“จีน”ผนึก 5 ผู้นำความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเดินหน้าพัฒนาประเทศ

20 ก.ย. 2564 | 10:43 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 17:47 น.

“จีน”ผนึกผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เดินหน้าพัฒนาประเทศ “หลี่ เค่อเฉียง”ชี้ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความผันผวนไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เผชิญความท้าทายใหม่

วันนี้(20 ก.ย.64) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรง​คุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๗  ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ ๙ ก.ย.๖๔ และกล่าวสุนทรพจน์  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความผันผวนไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเผชิญความท้าทายใหม่

 

ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมกันสร้างฉันทามติ เพิ่มความเข้าใจทางการเมือง ขยายขอบเขตและยกระดับความร่วมมือ รวมทั้งร่วมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีข้อเสนอใน ๖ ประการ ได้แก่

๑.๑ ประการแรก ส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ เคารพสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของทุกประเทศอย่างเต็มที่ในการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำ โดยการปรึกษาหารือกันทุกฝ่าย

 

๑.๒ ประการที่สอง มุ่งเน้นการรักษาชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยดำเนินความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดตามหลักวิทยาศาสตร์และให้ความร่วมมือกันในงานด้านวัคซีน

 

๑.๓ ประการที่สาม ส่งเสริมการค้าการลงทุน เพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เร่งกระบวนการอนุมัติและดำเนินงานของข้อตกลง RCEPปฏิบัติตามพิธีสารว่าด้วยการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

 

๑.๔ ประการที่สี่ ส่งเสริมการประสานเชื่อมโยงเพื่อบรรลุซึ่งการพัฒนาร่วมกัน ปฏิบัติตาม “ยุทธศาสตร์การคมนาคม ๒๐๓๐” เร่งการก่อสร้างโครงการสำคัญๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย และทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ รวมทั้งส่งเสริมการก่อสร้างศูนย์ประสานงานในภูมิภาคอย่างแข็งขัน

 

๑.๕ ประการที่ห้า ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรับปรุงการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และดำเนินการระยะที่สามของโครงการสิ่งแวดล้อมหลักในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สำรวจรูปแบบใหม่ของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างแข็งขันภายใต้ภูมิหลังแห่งการป้องกันและควบคุมโรคระบาด

 

๑.๖ ประการที่หก ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมือง ยึดมั่นในมิตรภาพของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เคารพและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ยืนหยัดในพหุภาคีนิยมและแนวคิดที่เปิดกว้าง โดยใช้ความได้เปรียบของแต่ละฝ่ายผนึกกำลังกันในการพัฒนา ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ประสานกันกับกลไกแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ตลอดจนกลไกอื่น ๆ

 ๒. นายกรัฐมนตรีจีนเน้นว่า การพัฒนาเป็นพื้นฐานและกุญแจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดในประเทศจีน โดยการนำแนวคิดการพัฒนาใหม่ไปใช้ เร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งการปฏิรูปที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เน้นตลาด หลักนิติธรรม และส่งเสริมการเปิดกว้างสู่โลกภายนอกในระดับสูง

 

ตลอดจนต้อนรับบริษัทจากทั่วโลกมาลงทุนในจีน โดยปฏิบัติต่อบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรม และส่งเสริมความร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุมอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ การพัฒนาของจีนจะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ และสร้างผลตอบแทนจากการพัฒนาใหม่ๆ ให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

บทสรุป  ที่ประชุมฯ​ ได้ออกปฏิญญาการประชุมฯ ให้การรับรอง “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๒๐๓๐” และ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองต่อ แผนระบาดของโรคปอดบวมและฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับใหม่ (๒๐๒๑ - ๒๐๒๓)”

 

โดยในการประชุมครั้งนี้ มีนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา เป็นประธานการประชุม นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมาร์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ นายมาซาสึกุ อาซากาวะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบทางไกล

 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://cpc.people.com.cn/n1/2021/0910/c64094-32223092.html )