แผนกระตุ้นขนาดมหึมาของอเมริกากระทบจีนอย่างไร

14 เม.ย. 2564 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2564 | 12:19 น.

แผนกระตุ้นขนาดมหึมา ของอเมริกากระทบจีนอย่างไร : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย...มาณพ เสงี่ยมบุตร : รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

แผนกระตุ้นโครงสร้างพื้นฐานจำนวนเงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญ สรอ. ภายใต้ชื่อแผนสร้างงานอเมริกัน (American Jobs Plan) ของประธานาธิบดีไปเดน ที่มีขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ จะทำให้อเมริกามีอัตราการเติบโตแซงหน้าจีนในระยะสั้นและยึดความเป็นหนึ่งในด้านเศรษฐกิจออกไปได้อีกระยะหนึ่ง

แต่ไม่น่าจะทำให้อเมริกาถีบตัวทิ้งห่างจีนออกไปในด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ เนื่องจากถึงแม้จีนจะไม่เรียกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจะมีเม็ดเงินไม่น้อยไปกว่าแผนสร้างงานอเมริกันเสียอีก

 

อเมริกาจะเติบโตแซงหน้าจีนเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษ 

แผนกระตุ้นของไบเดนมีโอกาสทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกาในระยะสั้น เร่งขึ้นมาแซงหน้าหรืออย่างน้อยเทียบเคียงกับจีนได้เป็นครั้งแรกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาจากการที่สำนักวิจัยต่างๆ เริ่มทยอยปรับประมาณการการเติบโต จีดีพี ของอเมริกาขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 8 สำหรับปีนี้ ซึ่งการปรับประมาณการขึ้นนี้คำนึงถึงเฉพาะแผนกอบกู้อเมริกัน (American Rescue Plan) จำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญ สรอ. ที่เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายออกมาเท่านั้น แต่ยังยังไม่น่ารวมเม็ดเงินของแผนสร้างงานฯ ที่ยังไม่ได้ผ่านเป็นกฎหมาย

ในขณะที่ความคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีนี้โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7-8 และในการประชุมสองสภาฯ ประจำปีของจีนที่ผ่านมาได้มีการตั้งเป้าหมาย จีดีพี สำหรับปีนี้ไว้ที่เพียง “มากกว่าร้อยละ 6” และเราน่าจะเห็นจีนมีอัตราการเติบโตที่แผ่วลงในปีหน้าเทียบกับปีนี้ เพราะว่าจีนได้เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่อเมริกามีโอกาสที่จะเติบโตในอัตราเร่งขึ้น โดยเฉพาะหากไบเดนได้ผลักดันแผนสร้างงานฯ ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ดังนั้น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของไบเดน จะยึดความเป็นอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจของอเมริกาได้ระยะหนึ่ง

 

 

แต่อเมริกาจะยังไม่ปิดช่องว่างเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกับจีน 

แผนสร้างงานฯ ของไบเดน แบ่งเป็นสองส่วนได้แก่ เม็ดเงิน 1.7 ล้านล้านเหรียญ สรอ. สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง รวมถึงการวิจัยพัฒนา เป็นระยะเวลา 10 ปี และเม็ดเงินอีกก้อนหนึ่งจำนวน 5 แสนล้านเหรียญ สรอ. สำหรับเป็นแรงจูงใจและผลตอบแทนต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนการก่อสร้าง

แผนสร้างงานฯ ของสหรัฐนี้ เน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม อาทิ การซ่อมแซม การก่อสร้าง และการยกระดับถนน รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน แต่ไม่ได้กล่าวถึงรถไฟความเร็วสูง ส่วนที่เหลือเป็นการก่อสร้างด้านอื่นๆ อาทิอาคาร ระบบน้ำ ระบบอินเตอร์เนต เป็นต้น เมื่อเทียบกับจีนแล้ว ปีที่แล้วจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) เครือข่ายโทรคมนาคม 5G 2) ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมากพิเศษ 3) ระบบรถไฟความเร็วสูงและระบบรถไฟฟ้า 4) สถานีชารต์รถยนต์ไฟฟ้า 5) ศูนย์ข้อมูล big data 6) ปัญญาประดิษฐ์ และ 7) อินเตอร์เน็ตอุตสาหกรรม

ถึงแม้จีนจะไม่ได้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักวิจัยของบริษัทโกลแมนแซค ประเมินว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับใหม่ฉบับที่ 14 จีนจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในอีกห้าปีข้างหน้าเป็นเม็ดเงินรวม 15 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 2.3 ล้านล้านเหรียญ สรอ. และในจำนวนนี้ยังไม่รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม

แผนกระตุ้นขนาดมหึมาของอเมริกากระทบจีนอย่างไร

เมื่อเทียบเม็ดเงิน 1.7 ล้านล้านเหรียญ สรอ. สำหรับ 10 ปีของอเมริกาและ 2.3 ล้านล้านเหรียญ สรอ. สำหรับ 5 ปีของจีน ก็จะเห็นได้ว่าการต่อยอดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานปกติของจีนมีสูงกว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐเสียอีก ดังนั้น น่าจะเชื่อได้ว่าแผนสร้างงานฯ ของไบเดน จะไม่ปิดช่องว่างเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานกับจีนได้ หรือมองอีกนัยหนึ่ง แผนกระตุ้นของอเมริกามุ่งเน้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่แผนการลงทุนของจีนมุ่งเน้นยกระดับการแข่งขันโดยสร้างสิ่งใหม่ๆ

นอกจากนี้การปฏิบัติตามแผนงานของสหรัฐและจีนย่อมมีความแตกต่าง การก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐจะพึ่งพาเงินภาษีที่ต้องเรียกเก็บเพิ่มมากขึ้นและต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายจีนพึ่งพากลไกหน่วยงานและภาคธนาคารของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อนโดยตรง รวมถึงนโยบายการเงินที่ผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ดังนั้น จีนมักจะทำได้มากกว่าที่วางแผนไว้ เทียบกับประเทศตะวันตกโดยทั่วไป

 

อเมริกาจะเสียดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้นหรือไม่ 

เป็นที่น่าคิดว่าแผนการสร้างงานฯ​ ของสหรัฐจะทำให้สหรัฐเสียดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโดยรวม คงหนีไม่พ้นวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ที่ผลิตจากประเทศจีนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้น เราคงไม่เห็นการผ่อนปรนของท่าทีในเชิงนโยบายของอเมริกาต่อจีน

ดังที่ประธานาธิบดีไปเดนได้กล่าวไว้ในการแถลงเปิดตัวแผนการสร้างงานฯ​ ว่า “แผนการลงทุนจะทำให้สหรัฐชนะการแข่งขันในเวทีโลกต่อประเทศจีนในอนาคต” จนทำให้บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลโบลไทม์ของจีน ถึงกับพาดหัวว่า “สหรัฐสูญเสียจุดยืนในแผนงานโครงสร้างพื้นฐาน เพราะสอดแทรกความต่อต้านจีนไว้” โดยกล่าวต่อไปว่าหากสหรัฐลดแนวคิดเรื่องการต่อต้านจีนและหันมาร่วมมือกับจีนแล้ว ก็น่าจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า

ดังนั้น ในขณะที่อเมริกาจะแสดงท่าทีกีดกันจีนที่ดุดันต่อไป จีนอาจมีท่าทีในเชิงเศรษฐกิจเข้าหาอเมริกามากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจจีนสามารถเข้าไปมีส่วนในตลาดที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นี้ เช่นเดียวกับที่ธุรกิจตะวันตกเข้าหานโยบายของจีน เพื่อแลกกับตลาดของจีนในอดีตที่ผ่านมา

 

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564