พิษสำแดงภาษี“รถพรีอุส” แผล“ทุจริต-สินบน”โตโยต้า!

14 เม.ย. 2564 | 06:38 น.

พิษสำแดงภาษี“รถพรีอุส” แผล“ทุจริต-สินบน”โตโยต้า! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3670 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 เม.ย.64 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ข้อหาทุจริตในประเทศไทยของ บริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (US SEC)  และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาว่า บริษัทลูกของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตติดสินบนข้ามชาติ  Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ทำให้คนไทยตาตื่นกันไปทั่ว

ถึงแม้โตโยต้าจะกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่โตโยต้ามีหุ้นซื้อขายอยู่ใน Wall Street ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มีกระทำความผิดจริงในประเทศไทยก็ต้องโดน แต่ถ้ายอมรับสารภาพผิดก่อน และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและการป้องกันการกระทำความผิด ก็จะตกลงไม่ฟ้องทางอาญา นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องราวสะท้านปฐพีเมืองไทย

ข่าวนี้อื้ออึงมาก เพราะมีการอ้างอิงข้อมูลการสอบสวนภายในของ บริษัท โตโยต้า คอร์ป ที่มอบหมายบริษัทที่ปรึกษา “วิลเมอร์ เฮล-Wilmer Hale” เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและศาล

ขนาดว่ามีการระบุถึงรหัสการทำงานในชื่อ โปรเจ็กต์ แจ็ค เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทฯ ได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหรัฐฯ หรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนของประเทศอังกฤษหรือไม่

ข้อมูลมีการระบุถึงพฤติกรรมการทุจริตว่า อาจมีความเป็นไปได้ของการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ และเงินดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปยังผู้พิพากษาไทย ที่ปรึกษาศาล เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เพื่อแลกกับความมั่นใจว่า จะได้ผลประโยชน์ในคดีแจ้งภาษีนำเข้ารถโตโยต้า พรีอุส มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 10,958 ล้านบาทเศษ  ที่ต่อสู้กันกับกรมศุลกากร

การสอบสวนลงลึกไปที่พนักงานโตโยต้า ว่าเป็นใคร ที่ได้จ่ายเงินให้บริษัทที่ปรึกษากฎหมายไทย 8 แห่ง จ่ายเงินให้กับบุคคลภายนอก 11-12 คน ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีภาษีรถพรีอุส ในชั้นศาลหรือไม่

แค่นี้ก็สะดุ้งสะเทือนกันทั้งกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยแล้วละครับ

นี่ไม่นับเรื่องที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นั้น ถือเป็นหนึ่งในองค์กรยักษ์ใหญ่ที่คนไทยเชื่อถือหนึ่ง เป็นองค์กรที่ประกาศเจตนารมย์ในการร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืน มี “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)   เป็น “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” หลังเป็นประธานกรรมการมายาวนานร่วม 18-19 ปี

แล้วคดีภาษีนำเข้ารถโตโยต้า พรีอุส นั้นเป็นอย่างไร?

คดีนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นนะครับ เป็นคดีที่ถกเถียงกันในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555-256 เมื่อสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจพบการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ถูกต้องและร้อง ต่อสำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ให้ตรวจสอบอีกทางหนึ่งแล้วพบว่า  บริษัท โตโยต้าฯ ใช้สิทธิในการสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดที่นำเข้ามาไม่ถูกต้อง

สำนักตรวจสอบอากร พบว่า สินค้าที่โตโยต้านำเข้ามา เป็น ชิ้นส่วนรถยนต์โดยมีการแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ COMPLETE KHOCK DOWN  ที่เขาเรียกกันว่า CKD  ร้ายกว่านั้น กรมศุลฯ พบว่า ในชิ้นส่วนที่แยกกันนั้นมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ 1 คัน

สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร จึงระบุว่า กรณีแบบนี้ไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายการชนิดสินค้าได้ เพราะถือเป็นการนำเข้ารถยนต์มา 1 คันนั่นแหละ

อีกทั้งเมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่า รหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย “2ZR” เป็นรหัสเครื่องยนต์ความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลูกบาศก์เซนติเมตร ของรถโตโยต้า รุ่น Prius

สำนักตรวจสอบอากร จึงพิจารณาเห็นควรให้สินค้าตามใบขนสินค้ากว่า 245 ฉบับ อยู่ในพิกัดสินค้าในประเภท 8703.23.51 อัตราอากร 80% เพราะถือว่าเป็นรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร

ตอนนั้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบอากรระบุว่า เป็นการยึดตามหลักหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2(ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่เข้ามาโดยถอดแยกออกจากกัน หรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน

นี่คือเหตุขั้นต้นของข้อพิพาท สำนักตรวจสอบอากรฯ จึงเรียกเก็บมีภาษีอากรที่ขาดไป เป็นเงิน 11,639.7 ล้านบาท แยกเป็น อากรขาเข้า 7,580 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 2,029 ล้านบาท ภาษีมหาดไทย 202 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826 ล้านบาท

ตอนนั้นทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้มาตลอด โดยยืนยันว่า

1. บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนในขณะนำเข้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

2.ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจดูเอกสารและมีความเห็นว่า บริษัทฯ ชำระอากรไว้ไม่ครบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและรายละเอียดต่าง ๆ ให้กรมศุลกากรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2556

3. ในกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดียนั้นเป็นกรณีที่บริษัทฯได้นำเข้าชิ้นส่วนชุดส่งกำลัง (Transmission) รถเพื่อการพาณิชย์ โดยตรงจากประเทศอินเดีย และได้เสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงฯ แต่ปัญหาเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ในข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ เป็นปกติ แต่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ ได้ จึงให้บริษัทฯ ชำระภาษีและค่าปรับเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามในปี 2555 กรมศุลกากร ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับความตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศอื่นๆ อาทิ ความตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น

4.บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระยะเวลากว่า 51 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส (Transparency) ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า รวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกด้วยดีตลอดมา

เพราะความเห็นแตกต่างกันแบบนี้แหละครับ จึงเป็นข้อพิพาททางภาษี

เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ต้องร้องไปที่ “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษี” ปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติ ยกคำร้องอุทธรณ์และข้อคัดค้านการประเมินภาษี ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ถูกสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ออกแบบแจ้งประเมินภาษี 245 ฉบับ เป็นวงเงินกว่า 11,639 ล้านบาท

ต่อมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไม่เห็นด้วยและยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา เพราะถ้ายึดตามมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ทางโตโยต้าจะต้องเสีย เงินเพิ่มอีกก้อนโต

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าที่กรมศุลกากรคิด

ทางกรมศุลกากรได้อุทธรณ์สู้คดี ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี และเป็นการพิจารณาคดีจากที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ชำนัญการพิเศษเสียด้วย...อันนี้แหละครับเรื่องใหญ่

คราวนี้เมื่อคำตัดสินของ 2 ศาลขัดแย้งกัน ก็เป็นเหตุให้เอกชนคือ บริษัท โตโยต้าฯ ยื่นฎีกาสู้คดี ซึ่งขณะนี้ศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งที่ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณาแล้ว

ข้อพิพาทจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโตต้า พริอุส 11,639.7 ล้านบาทนั่นแหละ คือสารตั้งต้น เพราะถ้าแพ้คดีชั้นฎีกา 1.จะต้องจ่ายเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน 2.จะต้องจ่ายเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เท่า 3.จะต้องจ่ายเงินเพิ่มของอากรขาเข้า ร้อยละ 1 ต่อเดือน กรณีที่ไม่ไปชำระตามที่กรมศุลกากรกำหนด

คดีข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่น พรีอุส (Prius) วงเงินนับหมื่นล้านบาทกับเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม อีกเท่าตัวนั่นแหละครับ เป็นฐานที่มาของการเปิดโปงการทุจริตจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ศาลไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐไทย บริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่ฉาวไปทั้งโลกนี่แหละทำให้คนไทยได้อายประชาชน...

ศาล และ ป.ป.ช.ต้องทำความจริงในเรื่องนี้ให้ปรากฏ!