ราคาลำไยปี 2564 “ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี” เกิดอะไรขึ้นกับราคาลำไยไทย แล้วปี 2565 ราคาจะตกตํ่าเหมือนปี 2564 หรือไม่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) คาดการณ์ว่าในปี 2564 ผลผลิตลำไยจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านตันจาก 1.2 ล้านตันในปี 2563 นั้นหมายความว่า ปี 2564 ผลผลิตลำไยมีเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนตัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20%
ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรปลูกลำไยทั้งประเทศ 2.5 แสนครัวเรือน (จำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี) โครงสร้างพื้นที่ผลผลิตลำไยไทย มี 2 พื้นที่ที่ปลูกมากคือ “ภาคเหนือสัดส่วน 69%” ของผลผลิตทั้งประเทศประกอบด้วย 8 จังหวัดคือ เชียงใหม่ (29%) ลำพูน(25%) เชียงราย (8%) พะเยา (3%) ลำปาง (0.5%) ตาก (1.5%) แพร่ (0.2%) และน่าน (1.9%) อีก 25% เป็นผลผลิตของจังหวัดภาคตะวันออก จังหวัดหลักคือ จันทบุรี (20%) และสระแก้ว (5%)
ในช่วงเดือน ส.ค ถึง ก.ย. ของทุกปีถือเป็น 2 เดือนสำคัญของผลผลิตลำไยในฤดูของภาคเหนือที่ออกสู่ตลาด ปี 2564 ผลผลิตภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นอีก 1.6 แสนตัน (จากปีที่แล้วที่ผลิต 8 แสนตัน เพิ่มเป็น 9.7 แสนตัน) เพิ่มขึ้น 21% ทำให้สถานการณ์ลำไยปีนี้คือ “ผลผลิตมาก ความต้องการหด” ส่งผลต่อราคาในปัจจุบันปรับตัวลดลง ราคาเฉลี่ยลำไยจังหวัดลำพูน ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 (อ้างอิงจากสวนลำไยของคุณนิโรจน์ แสนไชย เกษตรกรบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน) เฉลี่ยอยู่ ที่ 10 บาทต่อกก. ราคาลำไยร่วง ณวันที่ 16 ส.ค. 2564 เกรด AA ราคา 13 บาท/กก. เกรด A ราคา 4 บาท/กก. เกรด B ราคา 1 บาท/กก. เกรด C ไม่มีใครซื้อ (อ้างอิงจากคุณสมศรี สีฝั้น ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกลำไยบ้านสันป่าตองใต้ เชียงใหม่) ซึ่งถือว่า “ตํ่ามากเมื่อเทียบกับราคาปี 2563” อยู่ที่ 20-25 บาทต่อ กก.
เมื่อพิจารณาราคาตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 พบว่า ราคาลำไยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง (ปี 2559 เกรด AA 38 บาท/กก. ปี 2563 เหลือ 28 บาท/กก.) ซึ่งเกษตรกรจะ “ขาดทุน” เพราะต้นทุนลำไยเฉลี่ย 10-15 บาท/กก. (เฉลี่ย 12 บาท/ กก.) 50% เป็นต้นทุนค่าจ้างคนเก็บ 6 บาท/กก. เหตุผลที่ทำให้ราคาลำไยในปัจุบัน “ราคาตก” เป็นด้วย 4 สาเหตุคือ 1. โควิด กระทบทั้งแรงงานที่เก็บลำไยหายากเพราะกังวลการติดเชื้อโควิด การไม่มีพื้นที่ขายผลผลิตจากมาตรการล็อกดาวน์และการตรวจเข้มจากการขนส่งไปประเทศจีนหากตรวจผลว่าผลไม้ครั้งที่ 1 จะห้ามรถและสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศชั่วคราว 10-15 วัน หากตรวจพบครั้งที่ 2 ห้ามรถสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศอย่างถาวร
2.ปัญหาคุณภาพลำไยจากเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่จีนห้าม 66 บริษัทไทยส่งลำไยไปจีน (แม้ว่าจะปลดล๊อกไปแล้วก็ตาม) แต่มีผลต่อจิตวิทยาต่อตลาดจีนไปแล้ว เราต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเพื่อลดเพลี้ยแป้งอย่างจริงจัง ผ่านการจัดการสวนที่ดี 3.ผลผลิตประเทศคู่แข่งและคู่ค้าออกมามาก ปี 2564 เวียดนาม (เรียกลำไยว่า ลอง ยาน Long Nhãn) ผลิตลำไยเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนตันเป็น 6 แสนตัน ส่วน 2 มณฑลใหญ่ของจีน กว่างซี่ ผลผลิตเพิ่ม 40% ขณะที่กว่างโจวเพิ่มขึ้น 50% พื้นที่ปลูกลำไยจีนในฟู่เจี้ยน และไต้หวันก็เพิ่มเช่นกัน ทำให้ “ปี 2021 จีนสามารถผลิตลำไย 4 ล้านตัน”
4.การบริหารจัดการราคาระหว่างเกษตรถึงผู้บริโภค “ผิดพลาด” จากการกำหนดราคาสูงเกินไป ทำให้ผู้บริโภคถอยเพราะไม่มี “กำลังซื้อ” ขณะที่ตลาดลำไยในต่างประเทศปี 2563 ไทยส่งออกลำไยสดไปทั่วโลก 4.7 แสนตัน มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาทไปจีน 3.5 แสนตัน (สัดส่วน 75%) มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ตามด้วยส่งออกไปตลาดเวียดนาม อินโดนีเซียและฮ่องกง และส่งออกลำไยอบแห้ง 1.5 แสนตัน มูลค่า 7.2 พันล้านบาทไปจีน 1.4 แสนตัน (สัดส่วน 93%) ตามด้วยการส่งออกไปตลาดเวียดนามอินโดนีเซียเหมือนเดิม สำหรับ “เส้นทางของลำไย (ห่วงโซ่การผลิต)” หลังจากลำไยออกจากสวนแล้วไปไหนบ้าง 45% ไปขายเป็นลำไยสด (บริโภคในประเทศ 40% และส่งออก 60%) 50 % ไปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก 5% เป็นลำไยเนื้อสีทอง ที่เหลือเป็นลำไยกระป๋องและแช่แข็ง
ขอเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาราคาลำไยอย่างถาวร โดยเฉพาะปี 2565 ดังนี้ 1.ทำแผนการตลาดต่างประเทศใหม่ อย่าขายเฉพาะตลาดจีน กระจายไปที่ตลาดอาเซียนอินเดีย ยุโรปและตะวันออกกลาง 2.บริหารจัดการแผนการจำหน่ายผลผลิตใหม่ ได้แก่ ลำไยนอกฤดู จัดโซนนิ่งการผลิต แต่ต้องดูปริมาณการผลิตประเทศคู่แข่งด้วย 3.สร้างแพลต์ฟอร์มถาวร ระหว่างขายลำไยเกษตรกับผู้บริโภคถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว และสร้างระบบที่ตรวจสอบ ส่งตรงเวลา การคืนสินค้าอย่างสมบูรณ์เหมือนกับแพลต์ฟอร์มออนไลน์ดัง
4.ลดต้นทุนการจัดการสวนลำไย เมื่อต้นทุนที่เป็นค่าจ้างรายวันไม่สามารถลดได้ เน้นลดต้นทุนการจัดการสวนลำไย ตัดพุ่มเตี้ย จะทำให้ผลผลิตและกำไรเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการลดนํ้า เป็นต้น 5.เครื่องทำความสะอาดลำไย เพื่อแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งยั้งยืน 6.ภาวะโลกร้อน ทำให้ขนาดของผลลำไยลดลงมากเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ต้องมีแผนการแก้ปัญหาเร่งด่วน 7.จัดทำ“Provincial Commodity Flow” เพื่อทราบถึงความต้องการและการผลิตของจังหวัด ภูมิภาคและประเทศ 9.ผลักดัน “อุตสาหกรรมต่อเนื่อง” จากลำไยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอาหารเสริมและสุขภาพ เพราะสารสกัดในลำไยจากใบ เปลือก ดอก เนื้อและเมล็ดมีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงต่อต้าน “โควิด”
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3708 วันที่ 26-28 ส.ค. 2564