สวัสดีปีใหม่ครับ ... บทความนี้ต่อเนื่องหลายตอนจนก้าวข้ามจากปีวัวมายังปีเสือกันเลย ตอนที่แล้วเราคุยกันถึงนวัตกรรมด้านเฮลท์แคร์ของจีนในยุคใหม่ ผ่านบริษัทของจีนและต่างประเทศ แต่จีนยังมีนวัตกรรมอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจ เราตามไปดูกันครับ ...
หนึ่งใน PAT ที่เป็นผู้นำในวงการเทเลเฮลท์ (Tele-Health) และเทเลเมดิซีน (Tele-Medicine) ซึ่งผมยังไม่ค่อยได้กล่าวถึงคือ ผิงอัน (Ping An) เราอาจรู้จักกลุ่มธุรกิจรายนี้ในฐานะกิจการการเงินและประกันภัยที่ติดท๊อป 10 ของโลก บ้างอาจรู้จักมากขึ้นหลังจากที่กลุ่มซีพีสร้างความฮือฮาด้วยการเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วยเงินจำนวนมหาศาลเมื่อหลายปีก่อน
ผิงอันก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 โดยปีเตอร์ หม่า ซึ่งรับตำแหน่งประธานกรรมการและซีอีโอของบริษัท ทำให้ผู้อ่านบางส่วนรู้จักกลุ่มผิงอันผ่านชื่อผู้ก่อตั้ง จนบางคนเอาไปพูดต่อว่านักธุรกิจเก่งๆ ของจีนในยุคใหม่ล้วนมีแต่แซ่หม่า
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารของผิงอันได้นำเอาระบบการจัดการสมัยใหม่ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และคลาวด์ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจจนสามารถยกระดับกิจการการเงินแบบดั้งเดิมสู่กลุ่มธุรกิจบริการการเงินส่วนบุคคลระดับโลกที่มีพนักงานจำนวนกว่า 340,000 คน และตัวแทนการขายอีก 1.4 ล้านคนในปัจจุบัน
เมื่อเห็นตัวเลขพนักงานและตัวแทนการขายมากมายขนาดนั้น ท่านผู้อ่านอาจประหลาดใจและคิดต่อว่า บริษัทต้องใช้เวลากี่ปีในการคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานและตัวแทนเหล่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว คนเหล่านี้ผ่านการคัดเลือกโดยอาศัยการสัมภาษณ์ด้วยหุ่นยนต์เข้าช่วย
ประการสำคัญ นอกเหนือจากบริการการเงินแล้ว ผิงอันยังได้ขยายขอบข่ายธุรกิจไปครอบคลุมถึงบริการยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งเฮลท์แคร์ ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
กลุ่มธุรกิจผิงอันเปิดหลายกิจการด้านเฮลท์แคร์ โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ “Ping An Health and Technology C o., Ltd.” หรือในชื่อย่อว่า “ผิงอันเฮลธ์” (Ping An Health) เมื่อปลายปี 2014 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้
อย่างที่เราคุยกันไปว่า บริการรักษาพยาบาลของจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การไปใช้บริการโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน คนไข้จำนวนมากในเมืองรองและชนบทต้องใช้เวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ และมีระดับความพึงพอใจต่อบริการที่ต่ำ เหล่านี้สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจหากธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวจีนได้
เพื่อแก้ไขปัญหาความยุ่งยาก และประหยัดเวลาในการเดินทางและการใช้บริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล บริษัทจึง “ป่วยตลาด” ด้วยการนำเอาระบบการจัดการด้านสุขภาพสมัยใหม่ และเสริมสมรรถนะด้านเฮลท์เทค (Health Tech) มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ที่รอบด้าน ซึ่งครอบคลุมคนไข้ ผู้ให้บริการ และผู้ชำระค่าบริการผ่านโปรแกรมเฮลธ์ 360 (Health 360)
ผิงอันเฮลท์ได้ต่อยอดระบบดิจิตัลด้วยการพัฒนานวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยและออกแบบการรักษาโรคที่พัฒนาขึ้นเองในชื่อสุดเท่ห์ว่า “ถามบ๊อบ” (AskBob) ระบบการจดจำภาพถ่ายทางการแพทย์ และระบบการวินิจฉัยโรคที่มีเอไอรองรับ ซึ่งมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ ถังความคิดด้านสุขภาพ การติดตามผล และการเรียนรู้จากคนไข้รองรับอยู่
ต่อมา ผิงอันเฮลท์ยังได้ประกาศร่วมทุนกับกิจการภายนอกจัดตั้ง Good Doctor Technology Co., Ltd. หรือที่รู้จักกันในนาม “Ping An Good Doctor” ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเฮลท์แคร์อัจฉริยะและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของจีนในยุคใหม่
องค์ประกอบทางกายภาพของ “Ping An Good Doctor” ส่วนหนึ่งอยู่ในรูปของตู้วินิจฉัยโรคอัจฉริยะที่ติดตั้งกล้อง อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องวัดความดัน และมีเครือข่ายออฟไลน์กับสถานพยาบาล คลินิก และสถาบันดูแลสุขภาพรวมกว่า 50,000 แห่ง
Ping An Good Doctor ยังเชื่อมต่อออนไลน์กับโรงพยาบาลหลายพันแห่ง และร้านยานับแสนแห่งทั่วจีน ทำให้สามารถลงทะเบียน ตรวจ วินิจฉัย และให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่คนไข้ รวมถึงการสั่งซื้อและจัดส่งยาผ่านช่องทางออนไลน์ภายใน 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ระบบยังมีแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่อำนวยความสะดวกผู้ป่วยและญาติพี่น้องสามารถค้นหาแพทย์ ปรึกษา และนัดหมายแพทย์ออนไลน์ได้ ส่งผลให้สามารถจัดหาบริการคนป่วยแบบ O2O ได้
ผมสังเกตเห็นตู้อัจฉริยะดังกล่าวถูกติดตั้งกระจายในตามแหล่งชุมชน สถาบันการศึกษา และอื่นๆ ในเมืองใหญ่ทั่วจีน นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด โดยสามารถให้บริการแก่คนไข้ในและคนไข้นอก ทั้งที่เป็นโรคทั่วไปที่มีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงศัลยกรรม และการพักฟื้น
ศักยภาพของ Ping An Good Doctor ดังกล่าวไม่เพียงทำให้บริษัทฯ เคยก้าวขึ้นเป็นแพล็ตฟอร์มเฮลท์แคร์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนจากด้านจำนวนผู้ใช้บริการต่อวันในปี 2016 และทำสถิติไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังทำให้ธุรกิจเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
Ping An Good Doctor ได้ขยายบริการไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อย่างในอาเซียนก็เห็นได้ในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ครั้นเมื่อโควิด-19 ระบาดในจีนก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้บริการเทเลเฮลธ์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในเดือนเมษายน 2020 ผิงอันเฮลธ์ยังได้เปิดตัวแพล็ตฟอร์ม “Good Doctor Global Medical Consultation” ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถนัดหมายและใช้บริการปรึกษาทางการแพทย์ผ่านแอพบนสมาร์ตโฟนได้
นอกจากนวัตกรรมเฮลท์เทคแล้ว บริษัทฯ ยังมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมุมมองด้านการตลาดที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2021 บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผิวหนัง แพทย์แผนจีน นรีเวชศาสตร์และแม่และทารก รวมทั้งยังระดมและบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในอีกหลายด้าน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดึงเอาแพทย์ชื่อดังจำนวนมากกว่า 450 คนมาเป็นเครือข่ายผ่านโครงการ “450 Famous Doctor Studios” มาเสริมคณะแพทย์ภายใน และจัดหาบริการ “Double-Doctor” เพื่อการรักษาพยาบาลเชิงคุณภาพผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ 2 คน
กลยุทธ์ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้ในปี 2021 Ping An Good Doctor มีผู้สนใจใช้บริการทะลุ 400 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นจำนวนพอๆ กับจำนวนประชากรของไทย และระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการพุ่งขึ้นเป็นกว่า 99%
บริการทางการแพทย์ และตลาดเฮลท์แคร์ผู้บริโภคที่เติบใหญ่ในจีนช่วยสร้างรายได้และผลกำไรเป็นอย่างมากให้กับบริษัทฯ โดยเพิ่มรายได้กว่า 7,000 ล้านหยวน และทำกำไรถึงกว่า 35% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา
นี่ไม่ใช่นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ด้านเฮลท์แคร์ที่จีนจะพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน หากจีนเผยโฉมนวัตกรรมด้านเฮลธ์แคร์ที่ล้ำสมัยออกมาอีกในอนาคต ผมจะนำเอาข้อมูลมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านต่อไป ...