การแทรกแซงทางการเมืองกับการขยายตลาดการค้า ‘ซีไอเอ’ ในช่วงสงครามเย็น

05 พ.ค. 2564 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2564 | 10:42 น.

การแทรกแซงทางการเมืองกับการขยายตลาดการค้า ‘ซีไอเอ’ ในช่วงสงครามเย็น : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,676 หน้า 5 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2564

ในช่วงที่ผ่านมา ซีไอเอ หรือ สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในหน้าข่าวและความสนใจของคนไทยอีกครั้ง ผู้เขียนจึงขอนำงานวิจัยเกี่ยวกับซีไอเอในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังนะคะ งานวิจัย ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร American Economic Review ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวารสารทางเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุด และสองในสี่ของนักวิจัย คือ William Easterly และ Nathan Nunn ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่มีชื่อเสียงมากค่ะ ผู้เขียนเป็นแฟนคลับมาตั้งแต่สมัยเรียนเลยทีเดียว (นักวิจัยอีกสองท่านเป็นนักรัฐศาสตร์) 

ถึงแม้ว่าจะมีตัวอย่างจากเหตุการณ์หลากหลายในประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบทางการค้า หรือประโยชน์อื่น จากประเทศผู้ขยายอิทธิพล เช่น สนธิสัญญาระหว่างประเทศตะวันตกกับจีนและญี่ปุ่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่  19 การศึกษา และวิเคราะห์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาทำได้ยาก เพราะข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับอิทธิพลและการแทรกแซงทาง การเมืองระหว่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเป็นความลับ และยากที่จะแปลงมาเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ 

หนึ่งในความสร้างสรรค์ของงานวิจัยนี้ ที่ก่อให้เกิดคุณูปการทางวิชาการ ก็คือ การใช้ข้อมูลจากเอกสารราชการลับของซีไอเอในช่วงสงครามเย็น ซึ่งภายใต้กฎหมายเสรีภาพใน การให้ข้อมูล สามารถเปิดเผยแก่สาธารณชนได้ หากเอกสารมีอายุมากกว่า 25 ปี  

จากเอกสารเหล่านี้ นักวิจัยได้สร้างตัวแปรที่บ่งชี้ว่าการแทรกแซงทางการเมืองอย่างลับๆ ของซีไออีในแต่ละประเทศและในแต่ละปี เพื่อสถาปนาผู้นำใหม่ หรือให้การสนับสนุนผู้นำที่อยู่ในอำนาจอยู่แล้ว ที่ตรงกับความต้องการของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จหรือไม่ กิจกรรมที่ซีไอเอใช้แทรกแซงทาง การเมืองมีทั้งการใช้โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นข้อมูลเท็จ ผ่านทางสื่อรูปแบบต่างๆ การให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างลับๆ ต่อองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงการจัดหาอาวุธเพื่อก่อความไม่สงบ

จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า การประสบความสำเร็จในการแทรกแซงทางการเมืองของซีไอเอ ซึ่งก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศที่ถูกแทรกแซงสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่น่าสนใจอีกก็คือ ผลต่อการขยายตลาดทางการค้านี้ เป็นผลแบบทางเดียว กล่าวคือ ไม่พบการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าจากประเทศที่ถูกแทรกแซงสำเร็จไปยังสหรัฐฯ 

 

นอกจากนั้น จากการทดสอบสมมติฐานเพิ่มเติม พบว่า ถ้าหากประเทศที่ถูกแทรกแซงสำเร็จมีการใช้จ่ายทางภาครัฐเป็นศูนย์ ก็จะไม่มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มจากสหรัฐฯ จึงสามารถสรุปได้เพิ่มว่า สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่เป็นสินค้านำเข้าจากการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ซึ่งตอกยํ้าบทบาทของการแทรกแซงทางการเมืองระหว่างประเทศกับการค้าระหว่างประเทศ

 

การแทรกแซงทางการเมืองกับการขยายตลาดการค้า ‘ซีไอเอ’ ในช่วงสงครามเย็น

 

งานวิจัยยังได้มีการทดสอบสมมติฐานว่า การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากปัจจัยอื่นที่มีความสัมพันธ์ กับทั้งความสำเร็จทางการแทรกแซงทางการเมืองของซีไอเอ และรูปแบบการค้าระหว่างประเทศได้หรือไม่ เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกัน ก็มักจะค้าขายซึ่งกันและกัน เราจึงพบผลข้างต้น แต่ถ้าหากสมมติฐานนี้เป็นจริง ประเทศที่ถูกแทรกแซงโดยซีไอเอสำเร็จ ก็น่าที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศ อื่นๆ ที่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกับสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน 

แต่จากการใช้รูปแบบการลงมติในสมัชชาสหประชาชาติมาเป็นมาตรวัดของความคล้าย คลึงทางแนวคิดทางการเมืองกับสหรัฐฯ งานวิจัยกลับพบว่า ไม่มีการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกัน นอกเหนือจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ

หรือว่า สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความช่วยเหลือระหว่างประเทศจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้นหลังจากแทรกแซงสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ สินค้าที่เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางการทหาร เศรษฐกิจ และเงินกู้ แต่จากการทดสอบเพิ่มเติม ก็พบว่าการช่วยเหลือเหล่านั้น อธิบายการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แค่เพียง 16%

 

ที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อนำข้อมูลระดับภาคส่วนอุตสาหกรรม และรายสินค้ามาวิเคราะห์ งานวิจัยพบว่า สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น กลับเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีความเสียเปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative disadvantage) จากทฤษฎีทางการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า หากสินค้าที่ค้าขายกันเป็นสินค้าที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิต เพราะผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่มีราคาตํ่าลงเมื่อมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน 

ฉะนั้น ผลการวิเคราะห์นี้ก็ตอกยํ้าเช่นกันว่า การเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ของประเทศที่ซีไอเอประสบความสำเร็จในการแทรกแซง ไม่ได้มากจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่นำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศที่ถูกแทรกแซง แต่เป็นผลจากปัจจัยทางอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่นำมาซึ่งประโยชน์ทางการค้าแอบแฝงของผู้ผลิตในสหรัฐฯ เอง

เอกสารอ้างอิง : Berger, D., Easterly, W., Nunn, N., & Satyanath, S. (2013). Commercial imperialism? Political influence and trade during the Cold War. American Economic Review, 103(2), 863-96.