ต้องบอกว่า RCEP มีสำคัญและใหญ่มาก “ไม่รู้ ไม่เห็น” ธุรกิจไทยจะเจ๊งหายไปอีกเยอะ ปัจจุบัน RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิก 15 ประเทศ (ไม่รวมอินเดีย) เรียกว่า “อาเซียน +5” หรือ “อาเซียน+1 ภาคสอง” ก็ได้
สมาชิกประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP ใหญ่แค่ไหน? เมื่อเปรียบเทียบ RCEP กับ CPTPP พบว่า RCEP มีขนาด GDP ใหญ่กว่า 2 เท่า (25 ล้านล้านเหรียญ) ประชากรมากกว่า 4 เท่า (2.2 พันล้านคน) และมูลค่าการค้ารวมมากกว่า 1.7 เท่า (12.4 ล้านล้านเหรียญ) จำ RCEP ง่าย ๆ คือ “30 30 30 ของโลก” หมายความว่า RCEP มีขนาด GDP 30% ประชากร 30% มูลค่าการค้า 30%
เมื่อดูตัวเลขปี 2021 ไทยพึ่งพิงการค้าจากตลาด RCEP มาก เห็นได้จากไทยส่งออกไป RCEP สัดส่วน 52% ของมูลค่าการส่งออกของไทย และนำเข้าจาก RCEP สัดส่วน 70% ของมูลค่าการนำเข้าของไทย และไทยก็ขาดดุลการค้ากับ RCEP มูลค่า 25,412 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่ขาดดุลการค้ากับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย ที่เหลือไทยได้ดุลการค้า
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ตลาดส่งออกไทยใน RCEP” พบว่าไทยส่งออกไปจีนครองอันดับหนึ่ง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ตามด้วยญี่ปุ่นแต่สัดส่วนลดลง เวียดนามแซงหน้ามาเลเซียเป็นอันดับสาม ส่วน “ตลาดนำเข้าของไทยใน RCEP” ไทยนำเข้าจากจีนด้วยสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ตามด้วยญี่ปุ่น (สัดส่วนลดลง) และมาเลเซีย
เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาด 15 ประเทศใน RCEP กลุ่มประเทศ “CJK (China Japan Korea)” มีสัดส่วนส่งออก 56% (จีนสัดส่วนการส่งออก 30% ญี่ปุ่น 14% และเกาหลี 12%) สิงคโปร์สัดส่วน 10% ไทยและมาเลเซียมีสัดส่วน 6% และสินค้าที่ค้ากันส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วน 80% เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 26% ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ สัดส่วน 12% น้ำมัน สัดส่วน 10% แร่ 4% ยางและผลิตภัณฑ์ และเสื้อผ้า สัดส่วน 1%
จากบทวิเคราะห์ของ Global Development Policy Center มหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า หลังวันที่มีผลบังคับใช้ RCEP ทุกประเทศในอาเซียนจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น หมายความว่าอาเซียนมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีน และจีนก็นำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ 3 ประเทศนี้ไม่มี FTA ซึ่งกันและกัน (จีน-ญี่ปุ่นไม่มี ญี่ปุ่น-เกาหลีไม่มี) RCEP จึงเป็นครั้งแรกที่สามประเทศมี FTA ด้วยกัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือกัมพูชาจะนำเข้าซีเมนต์และผ้าถักทอจากไทยมากขึ้น ในขณะที่ลาวนำเข้าปศุสัตว์ แต่ไทยจะนำเข้าหอมแดง ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนมอเตอร์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬาจากอินโดนีเซีย ผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย ด้านการค้าระหว่างกัน และไทยจะนำเข้ากลุ่มสินค้าเกษตรจากจีน มากขึ้น ได้แก่ หอมแดง มะเขือเทศ กระเทียม ชา เมล็ดผัก และผลไม้ “ประเทศที่จะได้ประโยชน์” คือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนอาเซียนจะเสียประโยชน์ด้านการค้าใน RCEP
“6 ประเด็นท้าทายไทย” คือ 1.การได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการลดภาษี ภายใต้กติกา RCEP แม้ว่าไทยมีโอกาสใน 29,891 รายการที่จะส่งออก แต่ไทยก็ต้องเปิดตลาดให้เช่นกัน ผลกระทบตามมาแน่นอนกับธุรกิจไม่ปรับตัวหรือตั้งรับไม่ทัน 2.พัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน นอกจากสมาชิกอาเซียนแล้ว จีนมีมาตรฐาน “S Label” ญี่ปุ่นมี "มาตรฐาน JAS” เกาหลีมี “มาตรฐาน MFDS Korea” และออสเตรเลียล้วนเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวดมาก การส่งสินค้าไปขายต้องได้มาตรฐาน
3.การค้าออนไลน์เฟื่องฟู การค้าออนไลน์จะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น จีนมีความพร้อมเรื่องนี้มากที่สุดทั้งแพลตฟอร์มและกฎหมาย ในขณะที่ไทยใช้แพลตฟอร์มของชาติ RCEP และ ไม่มีกติการองรับ นอกจากนี้ Cross Border E-Commerce ของไทยยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้
4.การตรวจสอบสินค้านำเข้า หลังจากนี้จะมีสินค้าหลากหลายเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานและร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวในการตรวจสอบสินค้าเข้มงวด 5.ให้แต้มต่อ SMEs ไทย ในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) เพื่อให้เกิดโอกาสกับ SMEs ไทยในการนำเสนองานของหน่วยงานไทย และ 6. สินค้าเกษตรทะลัก หลังจากนี้สินค้าเกษตรจาก 14 ประเทศจะเข้ามาในไทยมากขึ้น ไทยมีความพร้อมรับเรื่องนี้แค่ไหน