โควิค-19 กับสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทย

16 มิ.ย. 2564 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2564 | 05:22 น.

โควิค-19 กับสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,688 หน้า 5 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน 2564

สถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิค-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้น มายังไม่มีแนวโน้มว่าจะบรรเทาลงในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ว่าการควบคุมการแพร่ระบาดจะทำได้ดีช่วงปี 2563 แต่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างหนัก 

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ว่า ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% การระบาดระลอกสองต้นปี 2564 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.6% และต่อมามีการระบาดระลอกสามต้นเดือนเมษายน ซึ่งหนักหน่วงและทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เพียงแค่ช่วงเวลา 2 เดือนครึ่งจาก 1 เมษายน ถึง 13 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 167,046 รายและมีผู้เสียชีวิตถึง 1,355 คน ทำให้หลังจากเมษายน 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,700 คนต่อวันและมีผู้เสียชีวิตราว 30 คนต่อวัน 

การแพร่ระบาดของโควิค-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2563 โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเงินเยียวยาประชาชนถึง 6 แสนล้านบาท ในการดูแลครับเรือนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ แต่พบว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่ได้ 

อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่มีไม่เพียงพอส่งผลให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ในปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกสาม การดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้เกิดการถดถอยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจและประชาชน

ปริมาณเงินหรืออุปทานเงิน (Money supply) ในระบบเศรษฐกิจมักจะเรียกกันว่าสภาพคล่อง ปริมาณเงินตามความหมายแคบคือฐานเงิน (Monetary base) คือเงินฝากของสถาบันการเงินที่ธนาคารกลางรวมกับเงินสดหมุนเวียน (Currency) ในขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายที่กว้างมากขึ้น คือ เงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน รวมกับเงินสดหมุนเวียน ธนาคารกลางสามารถบริหารจัดการฐานเงินได้โดยตรง 

การเปลี่ยนแปลงของฐานเงินจะทำให้ปริมาณเงินเปลี่ยนแปลงไปด้วย ฐานเงินจะมีผลกระทบพหุคูณกับปริมาณเงิน เมื่อฐานเงินสูงขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อสัดส่วนเงินสดสำรองต่อเงินฝากของสถาบันการเงินลดลง สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ตัวพหุคูณทางการเงิน (Money multiplier) เพิ่มขึ้นและส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น และเมื่อสัดส่วนเงินสดหมุนเวียนต่อเงินฝากของสถาบันการเงินลดลง ประชาชนถือเงินลดลง สถาบันการเงินถือเงินสดสำรองมากขึ้น สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้นทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น

โควิค-19 กับสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทย

 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศ ไทย เดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนเมษายน 2564  ระบุว่า เงินสดในมือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ไม่นับรวมเงินฝากในระบบสถาบันการเงินและรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 1.6 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท ปริมาณเงินฝากภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาเพิ่มสูงขึ้นจาก 11.6 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท โดยที่ส่วนใหญ่เป็นบัญชีออมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าเงินฝากมีการขยายตัวสูงขึ้น การระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของประชาชนกลับมาลดลง 

 

เมื่อเงินฝากมีมากขึ้นจึงส่งผลให้สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น เมื่อพิจารณาเครื่องชี้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 92% สำหรับเดือนเมษายน 2564 ก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน 

เมื่อพิจารณาผ่านอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล พบว่าในช่วงสิ้นปี 2563 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 10 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 1.28% 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเดือนมิถุนายนปี 2564 อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ปรับขึ้นเป็น 1.86% ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก 

จากข้อมูลที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าสภาพคล่องของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดตํ่าลงมาเรื่อยอยู่ที่ระดับ 0.5% ในปี 2564 เป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อลดปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน ลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง สัดส่วนสินเชื่อ ต่อเงินฝากรวมของ ธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดคือ ภาวะการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจ SME และครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่มีความเปราะบาง การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิค-19 

ประกอบกับการดำเนินมาตรการควบคุมส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SME ไม่มีเงินเพียงพอในการดำเนินกิจการ ไม่สามารถขายสินค้าคงเหลือ และต้องการใช้เงินเพื่อชำระหนี้ ปัญหาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินนี้ อาจส่งผลให้กิจการต้องผิดนัดชำระหนี้ 

 

หนี้สิน คือ ปัจจัยที่กระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยตรง เพราะยิ่งมีหนี้สินมากเท่าไหร่ ผู้ประกอบการต้องยิ่งจ่ายดอกเบี้ยสูงมากขึ้นเท่านั้น ผู้ประกอบการหลายรายมีการกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิค-19 ขึ้นทำให้รายได้ลดลง การกู้เงินยากมากขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยกู้ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะขาดสภาพคล่องและต้องปิดกิจการ

ในปี 2563 ที่ผ่านมาแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME โดยให้มีการลดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหรือพักชำระเงินต้น มีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจนขาดสภาพคล่อง มีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยตํ่า (Soft loans) ให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ SME  

แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื้อให้มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินยังมองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ SME มีความเสี่ยงสูงทางด้านเครดิต

นอกจากรัฐบาลจำเป็นต้องหาวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอและระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาด ความท้าทายของผู้กำหนดโนบาย คือกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ตรงความต้องการของธุรกิจ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประคับประคองให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME และครัวเรือนอยู่รอดและปรับตัวฟันฝ่าวิกฤติโควิค-19 

สิ่งที่สำคัญทางการเงินในขณะนี้คือ การจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ให้ตรงจุด ครอบคลุม มีประสิทธิภาพมากที่สุด และลงไปสนับสนุนแก่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง