คราวที่แล้ว เราคุยกันถึงเรื่องของเหตุผลและความจำเป็นในการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 10 อุตสาหกรรม อันได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบไปด้วย
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่ม รายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
และกลุ่มที่ 2 กลุ่มเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งได้แก่ 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ท่านผู้อ่านน่าจะทราบดีว่า กลุ่มต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่เห็นกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดหรือพิสดารแต่อย่างใด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยคุ้นเคยและเชี่ยวชาญกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม มักจะมาจากภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อตลาดเป็นหลัก
แต่คราวนี้ รัฐบาลเห็นว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนเม็ดเงินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ค่อนข้างสูง และมีสาระสำคัญต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น คงเป็นการสมควรที่รัฐคงจะต้องเข้ามาช่วยทำให้ล้อแห่งการขับเคลื่อนความก้าวหน้าไปเร็วยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยต้องไม่ตกขบวนรถไฟของโลก
และการที่จะเกาะขบวนรถไฟไปกับเขาก็คงมีแต่การลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดสินค้าและบริการให้มีความลํ้าหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง การลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้เรามั่นใจว่า มูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอย่างน้อยก็ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่า ลูกค้าจะไม่หนีไปซื้อของประเทศอื่นแน่ๆ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เป้าหมายการวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใน 5 อุตสาหกรรมจึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกแบบ แผนส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจให้เอกชนทุ่มเงินเพื่อค้นคว้าวิจัยที่มีประสิทธิผล
แต่ความยากเย็นแสนเข็ญมิใช่เพียงแค่กลุ่มต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเท่านั้น แต่ความลำบากกลับตกอยู่ที่กลุ่มเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคตต่างหาก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบิน เชื้อเพลิง ดิจิทัล หรือการแพทย์ ล้วนแล้วแต่อยู่บนความแข็งแรงของระบบการศึกษาทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ก็ตาม แล้วรัฐบาลไปพกเอาความมั่นใจมาจากไหนว่า ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มได้เหนือกว่าชาวบ้าน วิธีคิดของรัฐบาลก็มิได้สลับซับซ้อนแต่ประการใด รัฐบาลคิดว่า อุตสาหกรรมใหม่ดังกล่าวมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุนอย่างแน่นอน ดังเหตุผลต่อไปนี้
อุตสาหกรรมแรก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) รัฐบาลเชื่อว่า ประเทศต่างๆ มีความต้องการใช้แรงงานจากหุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานจากมนุษย์ที่มีต้นทุนสูง และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตเสียอีก รวมทั้งประเทศไทยก็มีความต้องการใช้การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ และเราก็มีฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความเชื่อมั่น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างมากที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมโรโบติกส์ให้แข่งขันได้
อุตสาหกรรมที่สอง อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) รัฐบาลเห็นแนวโน้มของการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น จากการเข้ามาสู่อุตสาหกรรมของสายการบินราคาประหยัด (Budget Airline) ส่งผลให้การเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารมีราคาถูกลงและผู้คนสามารถจับต้องได้มากขึ้น และแน่นอน เมื่อดีมานด์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สายการบินต่างๆ ก็เริ่มเพิ่มจำนวนเครื่องบิน หรือขยายฝูงบินของตนเองเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่นับวันจะโตขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากหันไปมองทางด้านซัพพลายแล้ว มิใช่เพียงแต่เครื่องบินเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่นับรวมถึงนักบิน การบำรุงซ่อมแซม หรือแม้แต่ท่าอากาศยานที่ต้องรองรับอันเรียกรวมกันว่า “ห่วงโซ่อุปทาน” ที่จะเติบโตไปพร้อมกัน แม้โรคระบาดโควิด-19 จะชะลอการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว
แต่หากรัฐบาลประเทศต่างๆ แก้ไขปัญหานี้ได้ลุล่วงแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางก็จะกลับมาเติบโต และคาดว่าจะเติบโตมากกว่าอัตราในอดีต ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์จึงเป็นเป้าหมายใหม่ที่รัฐบาลเชื่อว่า มันจะเป็นเครื่องยนต์ที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว
อุตสาหกรรมที่สาม อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ถือว่าเป็นเรื่องเมกะเทรนด์ของโลกก็ว่าได้ เรื่องของ Sustainable Development เป็นวาระสำคัญของโลกในปัจจุบัน สินค้าและบริการที่จะเป็นที่นิยมจะต้องสอดคล้องกับความเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม
เราคงเห็นแล้วว่า การเลิกใช้ถุงพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นเรื่องบังคับของประเทศต่างๆ แม้แต่ในประเทศไทยก็เป็นเช่นนี้ มิใช่แค่เรื่องรณรงค์ขอให้เลิกใช้ แต่ออกเป็นกฎหมายด้วยซํ้าไป เพราะฉะนั้น การลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจึงกลายเป็นการลงทุนที่สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก รัฐบาลไทยจึงเกาะกระแสและพยายามผลักดันให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เพราะต่อไปจะมีปริมาณการบริโภคที่มหาศาลรออยู่
อุตสาหกรรมที่สี่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) คงไม่แปลกใจที่ทำไมเรื่องของ “ดิจิทัล” จึงกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องของการปฏิวัติภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจากบริบทของอนาล็อกไปสู่บริบทแห่งดิจิทัล ซึ่งพาเอาอุตสาหกรรมเก่าล้มหายตายจากกันไปเป็นแถบๆ
อุตสาหกรรมดิจิทัลมักจะมาในรูปแบบของ “Disruptive Innovation” ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของธุรกิจบันเทิงในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งทดแทนบรรดาเทป ซีดี หรือแม้แต่วงการโทรทัศน์ต่างๆ จนปรับตัวกันแทบจะไม่ทัน แม้แต่ค่ายเพลงดังอย่าง RS ก็หันไปทำธุรกิจอื่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากธุรกิจบันเทิงแล้ว ธุรกิจหนังสือก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่ได้รับทั้งผลกระทบและปัจจัยบวกจากการมาของดิจิทัล วันนี้ร้านหนังสือที่เคยมีขนาดใหญ่และมีสาขาจำนวนมาก กลับกลายเป็นร้านที่มีหนังสือส่วนหนึ่ง เครื่องเขียนส่วนหนึ่ง และสินค้าที่เรียกว่า Non-book items ปรากฏอีกครึ่งร้าน
เพราะธุรกิจหนังสือกลับกลายเป็นธุรกิจคอนเทนต์ที่เนื้อหาสาระที่เคยพิมพ์อยู่บนกระดาษ กลับกลายไปวางอยู่บนหน้าจอมือถือหรือแท็บเลต และร้านหนังสือก็ลดบทบาทลงไปจากการเข้ามาแทนของคนที่เราเรียกว่า “Content Provider”
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ รัฐบาลมิอาจหลบเลี่ยงพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เลย รัฐบาลจึงวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยต้องเป็นผู้เล่นรายสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัลให้จงได้
และอุตสาหกรรมสุดท้ายที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับแต่นี้เป็นต้นไป คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงอย่างมากในแง่ของการรักษาพยาบาล เราให้บริการผู้ป่วยที่มาจากประเทศต่างๆ ในระดับการบริการ 5 ดาว โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ก็มีฝ่ายที่รับผิดชอบ ตลาดต่างประเทศอย่างเป็นหลัก เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กรุงเทพ รพ.สมิติเวช เป็นต้น
ฝีมือของแพทย์และพยาบาลเราอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก ราคาค่าบริการที่ทุกคนเต็มใจและสามารถจ่ายได้ รวมถึงการบริการที่ดีเยี่ยมดุจ ดังมาเข้าพักในโรงแรมระดับห้าดาว ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ดีเยี่ยม แต่รัฐบาลก็ยังต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เติบโตควบคู่ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยการลงทุนทางการเงินจำนวนมากเช่นเดียวกัน
คราวหน้า เรามาคุยกันเรื่องแพ็คเกจที่รัฐบาลออกแบบสร้างแรงจูงใจ ให้ภาคเอกชนนำเงินมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่จะได้ผลจริงๆ หรือ รออ่านกันครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :