 50 ปีเช่นเดียวกัน และรุดหน้าด้วยอัตราเร่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านภายหลังจากการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต หลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการกันอย่างมากมาย มิเพียงเท่านั้น บางประเทศก็พยายามอย่างหนักหน่วงที่จะก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี อันจะสร้างกำแพงป้องกันการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ที่จะมาแข่งกับตนเอง  

 

รัฐบาลไทยก็รับทราบและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐจึงได้พยายามปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจให้มีลักษณะเหมาะสมกับการแข่งขันของตลาดโลก โดยการออกมาตรการที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะยาวที่จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง 

วัตถุประสงค์ของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจก็เป็นไปเพื่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศในภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน การจ้างงานที่มีทักษะเพียบพร้อมด้วยคุณภาพ และการสร้างกลไกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง และอย่างยั่งยืน 

การออกแบบเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของรัฐบาล นับว่ามีความน่าสนใจทั้งในเชิงของความคิดพื้นฐานและเชิงนวัตกรรม เพราะอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลแบ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมดังต่อไปนี้ 

 

เราเตรียมคนไว้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจแบบใหม่ แล้วหรือยัง (1)

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ซึ่งประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) 

ขณะที่กลุ่มที่ 2 กลุ่มเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) 

 

พูดให้ง่ายขึ้นได้ว่า รัฐบาลกำลังแสวงหา New S-Curve ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อให้เป็น New Growth Engine ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น และเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างได้แข็งแรงและยั่งยืน 

รัฐบาลเองก็รู้ดีว่านักลงทุนคิดอย่างไรกับการลงทุนในประเทศไทย นักลงทุนต่างประเทศได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดข้องต่างๆ อย่างเร่งด่วน หากต้องการจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสร้างประเทศไทยให้น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐจะต้องส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง กรอบการส่งเสริมการลงทุนจะต้องมีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ เพื่อให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย 

รวมทั้งรัฐบาลจะต้องมีแผนกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกำหนดมาตรการทางการคลัง หรือการช่วยเหลือทางด้านเงินทุน เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารอุตสาหกรรมได้อย่างคล่องตัว ซึ่งรัฐบาลเองก็จะต้องกลับไปทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนระหว่างประเทศเหล่านี้

คราวหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายการศึกษาที่จะตอบสนองเรื่องดังกล่าวกันครับ