จีนเร่งจัดระเบียบกว่าสิบธุรกิจเพื่อปิดร้อยร้าวสังคม

15 ก.ย. 2564 | 04:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 15:47 น.

จีนเร่งจัดระเบียบกว่าสิบธุรกิจเพื่อปิดร้อยร้าวสังคม : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศจีนประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดเศรษฐกิจจีน (Reform and Opening) เติ้ง เสี่ยวผิง ได้กล่าวไว้ว่า “ให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อน” ซึ่งในขณะนั้นขัดต่อแนวคิดของระบบสังคมนิยมที่เน้นความเท่าเทียมกัน

 

แต่ 30 ปีผ่านไป คนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยขึ้นไปก่อนนั้น ไม่เพียงไม่นำพากลุ่มคนที่เหลือให้รวยขึ้นมาด้วย ตรงกันข้ามกลับทิ้งห่างออกไป เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มากขึ้น อย่างน้อยในสายตาของผู้นำจีนชุดปัจจุบัน จึงมีแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “ความรุ่งเรืองที่เท่าเทียมกัน” (Common Prosperity) ความเหลื่อมล้ำทางสังคมรวมถึงปัญหาคอร์รัปชันถูกมองว่า ถ้าไม่จัดการให้เข้าสู่สมดุลอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงได้

 

เราจึงเห็นข่าวเกี่ยวกับการจัดระเบียบและการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นในกว่าสิบธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจฟินเทคไปจนถึงธุรกิจบันเทิง ที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการแบบดุเดือนในช่วงที่ผ่านมา การจัดระเบียบนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นสังคมนิยมแบบที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจีนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

กล่าวคือในยามที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมธุรกิจใด ก็จะส่งเสริมเต็มที่อย่างมีเอกภาพกันทั้งในระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น มีน้อยครั้งที่เราจะเห็นหน่วยงานรัฐ หรือ รัฐบาลท้องถิ่น มีแนวปฏิบัติที่ขัดกับส่วนกลาง แต่ในยามที่รัฐบาลตัดสินใจว่า ธุรกิจใดกำลังเติบโตจนทำให้เสียสมดุลทางสังคมแล้ว ก็จะเข้ามาควบคุมธุรกิจ สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความเสียสมดุลในเศรษฐกิจ ที่อยู่ในความเป็นห่วงของผู้นำจีนปัจจุบัน ได้แก่

                      จีนเร่งจัดระเบียบกว่าสิบธุรกิจเพื่อปิดร้อยร้าวสังคม

1.การผูกขาดทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ จนจำกัดการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ตั้งแต่ต้นน้ำของธุรกิจได้แก่ การระดมทุนจนถึงการทำการตลาด ตัวอย่างเช่น เป็นที่รู้กันก่อนหน้านี้ว่า นักธุรกิจออนไลน์ใหญ่เล็กทั้งหลายในจีนจำเป็นต้องเลือกค่าย อาทิ เมื่อเจ้าของสินค้าเลือกขายสินค้าออนไลน์ใน JD.com ก็จะถูกไม่ให้ขายสินค้าใน Taobao ซึ่งเป็นค่ายอาลีบาบา หรือ ในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนจากค่ายหนึ่งก็อาจถูกปฏิเสธจากการทำธุรกิจกับอีกค่ายหนึ่งได้ เป็นต้น

 

2.ความถดถอยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่แท้จริง ความเป็นห่วงนี้ฟังดูแล้วอาจจะไม่น่าจริงสำหรับประเทศจีน เพราะเราได้เห็นนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึงการผลิตรถไฟฟ้า แต่ภายใต้นโยบาย Made In China 2025 และเป้าหมายความเป็นที่หนึ่งแบบเต็มรูปแบบในด้านปัญญาประดิษฐ์ในปี 2030 รัฐบาลจีนต้องเร่งนวัตกรรมให้สูงขึ้นไปอีก

 

และมีความเชื่อว่านวัตกรรมที่แท้จริงควรมาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย แต่การพัฒนาของธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เน้นไปในทางการเติบโตอีโคซิสเต็ม การพัฒนา e-commerce ทำให้ดูดทรัพยากรด้านต่างๆ ที่ควรจะไปอยู่กับธุรกิจที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่แท้จริงออกไป

 

อาทิ การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ คล้ายกับที่ในอดีตเคยมีการเปรียบเปรยว่า บุคคลากรที่เป็นวาณิชธนกรในวงการการเงิน แท้จริงอาจทำคุณประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า หากได้ไปทำงานในองค์กรอย่างองค์กรนาซ่า (ถึงแม้ในปัจจุบันไม่จริงอีกต่อไปแล้ว)

3.ปัญหาสังคมสูงอายุ ปัจจุบันอัตราการคลอดบุตรของจีนตกลงเหลือ 1.3  รั้งท้ายอันดับโลก และต่ำกว่าแม้กระทั่งญี่ปุ่น ถึงแม้ล่าสุดในปีนี้ รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศให้ชาวจีนมีบุตรได้ถึง 3 คนแล้ว ภายหลังจากที่ได้ยกเลิกนโยบายบุตร 1 คนไป เมื่อหลายปีที่แล้ว

 

แต่แนวโน้มการมีบุตรก็ไม่น่าจะกระเตื้องขึ้น เพราะภาระในการเลี้ยงดูบุตรมีสูงมาก ไม่ว่าจะเรื่องราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงริบ แรงกดดันเรื่องการศึกษา เป็นต้น ในเอกสารนโยบายเรื่องการการมีบุตร 3 คน รัฐบาลได้มีการระบุให้ลดภาระด้านการศึกษาแก่ครอบครัว อันเป็นเหตุให้มีการจัดระเบียบธุรกิจกวดวิชาออนไลน์ที่ผ่านมา

 

แล้วรัฐบาลจีนอยากเห็นอะไร ผู้เขียนเชื่อว่าแนวนโยบายจะเกี่ยวกับการพัฒนาของกลุ่มชนชั้นกลาง การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การพัฒนาเมืองชั้นสามชั้นสี่ ตลอดจนการเอื้อต่อการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เชื่อว่าการกำราบธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินอยู่นี้ จะไม่เป็นการเดินถอยหลังของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจตลาด (market economy) อย่างแน่นอน หากแต่เป็นการจัดระเบียบเพื่อเดินหน้าต่อไป 

 

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 4 ฉบับ 3714  ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย.2564