เหตุการณ์ในครั้งนั้นนำไปสู่ควันหลงที่ศิลปินดารา และผู้บริโภคจีนออกมาประท้วงเงียบด้วยการยกเลิกสัญญาและปฏิเสธไม่ซื้อสินค้าของแบรนด์ ที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ และลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้
จีนมีนโยบายและสิทธิประโยชน์พิเศษด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เพราะจีนไม่ต้องการเห็น “บ้านหลังใหญ่และสวยงาม” อย่างจีนมี “สลัม” ของประเทศเพื่อนบ้านรายล้อมอยู่ ในกรณีของอัฟกานิสถาน จีนดูจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรประเทศ
แม้ว่าจีนและอัฟกานิสถานมีพรมแดนระหว่างกันเพียงราว 80 กิโลเมตร แต่จีนเคยกล่าวหาว่า อัฟกานิสถานอาจเป็นแหล่งซ่องสุมกองกำลังที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนของชนชาวอุยกูร์ในซินเจียง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ด้านการเมืองภายในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ต่อข้อห่วงใยของจีนดังกล่าว มุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ หัวหน้าทีมด้านการเมืองของกลุ่มตาลีบันในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า กลุ่มตาลีบันจะไม่ยอมให้กองกำลังของชาติใดใช้อัฟกานิสถานกระทำสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อจีน
ท่าทีดังกล่าวสร้างความพึงพอใจต่อจีนเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้จีนลดแรงกดดัน และประหยัดทรัพยากรในการดูแลเสถียรภาพความมั่นคงในพื้นที่แถบนั้นได้มาก จีนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความมั่นคง และเดินหน้าพัฒนาซินเจียงได้อย่างราบรื่นในระดับที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การพบปะของผู้แทนทั้งสองฝ่ายก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า การมีภาพข่าวการพบปะหารือระหว่างกันเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกของจีนต่อการรับรองกลุ่มตาลีบัน แต่จีนก็ระมัดระวังเกี่ยวกับการพบปะในครั้งนี้อยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการเลือกใช้เทียนจินเป็นสถานที่พบปะ แทนที่จะใช้ปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวงของจีน
ขณะเดียวกัน ในการแถลงข่าวและให้เนื้อข่าวผ่านสื่อสารมวลชนหลักของจีน รัฐบาลจีนเลือกใช้ตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐของหวัง อี้ โดยไม่ระบุถึงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และยังสงวนท่าทีและจุดยืนในการแสดงความคิดเห็นไว้บางส่วน โดยฝากประเด็นผ่านคณะผู้แทนกลุ่มตาลีบันที่มีลักษณะที่สอดคล้องกับขององค์การระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว จีนยังเลือกใช้หวา ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ สถานทูตจีนในอัฟกานิสถานจะยังคงเปิดทำการตามปกติ การคาดหวังที่อยากจะเห็นการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เปิดกว้างและครอบคลุม
วิธีการดังกล่าวได้เปิดช่องให้จีนสามารถตอกย้ำในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศที่รัฐบาลจีนยึดถือมาโดยตลอด และลดกระแสการโจมตีจากชาติตะวันตกไปพร้อมกัน
ในแง่ของจังหวะเวลา การพบปะครั้งนี้เกิดขึ้นกว่าครึ่งเดือนก่อนที่กองทัพตาลีบันจะเข้ายึดกรุงคาบูลเลยทีเดียว ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจของกองกำลังและการวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดี
การกลับมาสู่ศูนย์กลางอำนาจของกลุ่มตาลีบันอีกครั้งในคราวนี้จึงแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยกลุ่มตาลีบัน “เป็นมวย” ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น กลุ่มตาลีบันรู้ดีว่า การเคลื่อนทัพเข้ายึดอำนาจเมืองหลวงและหัวเมืองหลักได้อย่างเบ็ดเสร็จเป็นเสมือนความสำเร็จในระยะแรกเท่านั้น
เพราะหลังจากนั้น สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะตอบโต้และลดระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นอย่างแน่นอน จึงวางแผนแก้เกมด้วยการหาแรงสนับสนุนและรับรองของมหาอำนาจอื่น
เราจึงเห็นภาพกลุ่มตาลีบันเดินแผนการกลับสู่อำนาจอย่างลุ่มลึกผ่านทั้งมิติด้านการทหารคู่ขนานไปกับการวางหมากทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความชอบธรรมของกลุ่มตาลีบันในเวทีระหว่างประเทศ
แม้กระทั่งการแถลงข่าวครั้งแรก คณะผู้นำกลุ่มตาลีบันก็สร้างความประทับใจได้ในวงกว้าง โดยได้ตอกย้ำถึงความร่วมมือกับนานาประเทศ การปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และอื่นๆ ของคนท้องถิ่น และประกาศจะวางแผนจัดตั้งรัฐบาลอิสลามแบบเปิดกว้างอย่างรอบด้าน เพื่อเดินหน้าสู่การฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองที่สวยงาม
ประการที่ 2 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 650,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าของไทยราว 20% สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา โดยมีพื้นที่ราบในบริเวณทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งถูกใช้สำหรับการเพาะปลูก
ในเชิงเศรษฐกิจ กว่า 60% ของรายได้ครัวเรือนในปัจจุบันมาจากภาคการเกษตร และปศุสัตว์ ซึ่งมีผลิตภาพและรายได้อยู่ในระดับต่ำมาก กอปรกับอัฟกานิสถานมีอัตราการว่างงานสูงถึง 35% จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 40 ล้านคน ส่งผลให้ราว 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมดมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมเต็มไปด้วยความแร้นแค้น และเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี อัฟกานิสถานโดดเด่นมากในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลจากหลายแห่งระบุว่า อัฟกานิสถานเป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ารวมถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่หายาก (Rare Earth) ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของหลายชาต (ติดตามอ่านต่อฉบ้บหน้า)
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5 - 8 กันยายน พ.ศ. 2564
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน