การจัดสรรปันส่วนกระแสไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อกว่า 40% ของอุตสาหกรรมการผลิตในจีน ทำให้หลายฝ่ายกังวลใจว่า ภาคการผลิตของจีนจะไม่สามารถสนองตอบคำสั่งซื้อจำนวนมากจากโลกตะวันตกในช่วงสิ้นปีนี้ได้ ซึ่งในทางกลับกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของการส่งออก การบริโภค และเศรษฐกิจจีนโดยรวม ทำเอาหลายสำนักประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้กันเลยทีเดียว ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยได้
แต่ดูเหมือนรัฐบาลจีนจะไม่กังวลใจกับเรื่องนี้ เพราะ “ลอยตัว” จากผลงานด้านเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมในช่วงครึ่งปีแรก หากเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัว 4-5% เราก็น่าจะเห็นเศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตในอัตราราว 8% สูงกว่าเป้าหมาย 6% ที่กำหนดไว้มาก
อีกประเด็นหนึ่งที่สอบถามกันมากก็คือ วิกฤติพลังงานนี้จะลากยาวไปถึงเมื่อไหร่ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะคลายความกดดันได้ระดับหนึ่งในช่วงหยุดยาววันชาติจีนที่องค์กรภาครัฐและเอกชนพร้อมใจกันหยุดยาวเพื่อฉลองครบ 6 รอบของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าก็ยังมีงานใหญ่รออยู่
รัฐวิสาหกิจด้านการไฟฟ้าของจีนจำเป็นต้องเร่งเตรียมสต็อกถ่านหินและพลังงานอื่นให้เพียงพอต่อการผลิต “ความร้อน” ที่จะส่งผ่านตามท่อไปยังอาคารบ้านเรือนที่อยู่ทางตอนเหนือของจีนเพื่อต่อสู้กับความหนาวในช่วงระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน-15 มีนาคม
แถมปักกิ่งและเมืองบริวารก็เตรียมจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ผมจึงประเมินว่า ปัญหาวิกฤติพลังงานจะเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตสินค้ายาวจนถึงเดือนมีนาคม 2022
เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติที่รออยู่ดังกล่าว รัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คณะกรรมการกระแสไฟฟ้าแห่งชาติจีน (China Electricity Council) ได้เร่งเจรจาและลงนามในสัญญาระยะยาวการจัดซื้อถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งซัพพลายใหญ่อย่างอินโดนีเซีย มองโกเลีย และรัสเซีย
การสั่งซื้อถ่านหินและแหล่งพลังงานอื่นของจีนยังอาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 อาจนำไปสู่สภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจถดถอยควบคู่ไปกับเงินเฟ้อที่สูงก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้จังหวะโอกาสนี้ในการเดินหน้าปฏิรูปด้านพลังงาน ต่อสู้กับมลพิษ และปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการเป็นหลักเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เราจึงเห็นนโยบายพลังงานใหม่ของจีนมุ่งเน้นไปที่กระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ก๊าซธรรมชาติ และเทคโนโลยีดิจิตัลประสิทธิภาพสูงที่สะอาดขึ้น
ในส่วนหนึ่ง จีนโชคดีที่มีแหล่งน้ำขนาดมหึมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทำให้มณฑลเสฉวน ยูนนาน และทิเบต กลายเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำสำคัญของจีน ในช่วงหลายปีหลัง เราเห็นจีนลงทุนก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แม้กระทั่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนก็ยังเปิดเขื่อนใหม่หลายแห่งในมณฑลเสฉวนและพื้นที่ใกล้เคียง
ในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมผลิตแผงโซล่าเซลล์ที่เคยชะลอตัวไปภายหลังการถูกแบนจากชาติตะวันตกก็หันมาพึ่งพิงตลาดในประเทศ โดยในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจีนได้อนุมัติเม็ดเงินจำนวนนับพันล้านหยวนในแต่ละปีเพื่ออุดหนุนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ภาคครัวเรือน
นอกจากนี้ เมื่อกลางปี 2021 รัฐบาลจีนก็ยังกำหนดสัดส่วนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่หลังคาอาคารจำแนกตามประเภทองค์กร อาทิ 50% สำหรับหน่วยงานภาครัฐ 40% สำหรับอาคารสาธารณะที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และสำนักงานคณะกรรมการหมู่บ้าน 30% สำหรับโรงงานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และ 20% สำหรับที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบท
ในเชิงภูมิศาสตร์ จีนยังได้เปลี่ยนพื้นที่ด้านซีกตะวันตกที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและทะเลทราย ซึ่งอาจมีข้อจำกัดและอาจไม่คุ้มค่าในการเพาะปลูกพืชเป็นอาหารเลี้ยงคน ไปเป็นแหล่งผลิตพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และอื่นๆ
โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากในมณฑลด้านซีกตะวันตกอย่างชิงไห่ กานซู่ และซินเจียง หลายโครงการแฝงไว้ซึ่งนวัตกรรมด้านพลังงานที่น่าสนใจ และครอบคลุมพื้นที่หลายขุนเขาสุดลูกหูลูกตา ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มบทบาทในการผลิตกระแสไฟฟ้าของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำราว 70% พลังงานแสงอาทิตย์ 80% และพลังงานลม 55% ของปริมาณโดยรวมของจีนในปัจจุบัน
วิกฤติพลังงานในจีนอาจส่งผลกระทบในหลายส่วน แต่จะเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้น ประการสำคัญ ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะไม่ทิ้งเป้าหมายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และด้วยการสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจังของภาครัฐ ความมุ่งมั่นของชาวจีน นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และอื่นๆ จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นการด้านคาร์บอนได้ก่อนปี 2060 ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564