จีนจะได้ประโยชน์อะไรจากการจับมือกับตาลีบัน (3)

08 ก.ย. 2564 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 12:09 น.

จีนจะได้ประโยชน์อะไร จากการจับมือกับตาลีบัน (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

อัฟกานิสถานยังเป็นแหล่งแร่ลิเธียม (Lithium) อันดับแรกๆ ของโลก แร่ลิเธียมเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรีไฟฟ้า จึงมีความต้องการสูงมากในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสีเขียวกำลังเบ่งบาน และยังอุดมไปด้วยแร่ทองคำ แร่เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ดีบุก ตะกั่ว และสังกะสี ซึ่งล้วนเป็นแหล่งแร่ที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมตามนโยบาย Made in China 2025 และอุตสาหกรรมสำคัญในศตวรรษที่ 21

 

นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวนมหาศาล รวมทั้งอัญมณีหลากหลายชนิด อาทิ ทับทิม มรกต และลาปิส ลาซูลี (Lapis Lazuli) เกรดดีที่สามารถขายได้ถึงกะรัตละ 150 เหรียญสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี โดยที่โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยสะดวกเดิมถูกทำลายจนเกือบหมด ทำให้อัฟกานิสถานต้องการความช่วยเหลือทั้งในด้านการเงินและเทคโนโลยีการก่อสร้างจากภายนอกในระดับที่สูงมาก ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผู้แทนกลุ่มตาลีบันไปหารือและเสนอข้อเรียกร้องต่อจีนดังกล่าว

 

 จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัฟกานิสถานเต็มไปด้วย “ความเปราะบาง และการพึ่งพาความช่วยเหลือ” จากภายนอก โดยราว 2 ใน 3 ของเงินงบประมาณประจำปีมาจากการบริจาคระหว่างประเทศ และเผชิญกับความท้าทายในการค้นหากลไก “การเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”

นอกจากเงินบริจาคจากต่างประเทศ ราว 1 ใน 3 ของแหล่งรายได้มาจากการค้านอกระบบ โดยส่วนใหญ่มาจากการค้าสารเสพติด จากข้อมูลของ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) อัฟกานิสถานเป็นแหล่งปลูกฝิ่นที่ใหญ่สุดในโลก โดยมีผลผลิตคิดเป็น 80-90% ของปริมาณการผลิตโดยรวมของโลก

 

โชคดีที่กลุ่มตาลีบันและรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า จะหยุดการปลูกฝิ่นและการค้าขายเฮโรอีนและยาเสพติดอื่น ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะเปลี่ยนหน้าตาโครงสร้างการผลิตยาเสพติดโลกไปได้มาก ซึ่งก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจและองค์การระหว่างประเทศต่างประกาศแซงชั่นและลดเลิกการให้ความช่วยเหลือโดยลำดับ ทำให้แหล่งเงินทุนจากภายนอกเดิมถูกตัดออกจากวงจรเกือบหมดสิ้น สหรัฐฯ สั่งฟรีซสินทรัพย์มูลค่าราว 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่เก็บไว้ในสหรัฐฯ ขณะที่เยอรมนี หนึ่งในประเทศผู้บริจาครายใหญ่สุด ก็ประกาศหยุดเงินช่วยเหลือทางการทหาร

                             จีนจะได้ประโยชน์อะไรจากการจับมือกับตาลีบัน (3)

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ก็ได้ประกาศบล็อกการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อต่างประเทศของอัฟกานิสถาน และสั่งแช่แข็งกองทุนการเงินฯ มูลค่า 440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไว้อย่างไม่มีกำหนด

 

การขาดเสถียรภาพด้านการเงิน และความมั่นคงทางการเมืองในระดับต่ำในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในครั้งนี้ ทำให้สถานภาพด้านการเงินและเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก ส่งผลให้เงินสกุลท้องถิ่น “อัฟกานี” (Afghani) อ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์

แรงกดดันจากต่างประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ดูเหมือนจะทำให้รัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานมีทางเลือกที่จำกัดยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องของคณะผู้แทนกลุ่มตาลีบันก่อนหน้านี้ที่ขอให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาอัฟกานิสถาน และการคาดหวังผลในการรับรองรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานที่จะก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มตาลีบัน

 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นในการเจรจาขอแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถานน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จีนถวิลหา

 

จีนมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี เครือข่ายตลาด และอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามดำเนินนโยบาย “บุกโลก” แสวงหาแหล่งพลังงานและแร่ธรรมชาติเพื่อป้อน “โรงงานของโลก” มาอย่างต่อเนื่อง และในกรณีนี้ การใช้ประโยชน์จากแร่ลิเธียมในการผลิตสินค้าสีเขียว ยังจะช่วยตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ “ความเป็นกลางด้านคาร์บอน 2060” ของจีนได้อีกด้วย

 

แต่หากประเมินจากประสบการณ์ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็พบว่า การขาดเสถียรภาพความมั่นคงในพื้นที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น ที่วาดฝันไว้สวยหรูว่าการยึดครอง “มีแต่ได้กับได้” กลับไม่เกิดขึ้นจริง และจีนก็คงไม่อาจฝันหวาน หรือปล่อยให้กิจการและผู้ประกอบการของตนต้องเข้าไปเผชิญกับความเสี่ยงในระดับที่สูงเป็นแน่

 

ดังนั้น จีนจึงอาจต้องจับมือกับรัสเซียและชาติพันธมิตรอื่นเพื่อช่วยรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานในการเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อความต่อเนื่องในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ ซึ่งน่าจะต้องใช้เงินและทรัพยากรอื่นเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

ประการที่ 3 จิ๊กซอว์สำคัญด้านลอจิสติกส์ อัฟกานิสถานเป็น “แลนด์ล็อค” (Land-Locked) ที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล แต่ก็มีทำเลที่ตั้งที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศในหลายภูมิภาค โดยมีพรมแดนทางตอนเหนือติดกับประเทศในเอเซียกลางอย่างเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน ด้านใต้ และตะวันออกติดปากีสถานของเอเซียใต้ ขณะที่ด้านซีกตะวันตกก็ติดกับอิหร่าน ซึ่งเป็นประตูสู่ตะวันออกกลางและแหล่งพลังงานใหญ่ และมีพรมแดนติดกับจีนสั้นๆ ด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือ

 

แม้ว่าเอเซียกลางในปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรไม่หนาแน่น และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่สูงมากนัก แต่จีนตระหนักดีว่า เอเซียกลางเป็นดั่ง “ทะเล” ที่จีนสามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ในระยะยาว (ติดตามอ่านตอนจบ ฉบับหน้า) 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564