เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 บริษัทรถไฟลาว-จีน (Laos China Railway : LCR) ได้รับมอบรถไฟ “EMU” อย่างเป็นการที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นสถานีโดยสารที่ใหญ่ที่สุดของลาว รถไฟขบวนนี้ชื่อว่า “ล้านช้าง (Lan Xang)” เป็น “รถไฟจีนขบวนแรก” ของโลกที่เชื่อมต่างประเทศ และเป็นรถไฟขบวนแรกใน “ประวัติศาสตร์ของชาติลาว” ที่จะมีรถไฟวิ่งผ่านหลายแขวงและเชื่อมจีน
รถไฟขบวนนี้ผลิตที่เมืองชิงเต่าและต้าเหลียน (มณฑลเหลียวหนิง) โดยบริษัท CRRC Qingdao Sifang และ CRRC Dalian บริษัท CRRC (China Railway Rolling Stock Corporation) เป็นผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ของจีน หน่วยงานสำคัญหลักของจีนในการพัฒนารถไฟคือการรถไฟจีน (China Railway : CR) และ CRRC โดย CR เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทลูกเพื่อธุรกิจรถไฟ 21 บริษัทอยู่ตามเมืองต่างๆ ของจีน
รถไฟจีนมี “2 ประเภท” ประเภทแรกใช้โลโก้ CRH (China Railway High-speed) เรียกว่า “Hexie Hao (เฮกซี ฮาว)” แปลว่า ความสามัคคี (Harmony) เริ่มใช้ปี 2004-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นรถไฟที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากเยอรมนี และประเภทล่าสุดใช้โลโก้ CR เป็นเทคโนโลยีของจีนล้วนเรียกว่า “Fuxing” ทั้งสองรุ่นผลิตโดยบริษัท CRRC รถไฟลาว-จีนขบวนนี้จึงใช้รถไฟ “Fuxing Hao (ฟูชิง ฮาว) ซี่รี CR200J” หมายถึงการฟื้นฟูในทางที่ดี เป็นรถไฟฟ้าหลายหน่วย (Electric Multiple Unit : EMU) การขับเคลื่อนไฟฟ้า ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งไฟฟ้าจากหัวลากอย่างเดียว
รถไฟล้านช้าง “CR200J” ขบวนนี้เป็นขบวนสั้น (ถ้าเป็นขบวนยาวรองรับได้ 918 คน ชั้นหนึ่งมี 280 ห้องนอน ชั้นสองมี 396 ห้องนอน และที่นั่งมาตรฐานชั้นสอง 242 ที่นั่ง) ขบวนสั้นมี 9 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้รวม 720 ที่นั่ง ประกอบด้วย หัวรถจักร 1 ตู้ ตู้โดยสารชั้น 1 มี 1 ตู้ จำนวน 56 ที่นั่ง (มี 14 แถวๆ 2 + 2 ที่นั่ง) ตู้เสบียง 1 ตู้ ชั้น 2 อีก 6 ตู้ มี 662 ที่นั่ง (มี 22 แถวๆ 3 + 2 ที่นั่ง 1 ตู้ได้ 110 คน) และมีที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิการอีก 1 ตู้ ภายในรถไฟจะใช้ 3 ภาษาคือ จีน ลาว และอังกฤษ อีกขบวนหนึ่งชื่อว่า “แคนลาว” ซึ่งยังเดินทางเข้ามาไม่ถึง รถไฟขบวนนี้มีความพิเศษตรงเป็นสีธงชาติสปป.ลาว “แดง นํ้าเงิน ขาว” (สีภายในรถไฟฟ้าเน้นสีดอกจำปาที่เป็นดอกไม้ประจำชาติลาว)
โดยปกติรถไฟรุ่นนี้ในจีนจะเป็นสีเขียว ที่สื่อจีนเรียกว่า “ยักษ์เขียว (Hulk)” หรือบางทีก็เรียกมันว่า “ถังขยะ” เพราะสีเป็นสีเดียวกับถังขยะพลาสติกสาธารณะในจีน รถไฟล้านช้างวิ่งได้สูงสุดที่ 160 กม./ชม. ถือว่าเป็นรถไฟความเร็วตํ่าสุดของจีน รถไฟหัวกระสุนของจีนแบ่งตามความเร็วได้ 3 รุ่นคือ “G Train” ความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม. (ถือว่าเร็วที่สุดในโลก Shinkansen ญี่ปุ่นได้ 300 และ ICE เยอรมนีได้ 320) “D Train” ความเร็ว 250 กม./ชม. และ “C Train” ความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. (ล้านช้างอยู่ในประเภทนี้)
แต่หากเป็นรถไฟแม่เหล็กจีนจากเซี่ยงไฮ้ไปสนามบินผู่ตง (Shanghai Maglev) ความเร็ว 500 กม./ชม. ระยะทางประมาณ 30 กม.จะใช้เวลาแค่ 7 นาที และล่าสุดจากเซี่ยงไฮ้ไปปักกิ่ง 600 กม./ชม. เมื่อเทียบสเปกและรายละเอียดรถไฟจีนในอาเซียนพบว่ารถไฟลาวจีนถือเป็นขบวนแรกของอาเซียนที่จีนสร้างเสร็จ เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาคือ 5 ปี
หากเปรียบเทียบเงินลงทุนรถไฟลาว-จีน กับรถไฟอินโดนีเซียระหว่างจาการ์ต้า-บันดุง ใกล้เคียงกัน ในขณะที่เงินทุนในเมียนมาสูงถึง 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รถไฟลาว และอินโดนีเซียเริ่มต้นก่อสร้างใกล้เคียงกัน แต่รถไฟอินโดนีเซียล่าช้าและยังไม่เสร็จเพราะติดปัญหาด้านการเวนคืนและเงินลงทุน
ส่วนเมียนมานั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ รูปแบบในการลงทุนของลาวและอินโดนีเซียเป็นแบบ “กู้และร่วมทุน” เหมือนกัน โดยรถไฟลาวกู้ 60% ร่วมทุน 40% (ร่วมทุน จีน 70% ลาว 30% ภายใต้บริษัท Laos China Railway Company : LCR) ในขณะที่รถไฟอินโดนีเซีย กู้ 75% อินโดนีเซีย 25% ร่วมทุน (จีน 90% อินโดนีเซีย 10% ภายใต้บริษัท PT Kereta Cepat Indonesia China (KCIC) สำหรับแหล่งเงินกู้ลาวกู้จาก EXIM Bank ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นเงินกู้จาก CDB ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับประเทศทั่วโลก
กรณีรถไฟเมียนมาคงกู้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประเภทของรถไฟความเร็วสูงที่ใช้จะเป็น “Fuxing Hao” ทั้งหมด แต่ของลาวและเมียนมาความเร็วจะตํ่าสุดเมื่อเทียบกับรถไฟอินโดนีเซีย นอกจากรถไฟจีนจะมีแผนสร้างในลาว เมียนมาและอินโดนีเซียแล้ว ยังมีรถไฟความเร็วของจีนในประเทศไทย แต่กรณีไทยเป็นการลงทุนไทยทั้งหมดภายใต้ “โครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน” นอกจากนี้ยังมีในสิงคโปร์และมาเลเซีย (ยกเลิก) และเวียดนามอีกด้วย
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3730 วันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2564