แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบ‘ถอยเพื่อก้าวต่อ’ของจีน

08 เม.ย. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2563 | 11:03 น.

 

หลังจากที่คุมโรคระบาดได้แล้ว ประเทศจีนเริ่มหันมาสู่มาตรการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ มาตรการฟี้นฟูเยียวยาและมาตรการกระตุ้น ในแง่ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะขอกล่าวถึงในบทความนี้นั้น ประเทศจีนใช้โครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ อาทิ การสร้างโครงข่าย 5G มาเป็นตัวชูธง ซึ่งเล็งผลทั้งในแง่การอัดฉีดเม็ดเงินไปสู่ภาคธุรกิจโดยกว้างและยกระดับศักยภาพของประเทศไปพร้อมๆ กัน และในครั้งนี้มีโอกาสอย่างสูงที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยไม่อิงกับมาตรฐานตะวันตก 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ดูเหมือนประเทศจีนจะไม่ใช้แนวทางแบบทุ่มสุดตัว ทั้งนี้ เพราะภาระหนี้ในระบบที่สูงมากตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้หน้าตักทางการเงินและการคลังของจีนโดยรวมถือว่ายังมีเหลือเพียงพอ ครั้งนี้ จีนจึงมีแนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ถอยเพื่อก้าวต่อ” จึงเป็นหัวใจหลักของผู้นำจีนในเวลานี้  

 

เน้นโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ - ประเทศจีนกำหนดแนวทางการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ เน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ หรือ New Infrastructure ที่เรียกว่าแนวใหม่เป็นเพราะประเทศจีนมีโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม อาทิ ถนน รถไฟ สนามบิน ฯลฯ ที่ครอบคลุมและก้าวล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว โครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่นี้ มีโครงข่าย 5G เป็นตัวชูธง และต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2008 ยุควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ใช้การสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวชูธง  

 

ตามบทวิเคราะห์ของธนาคาร Bank of China เม็ดเงินที่จัดสรรสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่สำหรับปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน แบ่งเป็นโครงข่าย 5G ประมาณ 2.5-3 แสนล้านหยวน ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงดันสูงมาก (8 หมื่นถึง1 แสนล้านหยวน) รถไฟฟ้า สถานีชาร์ตไฟ ศูนย์ Big Data Center การพัฒนา AI และระบบเมืองอัจฉริยะ จะว่าไปแล้วเม็ดเงินนี้ถือว่าไม่มากเลยคิดเป็นเพียง 1% กว่าของ GDP ปีก่อนเท่านั้น และคิดเป็นเพียง 7% ของการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของปีก่อน  

 

ทันทีที่รัฐบาลกำหนดกรอบเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังโรคระบาด รัฐบาลมณฑลต่างๆ ก็เริ่มมีการนำเสนอโครงการลงทุนต่างๆ กว่า 2 หมื่นรายการ เป็นเงินลงทุนรวมกันกว่า 40 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดแล้วเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP ทีเดียว ในจำนวนนี้คงจะมีหลายรายการที่ไม่เข้าข่าย “แนวใหม่” รวมทั้งแหล่งเงินทุนอาจไม่ได้มีพร้อมทุกโครงการ จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะให้รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินโครงการเหล่านี้ได้มากน้อยอย่างไร  

 

การดำเนินการในส่วนนี้ต้องควบคู่ไปกับนโยบายการเงิน ที่ในขณะนี้มีสัญญาณชัดเจนว่าผ่อนปรน เพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง เป็นที่คาดการณ์ทั่วไปว่าจะมีการลดดอกเบี้ยและลดอัตราเงินสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อีก 2-3 ครั้ง รวมทั้งการขยายกรอบการขาดดุลการคลังให้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณ 3% เชื่อได้ว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะออกมาในระบบเศรษฐกิจจะมีไม่น้อย แต่ก็เชื่อว่าคงไม่ใช่การอัดฉีดแบบทุ่มหมดหน้าตักดังที่เห็นในหลายประเทศในขณะนี้ 

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเสริมศักยภาพประเทศ - เมื่อครั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 รัฐบาลจีนใช้โครงการรถไฟความเร็วสูงมาเป็นตัวชูธงในการเร่งเศรษฐกิจ ในครั้งนั้นทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูง ที่มีโครงข่ายใหญ่ที่สุดในโลก และส่งออกเทคโนโลยีด้านนี้ไปต่างประเทศ และจีนก็ได้ใช้อุตสาหกรรมนี้ มาเป็นตัวจุดประกายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคในช่วงเวลาอันสั้น 

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประเทศจีนมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไฮเทคในด้านอื่นๆ อีก รวมถึงระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ โครงการไฟฟ้าพลังงานทดแทน อุปกรณ์เครื่องจักรไฮเทคต่างๆ เรียกได้ว่าวิกฤตครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจีนไปสู่ความเป็นประเทศไฮเทคทีเดียว  

 

มาในครั้งนี้ จีนมีโอกาสอีกครั้งที่จะผลิกวิกฤติไปเป็นแรงผลักดันนวัตกรรม และเชื่อว่าจะเป็นผลสำเร็จ เพราะนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับโครงข่าย 5G นี้ จีนมีการเตรียมการก่อนหน้านี้ และมีองคาพยพต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว สิ่งที่วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ จะช่วยผลักดันคือความเป็นปึกแผ่นของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ในจีน 

แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบ‘ถอยเพื่อก้าวต่อ’ของจีน

 

ผู้เขียนยังเห็นอีกว่าจะมีการยกระดับของการใช้ข้อมูล big data ไปสู่อีกระดับหนึ่ง ไม่เพียงเพราะเรื่องของการมีเครือข่าย 5G มารองรับ แต่เป็นเรื่องของการปรับระบบข้อมูลให้มีการแบ่งปันกันระหว่างค่ายธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ตลอดจนจีนจะกระโดดขึ้นมาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในหลายๆ เรื่องเสียใหม่ อาทิ การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวตามแบบฉบับของจีน เพื่อป้องกันวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยไม่ยึดถือแบบฉบับประเทศตะวันตก

 

แง่คิดสำหรับประเทศไทย - ประเทศไทยมีความจำเป็นในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่อยู่อีกมาก หลายๆ โครงการมีการจัดสรรงบประมาณอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว หากมีการผนวกโครงการเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากควบคุมโรคระบาดได้แล้ว และกำหนดลำดับความสำคัญใหม่ให้เร่งรีบขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เสริมมาตรการสนับสนุนด้านภาษี เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การดำเนินการแบบบูรณาการนี้ อาจทำได้ไม่ง่ายในเวลาปกติ แต่เหตุวิกฤติโรคระบาดนี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นหรืออย่างน้อยทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความจำเป็นเร่งรีบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน  

 

นอกจากนี้ เหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการวางรากฐานประเทศใหม่ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การศึกษา การวิจัย ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นส่วนที่ประเทศไทยยังสามารถเพิ่มศักยภาพได้อีกอย่างมาก โดยมุ่งเน้นไปในสาขาที่ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ อาทิ การวิจัยโรคระบาดเขตร้อน การวิจัยด้านเทคโนโลยีเกษตรกรรม การวิจัยเทคโนโลยีอาหาร เป็นต้น

 

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี  ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง  จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา