ในการประชุมทุกครั้ง ทุกวาระวงการอ้อยและน้ำตาล ต่างเป็นห่วงปริมาณอ้อยที่ลดลงต่อเนื่องในขณะที่โรงงานน้ำตาลแห่เกิดใหม่ จนบัดนี้ถ้าไม่นับค่ายน้ำตาลกุมภวาปีที่เพิ่งประกาศปิดกิจการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะมีโรงงานน้ำตาลทรายที่อยู่ในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 จำนวน 57 โรงงาน มีกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดประมาณ 1.10 ล้านตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณอ้อยระยะหลังมีผลผลิตต่อปีลดลงต่อเนื่อง จากอดีตเคยมีปริมาณอ้อยสูงกว่า 130 ล้านตันต่อปี
นายมนตรี คำพล ประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย 2 กูรูวงการอ้อย พร้อมใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อกังวลข้างต้น พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มนับจากนี้ไป รวมถึงกรณีที่ถูกมองว่าอุตสาหกรรมอ้อยเหมือนเดินถอยหลังเข้าคลองนั้นแท้จริงเป็นอย่างไร
เริ่มต้นจากนายมนตรี ที่พูดถึงฤดูการผลิตอ้อยปี 2564/2565 ในรอบแรกมีการประเมินว่า น่าจะได้ผลผลิตอ้อยไม่เกินที่ 80 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนมีมากน้อย หรือแล้งมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายปีที่ผ่านมามีการประเมินพลาด ปีนี้มีทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยประเมินอีกทาง หลังจากที่ทุกภาคส่วนมองเห็นปัญหาปริมาณอ้อยลดลง จากอดีตเคยมีปริมาณอ้อยสูกว่า 130 ล้านตัน ระยะหลังปริมาณอ้อยลดลงต่อเนื่องโดยปี 2562/2563 ปริมาณอ้อยลงมาอยู่ที่ 74.89 ล้านตัน และปี 2563/2564 ลดลงมาอยู่ที่ 66 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าปี 2564/2565 จะขยับมาที่ 80-85 ล้านตันต่อปี แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดที่เคยสูง
จับตาแย่งซื้อข้ามเขต
นายมนตรี ตั้งข้อสังเกตอีกว่าปี 2564/2565 ที่จะมีการหีบอ้อยในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือการแย่งซื้ออ้อย ที่น่าจับตาคือพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณอ้อยจำนวนมาก แข่งขันกันรุนแรง มีการตัดราคาซื้ออ้อยกัน เพราะอ้อยในภาคอีสานหลายพื้นที่วิ่งขายทั่วไป จึงเกิดการซื้ออ้อยข้ามเขต โรงงานน้ำตาลค่ายไหนให้ราคาสูงก็ขายค่ายนั้น เนื่องจากมีหลายพื้นที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการปลูกอ้อยจากโรงงานน้ำตาล ส่วนเกษตรกรรายใดที่ได้รับการส่งเสริมจากโรงงานน้ำตาลก็ต้องป้อนอ้อยให้โรงงานรายนั้นไป
“ในพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสานบางโรงงานให้ราคาสูงกว่าราคาอ้อยที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล(สอน.) เป็นผู้กำหนด โดยให้ราคาสูงตั้งแต่ 1,200-1,300 บาทต่อตัน”
ชาวไร่อ้อยมองปัญหาโรงงาน
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของชาวไร่อ้อย ตามนโยบายของ สอน.ให้โรงงานน้ำตาลเพิ่มกำลังผลิต จนเกิดกำลังการผลิตน้ำตาลมีมากกว่าวัตถุดิบหลักอย่างอ้อย พอโรงงานน้ำตาลมีกำลังผลิตมาก เวลาหีบอ้อยได้น้อยก็จะไม่คุ้มทุน และตามกำลังหีบอ้อยที่คุ้มต่อต้นทุนทุกโรงงานจะต้องหีบอ้อยได้อย่างน้อย 120 วันต่อฤดูกาล แต่ปีที่ผ่านมาบางโรงงานหีบได้แค่ 80 วัน อ้อยก็หมดไปก่อนแล้ว ก็จะไม่คุ้มทุน
“ในแนวคิดส่วนตัวแต่ละโรงงานผลิตน้ำตาลควรหีบอ้อยไม่เกินที่ 1-1.5 หมื่นตันต่อวัน จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลบางแห่งหีบอ้อยมากถึง 4-5 หมื่นตันต่อวัน”
ทั้งนี้พอหีบอ้อยมากถึง 4-5 หมื่น ตันต่อวัน อ้อยไม่พอก็วิ่งไปซื้ออ้อยนอกพื้นที่ หรือที่เรียกว่ามีการแย่งอ้อยข้ามเขตกันมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการหีบอ้อยในพื้นที่อื่นอีก นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลเองก็ต้องส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้เหมาะสม จะได้ไม่เกิดการแย่งอ้อยข้ามเขตเกิดขึ้น ที่น่าห่วงคือในปีการผลิต 2564/2565 ยิ่งปริมาณอ้อยมีน้อยลงก็จะยิ่งเกิดการแย่งซื้ออ้อยข้ามเขตมากขึ้น ก็จะเป็นปัญหาของโรงงานน้ำตาลที่มีอ้อยไม่เพียงพอ
คุ้มทุนต้องหีบ 110 – 120 วัน/ปี
ด้านนายนราธิป มองสอดคล้องกันว่า การผลิตอ้อย ปี 2564/2565 ที่ประเมินไว้ คาดปริมาณจะมี 80-85 ล้านตันอ้อย ซึ่งหากคิดจากผลผลิตปีที่ผ่านมา จะมีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นราว 30% นอกจากนี้ในแง่ราคาอ้อย ฤดูการผลิตนี้ จากการที่ทางบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ได้ขายน้ำตาลส่วนหนึ่งไปต่างประเทศแล้ว ก็ประมาณกันว่า ราคาอ้อยจะสูงกว่าปีที่แล้ว ปัจจัยหลัก ๆ เกิดจากราคาที่ตกต่ำมาหลายปีและเกิดภาวะแห้งแล้ง ประกอบกับปีนี้บราซิลซึ่งเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ ก็ประสบปัญหาแห้งแล้งเช่นกัน จึงทำให้ผลผลิตลดต่ำลง
ส่วนประเด็นเปิดศึกชิงอ้อยนั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม หากมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยน้อย ก็จะมีการสร้างแรงจูงใจด้านราคาแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย
สำหรับโรงงานน้ำตาลปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลทรายคงเหลือ 57 โรงงาน มีกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดประมาณ 1.10 ล้านตันต่อวัน หากคิดจุดคุ้มทุนต้องมีการเดินเครื่องจักรเพื่อหีบอ้อย 110- 120 วันต่อปี ซึ่งต้องมีปริมาณอ้อย 120 ล้านตันขึ้นไป ปริมาณอ้อยในขณะนี้ไม่เพียงพอที่โรงงานน้ำตาลนำไปหีบได้เต็มตามกำลังการผลิต
ปลูกอ้อยถอยหลังลงคลอง?
ส่วนที่ตั้งด้านข้อสังเกตกันว่าการปลูกอ้อยทุกวันนี้เหมือนถอยหลังเข้าคลอง นายนราธิป มองว่าตรงนี้จริง ๆ แล้ว เกษตรกรมืออาชีพที่ประกอบอาชีพปลูกอ้อย ได้มีการพัฒนามาตลอด แต่การพัฒนาเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง อาจจะรู้สึกว่าหยุดนิ่งหรือไม่ได้ก้าวกระโดด สาเหตุใหญ่คือ ปัญหาด้านราคา หากราคาตกต่ำ ไม่คุ้มกับต้นทุนก็ไม่มีกำไร เมื่อไม่มีกำไรก็ไม่มีเงินทุนในการพัฒนาต่อ จึงดูเหมือนเดินถอยหลัง
สำหรับปริมาณน้ำตาลลดลงตามผลผลิตอ้อยต่อเนื่อง ทำให้ส่งออกลดลง (กราฟิกประกอบ) ตรงนี้ต้องยอมรับว่า ราคาอ้อยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับพืชอย่างอื่นดูดี จนรัฐบาลถึงขนาดมีนโยบายให้เอาพื้นที่เกษตรอย่างอื่นมากปลูกอ้อยเพราะได้ผลตอบแทนดี เมื่อเกษตรกรได้เข้ามามากขึ้น ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แน่นอนที่สุดปัญหาก็ย่อมมีมากขึ้น ที่สำคัญคือส่งผลให้ราคาอ้อยตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายใหม่ ๆ ประสบปัญหาขาดทุน เลิกราไป ดังนั้นปริมาณผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายที่ลดลง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับอุตสาหกรรมนี้
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับตา รง.น้ำตาลระส่ำ! อ้อยขาด-แข่งแย่งซื้อ ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี
วิกฤติอ้อย-น้ำตาลไทย ราคาร่วง ส่งออกวูบ ผลผลิตหายรุนแรง
โควิดป่วนทุบชาวไร่ระงมราคาอ้อย-น้ำตาลร่วงกราวรูด