ส่วนที่ 2 การให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจัดงานฯ ออกแบบสนามแข่งขัน โดยตัดสินใจนำเอาสนามกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 จำนวน 5 แห่งกลับมาดัดแปลงใช้ในครั้งนี้ และก่อสร้างสนามแข่งขันและศูนย์ฝึกซ้อมส่วนที่เหลือขึ้นใหม่ โดยทุกแห่งเลือกใช้วัสดุรีไซเคิ้ลเป็นหลักเพื่อประหยัดการใช้พลังงานและป้องกันสิ่งแวดล้อม
ที่เหยียนชิ่งและจางเจียโค่ว ซึ่งเป็นสนามแข่งขันกีฬากลางแจ้ง จีนก็ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การโยกย้ายดอกไม้พื้นบ้าน และการก่อสร้างเส้นทางเดินที่ปลอดภัยแก่สัตว์ขนาดเล็ก
ในการก่อสร้างถนนที่ National Alpine Skiing Center ในเหยียนชิ่ง คนงานยังให้เวลากับการโยกย้ายต้นอัลไพน์ก่อนการก่อสร้าง และย้ายต้นไม้เหล่านั้นกลับเข้ามาในพื้นที่หลังจากการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จ รวมทั้งใส่ใจกับการรักษาสภาพทุ่งหญ้าที่เพาะปลูกไว้ให้รอดพ้นช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา เพื่อให้มั่นใจว่าทุ่งหญ้าเหล่านั้นจะยังคงเขียวขจีในช่วงจัดการแข่งขันในปีหน้าและหลังจากนั้น
และที่โดดเด่นเป็นสง่าอีกจุดหนึ่งก็คือ หอคอยของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Tower) ที่ติดตั้งโลโก้สัญลักษณ์ของโอลิมปิกขนาดความกว้าง 38 เมตร และความสูง 17 เมตรเข้าไว้ เพื่อใช้เป็นแลนด์มาร์กเพื่อตอกย้ำความเป็น “โอลิมปิกสีเขียว”
หอคอยนี้ตั้งอยู่ที่สนามแข่งขันในเขตเหยียนชิ่ง มีความสูงเกือบ 120 เมตร และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านนวัตกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ของจีน
ส่วนที่ 3 การใช้ระบบการขนส่งสีเขียว นอกจากการก่อสร้างพื้นที่สนามจัดการแข่งขันและภูมิทัศน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คณะกรรมการจัดงานฯ ยังวางแผนที่จะใช้ระบบการขนส่งสีเขียว อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน รถยนต์ไฟฟ้า และจุดชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายว่ากว่า 85% ของการเดินทางเข้าออกสนามกีฬาและศูนย์ฝึกซ้อมจะเป็นพาหนะที่ใช้พลังงานสีเขียว
ในชั้นนี้ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-จางเจียโค่วได้ถูกก่อสร้างขึ้น และเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2019 ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของการเดินทางระหว่างปักกิ่งจางจางเจียโค่วจากเดิม 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง และปักกิ่ง-เหยียนชิ่งจาก 2 ชั่วโมงเหลือไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ทุกสนามแข่งขันในตัวเมืองปักกิ่ง ยังออกแบบก่อสร้างให้ต่อเชื่อมกับสถานีรถไฟใต้ดินที่สามารถต่อเชื่อมไปยังจุดต่างๆ ทั่วทุกมุมเมือง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าออก
พาหนะในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ กรรมการ และนักกีฬาทั้งหมดก็เป็นรถยนต์พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และไฮบริด นอกจากนี้ จีนยังลงทุนก่อสร้างแท่นชาร์ตไฟฟ้าแก่รถยนต์พลังงานใหม่ในทุกสนามและตลอดเส้นทางระหว่างปักกิ่งและจางเจียโค่ว
นอกจากนี้ วีแชต (WeChat) ยังจะออกมินิโปรแกรมเพื่อช่วยกระตุ้นและแนะนำการใช้ชีวิตสีเขียวและเก็บสถิติพฤติกรรม “โลว์คาร์บอน” ในระหว่าง Beijing 2022 อาทิ การเดินทางโดยระบบการขนส่งสาธารณะ
ส่วนที่ 4 การเสริมสร้างเมืองสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองสีเขียวในปักกิ่ง อาทิ การปิดและโยกย้ายโรงงานผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตสู่สมัยใหม่ การปิดกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษ และการเปลี่ยนแหล่งพลังงานไปสู่พลังงานที่สะอาดกว่าเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ
ปักกิ่งได้ลดการใช้ถ่านหินลงกว่า 1.7 ล้านตันในปี 2020 จากที่เคยใช้สูงสุดที่ 30 ล้านตันในช่วงเพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ก๊าซธรรมชาติถูกใช้ในสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานทั้งหมด
ภาพในอดีตที่เราเคยเห็นปักกิ่งมีสภาพอากาศที่ขมุกขมัวจนชินตาได้เปลี่ยนเป็นท้องฟ้าที่สดใส ผลการวัดค่า “ความเขียว” ของปี 2020 ระบุว่า ปักกิ่งมีค่า PM 2.5 เฉลี่ยเพียง 38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 2013 และลดลง 9.5% เมื่อเทียบกับของปีก่อน
นอกจากนี้ เมืองจางเจียโค่วก็ยังได้ก่อสร้างโครงข่ายท่อก๊าซที่สามารถขนส่งได้ถึง 3,200 ลูกบาศก์เมตร และดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอีกหลายโครงการ เพื่อซัพพลายกระแสไฟฟ้าสีเขียวไปยังสนามกีฬาและศูนย์ฝึกที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการเดินทางติดตามความคืบหน้าในการเตรียมงาน ฮวน อันโตนิโอ ซามารานช์ (Juan Antonio Samaranch) ประธานกรรมการประสานงานของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Committee: IOC) ได้กล่าวว่า “Beijing 2022 จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่สนใจกีฬาฤดูหนาว และกีฬาโอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน”
ซึ่งนั่นเท่ากับว่า การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้จะมีบทบาทนำในการก่อสร้างสนามแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และเป็นต้นแบบแนวคิดของการก่อสร้างอาคารสำนักงานในอนาคต
ส่วนที่ 5 การเทรดพลังงานสีเขียวผ่านแพล็ตฟอร์ม เพื่อให้ Beijing 2022 เป็นโอลิมปิกสีเขียว ได้อย่างแท้จริง คณะกรรมการจัดงานยังได้ซื้อพลังงานสีเขียวเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และการทดสอบระบบ รวมทั้งการเปิดใช้สนามแข่งขันและศูนย์ฝึกซ้อมจากโครงข่ายผู้ผลิตพลังงานสีเขียว ผ่านแพล็ตฟอร์มซื้อขายกระแสไฟฟ้าจี่เป้ย (Jibei Power Exchange Platform) ที่จัดตั้งขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และอาศัยกฎการซื้อขายพลังงานสีเขียวตามกลไกตลาด (Rules for Market-Based Trading of Green Power) ในปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ยที่เริ่มใช้เมื่อปลายปี 2018
ทั้งนี้ Beijing 2022 ได้เริ่มเทรดพลังงานสะอาดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2019 เพื่อใช้ในสนามกีฬาและศูนย์ฝึกซ้อมจำนวน 7 แห่ง แต่ต่อมาก็ขยายวงไปครอบคลุมในสนามแข่งขันทุกจุด โดยในระหว่างปี 2019-2020 ผู้จัดงานได้ซื้อกระแสไฟฟ้าสีเขียวรวมทั้งสิ้น 700 กิ๊กกะวัตต์ และได้รับสิทธิ์พิเศษด้านราคาเป็นอันดับแรกจากผู้ผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้การจัดการแข่งขันประหยัดค่าใช้จ่าย และสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานสีเขียวของรัฐได้อย่างแท้จริง
โดยรวมแล้ว การใช้พลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินการที่ประหยัดพลังงานในทุกสนามแข่งขัน Beijing 2022 ดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้ 320,000 ตัน หรือเท่ากับการลดการใช้ถ่านหินได้ถึง 128,000 ตัน
วิกฤติพลังงานที่จีนพยายามปรับโครงสร้างไปสู่การใช้พลังงานสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา อาจสร้างกังวลใจและผลกระทบต่อผู้คนและผู้ประกอบการในจีนบางส่วน แต่เมื่องาน Beijing 2022 จัดขึ้นในต้นปีหน้า ก็จะเปิดโอกาสให้ชาวโลกได้เห็นว่าความทุ่มเทของจีนในการทำคุณประโยชน์จาก “โอลิมปิกสีเขียว” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,725 วันที่ 23 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564