จีนสมัคร “CPTPP” แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไร?

26 ก.ย. 2564 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 11:58 น.

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศในการประชุมเอเปก เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ว่า สนใจเข้าร่วม CPTPP หลังจากนั้น “300 วันถัดมา” ในวันที่ 16 ก.ย. 2564 รัฐมนตรีพาณิชย์จีน นายหวังเหวินเถา ก็ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP อย่างเป็นทางการ

 

จีนสมัคร “CPTPP”  แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไร?

 

ทั้งนี้จีนได้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วม CPTPP ต่อนายดาเมียน โอคอนนอร์(Damien O’Connor) รัฐมนตรีการค้านิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ดูแลข้อตกลง (CPTPP depositary) (สหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2560 ก็ยื่นจดหมายต่อนิวซีแลนด์) ก่อนหน้านี้อังกฤษสมัครเข้าร่วม CPTPP เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเช่นกัน

 

จีนสมัครเข้าร่วม CPTPP ครั้งนี้เสมือนเป็น “หนามยอกเอาหนามบ่งต่อสหรัฐฯ” เพราะ CPTPP เป็นความคิดริเริ่มแรกและเป็นนโยบายเพื่อ “ปักหมุดเอเซีย (Pivot of Asia)” ของสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เป็นผู้ผลักดันเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนและเพิ่มบทบาทการค้าการลงทุนสหรัฐฯ ในเอเชีย แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว กลายเป็นจีนเข้าร่วมแทน และไม่รู้ว่าเป็นการบังเอิญหรือตั้งใจของจีนที่สมัคร CPTPP 1 วันหลังจากสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียบรรลุ “กติกาสัญญาความมั่นคง AUKUS (AUKUS Security Pact)” เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564

 

โดยข้อตกลงดังกล่าวป็นข้อตกลงความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐอเมริกา และอังกฤษจะช่วยเหลือเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อช่วยสร้างเรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้ ปัจจุบันมี 6 ประเทศที่เป็นเจ้าของเรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์มีสหรัฐฯ (14 ลำ) รัสเซีย(11 ลำ) ฝรั่งเศส (4 ลำ) อังกฤษ (4 ลำ) จีน (6 ลำ) และอินเดีย (1 ลำ) นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม “Quad” ที่เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นอินเดีย และออสเตรเลีย เช่นกัน

 

ประเด็น AUKUS ได้สร้างความไม่พอใจต่อฝรั่งเศส เพราะทำให้ออสเตรเลียต้องไปยกเลิกสัญญาที่ซื้อเรือดำนํ้าพลังงานดีเซลจากฝรั่งเศสจำนวน 12 ลำเมื่อปี 2016 ที่มีมูลค่า 66 พันล้านดอลลาร์หรือ 2 ล้านล้านบาท จึงเป็นที่มาของคำว่า “แทงข้างหลัง” จากฝรั่งเศสต่อ “AUKUS” จีนก็วิจารณ์ทันทีว่าเป็นการ “ขาดความรับผิดชอบและใจแคบ”

จีนสมัคร “CPTPP”  แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไร?

 

การที่จีนสมัครเข้าร่วม CPTPP แสดงให้เห็นว่าจีนมั่นใจและพร้อมแข่งขันในตลาดโลกด้วยประเด็นรัฐวิสาหกิจ (บทที่ 17) ทรัพย์สินทางปัญญา (บทที่ 18) การลงทุน (บทที่ 9) E-commerce (บทที่ 9) สิทธิแรงงาน (บทที่ 19) เพราะประเด็นเหล่านี้ “จีนจะถูกตั้งคำถาม” จากนานาชาติว่าแนวทางปฏิบัติไม่สอดคล้องกับสากล ต้องดูกันต่อไปว่าจีนจะได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมหรือไม่ เพราะออสเตรเลียกับจีนมีข้อพิพาททั้งการค้าและความมั่นคง

 

รวมไปถึงคำพูดของนายเคนจิ นากานิชิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งรัฐกล่าวในทวีตว่า “จีนอยู่ห่างไกลจากโลกที่เสรี ยุติธรรม และโปร่งใส” โอกาสที่จะเข้าร่วมได้นั้นแทบจะเป็นศูนย์ ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดาในระยะสองปีที่ผ่านมา “ไม่ค่อยดี” จีนจับนักธุรกิจแคนาดาจำคุก 11 ปี ด้วยข้อหาสอดแนมเพื่อตอบโต้กรณีแคนาดาจับ “Meng Wenzhou” CFO บริษัทหัวเว่ย สมาชิก CPTPP จะเลือกอย่างไรระหว่าง “ผลประโยชน์ทางการค้าและอิทธิพลของจีน”

 

จีนสมัคร “CPTPP”  แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไร?

 

บทวิเคราะห์ของ Peter A. Petri and Michael G. Plummer (2019) พบว่าการที่จีนเข้า CPTPP ทำให้มูลค่าการค้าในกลุ่มเพิ่มขึ้น 6 เท่า (147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 632 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)  และจีนได้ประโยชน์สูงสุด 50% ของการค้าในกลุ่ม ตามด้วยญี่ปุ่น กรณีจีนเข้าร่วม CPTPP จะกระทบ GDP ไทยลดลงไป -1.6% มูลค่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

สำหรับประเทศไทย “ยังไม่ชัดเจนต่อ CPTPP ว่าจะเอาอย่างไร” ประเด็นที่เป็น “ดราม่า” คือ เมล็ดพันธุ์พืชที่มีความกังวลว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชในไทยเรื่องนี้กลายเป็น “ประเด็นที่ซ่อนปัญหา” เหตุเพราะไทยไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์ว่า “เมล็ดพันธุ์พืชดั่งเดิมใดเป็นของไทย” ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าเมล็ดพันธุ์พืชไหนเป็นของไทยและที่สำคัญ “ใครเป็นเจ้าของ” เมื่อเป็นแบบนี้จึง “มีความเสี่ยงสูง” ที่ใครก็สามารถหยิบเมล็ดพันธุ์พืชไทยไปพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งเมื่อเข้า CPTPP ไทยก็ต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 (อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) โดยอัตโนมัติ UPOV ให้ความสำคัญกับการคุ้ม ครองพันธุ์พืชใหม่

 

เรื่องนี้หากมองให้แง่การแข่งขันในตลาดโลก เมล็ดพันธุ์ถือว่าเป็นต้นนํ้าและต้นทางของสินค้าเกษตร เมื่อผลผลิตต่อไร่ไทยยังตํ่าเทียบกับคู่แข่ง ไปเวทีโลกเราคงแข่งยาก เหมือนที่เรากำลังประสบปัญหาศักยภาพการแข่งขันกันอยู่ในปัจจุบัน

 

จีนสมัคร “CPTPP”  แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไร?

 

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.สร้างความเข้าใจ CPTPP ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.ควรจะทำการเปรียบเทียบมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกกับไทยเป็นรายสินค้า เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนามาตรฐานสินค้าไทยต่อไป 3.เตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร SMEs และผู้ที่จะได้รับผลกระทบ 4.เรียนรู้มาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรมจากประเทศสมาชิก CPTPP เพื่อนำมาถ่ายทอดความรู้ และเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรผู้ประกอบการ 5.ศึกษาประเด็นที่เป็นที่กังวลเช่น UPOV1991 ที่ส่งผลต่อทั้งภาคเกษตรและห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร 6.ตั้งคณะทำงานดูแลมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือแผนฉุกเฉิน

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3716 วันที่ 23-25 กันยายน 2564