ผมเชื่อว่ามีอยู่สามเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
หนึ่ง มนุษย์ประดิษฐ์รถยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จก่อนรถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน
สอง ในต้นศตวรรษที่ 20 การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนมากถึงหนึ่งในสามของรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ และสาม ประเทศไทยเริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
หลายคนอาจคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่ปีนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานถึงเกือบ 200 ปี และเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะประดิษฐ์รถยนต์ที่ใช้นํ้ามันได้ด้วยซํ้าไป
ตั้งแต่ลุงเบ็นจามิน แฟรงกลิน ทดลองชักว่าวกลางสายฝนเพื่อพิสูจน์ว่าไฟฟ้าทำให้เกิดฟ้าแลบฟ้าผ่า (ค.ศ. 1752) ผู้คนก็หันมาสนใจศึกษาไฟฟ้ามากขึ้น
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (แถวๆ 1820-1870) นักประดิษฐ์ทั้งในยุโรปและอเมริกาพยายามทดลองนำพลังงานไฟฟ้าไปขับเคลื่อนพาหนะ (มีทั้งชาวฮังการี ชาวสก๊อต ชาวอเมริกัน และชาวฝรั่งเศส) แต่ก็เป็นเพียงงานทดลองเท่านั้น
แนวคิดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมาเป็นจริงเป็นจังได้หลังจากที่มีการคิดค้นแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดที่ชาร์จใหม่ได้ (โดยชาวฝรั่งเศสชื่อ Gaston Plante ใน 1865) และนำมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย
ตั้งแต่ปี 1881 เป็นต้นไป จึงมีการผลิตรถที่ใช้แบตเตอรี่ออกขายมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มวิ่งปะปนกับรถม้าบนถนนในเมืองใหญ่ของโลกตะวันตก ทั้งปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค และชิคาโก
ในยุคนั้น นิวยอร์คมีแท็กซี่ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
รถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเกิดขึ้นได้หลังจากมีการพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ภายในห้องเครื่อง หรือที่เรียกว่า internal combustion engine (ICE)
การประดิษฐ์คิดค้น ICE เกิดขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกับแบตเตอรี่ แต่กว่าโลกจะมีการผลิตรถยนต์ใช้นํ้ามันเชิงพาณิชย์ได้ก็ต้องรอถึงปี 1886 เมื่อ Karl Benz สามารถผลิตรถยนต์ ICE ที่ใช้นํ้ามันเบนซินได้สำเร็จ และต่อมาในปี 1892 Rudolf Diesel ก็ได้พัฒนารถยนต์ ICE ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (โดยใช้นํ้ามันถั่วลิสงเป็นเชื้อเพลิงในการทดลองวิ่ง)
มองในแง่การใช้เชิงพาณิชย์ รถยนต์ไฟฟ้าจึงเกิดก่อนรถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน แต่ก็แซงกันเพียงไม่กี่ปี และความนิยมในการใช้รถยนต์ทั้งสองประเภทก็ตีคู่สูสีกันมาในช่วงแรกๆ
ในช่วงปี 1900-1912 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้ามีมากถึงหนึ่งในสามของรถยนต์ทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนถนนในสหรัฐฯ ค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อที่คุ้นชื่อกันในปัจจุบันได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงนั้น เช่น Mercedes, Porsche, Ford, General Motor, Peugeot, และ Renault
ประเทศไทยเราก็ไม่แพ้ชาติอื่น โดยมีการนำเข้ารถยนต์ในเวลาใกล้เคียงกับที่มีการเริ่มใช้รถยนต์ของโลก จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นคนแรกของไทยที่นำเข้ารถยนต์เมื่อกว่า 120 ปีมาแล้ว (ค.ศ.1897) และต่อมาได้มีการนำเข้าทั้งจากยุโรปและสหรัฐฯ มาใช้เป็นจำนวนหลายสิบคัน จำนวนหนึ่งเป็นรถพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 ที่เหลือเป็นของพระ บรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่
ในบรรดารถยนต์ที่ไทยนำเข้ามาในยุคนั้น มีจำนวนหนึ่งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ใช้นํ้ามัน
รถพระที่นั่งในรัชกาลที่ 5 ชื่อ “ครุฑพาห” เป็นรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้ออีแลกตริก แคเรช
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของโลกรถยนต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือการ “ปฏิวัติ” ระบบการผลิตแบบสายการประกอบ (assembly line) และการออกแบบรถยนต์ของ Henry Ford ที่ทำให้รถยนต์ใช้นํ้ามันรุ่น Model T มีต้นทุนและราคาถูกลงมาก และถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ
Ford ขายรถรุ่นนี้ดีเป็นเทนํ้าเทท่า (15 ล้านคันใน 20 ปี) และจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์นํ้ามันแทนรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างมากมาย เพราะนอกจากราคาถูกกว่าแล้ว ยังวิ่งได้เร็วกว่า วิ่งได้ไกลกว่า และเติมนํ้ามันได้สะดวกในราคาที่ตํ่ากว่าอีกด้วย
ในช่วงปี 1915 ถึง 1954 รถยนต์ไฟฟ้าได้อันตรธานไปจากถนนทั่วโลก พ่ายแพ้ต่อรถยนต์ ICE อย่างราบคาบ
ในเวลาต่อมา มีความพยายามที่จะปลุกกระแสรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ขึ้นมาอีกเป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีผลที่ยั่งยืน ในปี 1971 รถยนต์ไฟฟ้าเป็นข่าวฮือฮาเมื่อนักบินอวกาศอเมริกันนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไปขับบนผิวดวงจันทร์ แต่รถยนต์ไฟฟ้าบนโลกมนุษย์ก็ยังไม่มีอะไรตื่นเต้น
ราคานํ้ามันที่แพงขึ้นเป็นแรงผลักดันให้บริษัทรถยนต์หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน (lithium-ion) - แบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็ก นํ้าหนักเบา และมีประสิทธิภาพสูง จนทำให้โทรศัพท์มือถือถูกพกพาไปได้สะดวกและเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายกันอยู่ทุกวันนี้
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนตอบโจทย์ความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีเพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ มีความจุของพลังงานต่อหน่วยนํ้าหนักที่สูง และสามารถชาร์จซํ้าได้หลายๆ ครั้ง
หลายบริษัทนำแบตเตอรี่ลิเธียม มาใช้ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถแบบไฮบริด (hybrid) และรถไฟฟ้าล้วนๆ (Battery Electric Vehicle หรือ BEV) รถรุ่นแรกๆ ที่ประสบผลสำเร็จและควรจะกล่าวถึงก็คือ Tesla Model S และ Nissan Leaf
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แบตเตอรี่ลิเธียมในรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการปรับปรุงจนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมเกือบทุกอย่างแล้ว คือ “ชาร์จได้เร็ว วิ่งได้ไกล ใช้ได้นาน นํ้าหนักเบา และปลอดภัย” ในปี 2018 รถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นสามารถวิ่งได้อย่างน้อย 400 กิโลเมตรจากการชาร์จแต่ละครั้ง และชาร์จเร็วได้เต็ม 80% ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
คุณสมบัติที่ยังขาดไปคือต้นทุนและราคาของแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูงและทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงตามไปด้วย แต่แนวโน้มก็น่าจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเพราะราคาแบตเตอรี่ลิเธียมได้ลดลงถึง 87% ในช่วงเวลาระหว่างปี 2010 ถึง 2019 และแนวโน้มใน อนาคตก็น่าจะลดลงได้อีก ผู้สันทัดกรณีเชื่อกันว่าในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะแข่งขันได้กับรถยนต์นํ้ามัน
นโยบายของรัฐเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต เป็นที่ยอม รับแล้วว่า ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากเกินไป อันจะนำไปสู่หายนะด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์
ประมาณหนึ่งในห้าของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลกเกิดจากการเผาไหม้นํ้ามันและก๊าซในรถยนต์ ICE รัฐบาลของหลายประเทศจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้รถยนต์ ICE และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาขนส่ง (แต่ก็ต้องส่งเสริมให้ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าไปพร้อมกันด้วย) รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและการสร้างสถานีเติมประจุไฟฟ้า ในขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปกำหนดให้มีการยกเลิกการขายรถยนต์ ICE ในอนาคต
ในปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มีประมาณ 1% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภททั่วโลก สำนักข่าว Bloomberg คาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างน้อย “หนึ่งในสาม” ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในโลก ตัวเลข “หนึ่งในสาม” ทำให้เรานึกถึงจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยวิ่งอยู่บนถนนในกรุงนิวยอร์ค เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว
...ฤาประวัติศาสตร์จะซํ้ารอย?