RCEP เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ข้อกำหนดเบื้องต้น ระบุว่า เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. นี้ RCEP จึงมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิก ซึ่งได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, จีน, ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เมียนมา ซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็ววัน
สำนักข่าวบีบีซีอ้างอิงเว็บไซต์ข่าวเซาท์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า เกาหลีใต้จะเข้าร่วมตั้งแต่ 1 ก.พ. นี้
ความสำคัญของ RCEP
ข้อมูลของ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลายเป็นเขตการค้าขนาดใหญ่ ดังนี้ คือ
สำหรับ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ
ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 นั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่
เช็คเลยสินค้ารายการไหนส่งออก ภาษีเป็น 0%
หลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ส่งผลให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ ซึ่งสินค้าที่ประเทศสมาชิก RCEP (non ASEAN)ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทยและอาเซียนในทันทีที่ความตกลงมีผล (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565) นั้น ได้แก่
จีน ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า มีสินค้า 67.3% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ไม้ ส่วนประกอบเครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก (โพลิโพรพิลีน)
เกาหลีใต้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่ง 61.5% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สำหรับถ่ายรูป เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้และรับสัญญาณ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ฟิวส์ หม้อแปลงไฟฟ้า ผ้าทอทำด้วยฝ้ายและใยประดิษฐ์ น้ำตาล
ญี่ปุ่น 73% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วย เครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องรับสัญญาณและโทรทัศน์ ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม ชุดสายไฟ ยางแผ่นรมควัน อาหารสุนัขหรือแมว
นิวซีแลนด์ 64.6% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ยางล้อรถยนต์ ปลาทูนากระป๋อง อาหารเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ แชมพู เครื่องแต่งกายและของประกอบกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ (รวมถึงถุงมือ) ซึ่งทำจากยางวัลแคไนซ์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน หม้อสะสมไฟฟ้า ลวดและเคเบิล เก้าอี้นั่งทำด้วยไม้
ออสเตรเลีย 75.3% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที่ เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ปลาทูนากระป๋อง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องประดับเงินและโลหะมีค่าอื่นๆ ยางล้อรถยนต์/รถบัส/รถบรรทุก กระสอบถุงพลาสติก อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องสำอางค์ สบู่ แชมพู น้ำผลไม้
ในมุมมองภาคธุรกิจ/ประโยชน์เชิงลงทุน
บทวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าครั้งนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 โดยผลบวกทางตรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมมาจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 อยู่ในกลุ่มที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญที่ช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย ด้วยจุดเด่นที่เป็นฐานการผลิตครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศทำให้การลงทุนในภูมิภาคน่าสนใจมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต RCEP ยังมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไอซี การประกอบวงจรพิมพ์ ยานยนต์ แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดึงดูดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve
อย่างไรก็ตาม การดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้น ความพร้อมด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นมาจึงจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนได้เหนือคู่แข่ง ทั้งการจัดทำ FTA กับประเทศสำคัญที่เป็นตลาดเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว การเตรียมความพร้อมรองรับกระแส ESG ตลอดจนการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน