ตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลจีนตั้งเป้าให้คนจีนได้รับบริการและมีสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้าภายในปี 2030 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศที่รอบด้าน อาทิ บริการสาธารณสุข อุตสาหกรรมยา ความปลอดภัยด้านอาหารและยา ระบบประกันสุขภาพ วิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ความแข็งแรงทางกายภาพ และเมืองสุขภาพ
ผลจากการความพยายามในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างจริงจังในช่วงหลายปีหลัง ทำให้เราเห็นการสาธารณสุขของจีนเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากนี้ จีนยังเดินหน้ายกเครื่องระบบการจัดการโรงพยาบาลของรัฐ ให้มีบริการที่มีราคาจับต้องได้ ยุติธรรม และถ้วนหน้า
จีนได้หันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการป้องกันมากกว่าการรักษา จากเชิงปริมาณสู่คุณภาพ จากโรคทั่วไปสู่โรคเฉพาะทาง จากเมืองเอกกระจายสู่เมืองรอง จากในชุมชนเมืองสู่ชนบท จากบทบาทภาครัฐสู่ภาคเอกชน จากเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์สู่ยา และอื่นๆ
อุตสาหกรรมยานับเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราได้เห็นนวัตกรรมยาที่คิดค้นในจีนถูกนำไปทดสอบและจำหน่ายในตลาดโลกมากเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนยาก็ได้รับการปฏิรูป ทั้งนี้ นับแต่ปี 2016 หลายร้อยตัวยาได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนยา ตลาดจีนที่ถูกมองเชิงลบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ กลายเป็นศูนย์รวมแห่งโอกาสความร่วมมือและนวัตกรรม
อันที่จริง จีนให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมในภาพรวมมาระยะหนึ่งแล้ว หากมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาก็พบว่า จีนเดินหน้าสานต่อการวางรากฐานด้าน “วิทยาศาสตร์” ในยุคของ เจียง เจ๋อหมิน และ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ในยุคของ หู จิ่นเทา ไปสู่ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง
ผมยังจำได้ว่าในการรายงานสภาประชาชนแห่งชาติราวเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำว่า “นวัตกรรม” ถึง 77 ครั้ง ซึ่งตอกย้ำว่าจีนให้ความสำคัญกับนวัตกรรม
และเมื่อต้นปี 2020 จีนก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในวงการอีกครั้ง ด้วยการประกาศเป้าหมายใหม่ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2030 หรืออีกราวไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า
ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา หลี่ เค่อเฉียง ก็รายงานว่า ในปี 2020 จีนใส่เงินลงทุนในด้านนี้ถึง 2.44 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 2.4% ของจีดีพี และจะเพิ่มงบวิจัยและพัฒนาอย่างน้อย 7% ต่อปีตลอดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ยาวไปจนถึงปี 2025
หากเราเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ที่ 5% ต่อปี ก็เท่ากับว่า สัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังวางแผนจะเพิ่มเงินลงทุนในส่วนของการวิจัยพื้นฐานในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต โดยจะเพิ่มงบส่วนนี้ถึง 10.6% โดยคำกล่าวท่อนหนึ่งระบุว่า “เพื่อปรับปรุงระบบนวัตกรรมของจีน เราจะทำงานให้เร็วขึ้นในการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่ถูกกำหนดจากการพัฒนาของห้องทดลองระดับชาติ พยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในเทคโนโลยีหลักของแต่ละสาขา และออกแบบและดำเนินการตามแผน 10 ปีของการวิจัยพื้นฐาน”
การวิจัยและพัฒนาดังกล่าวของจีนจะครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักภายใต้นโยบาย Made in China 2025 อาทิ ไบโอเทค เซมิคอนดักเตอร์ วัสดุใหม่ พลังงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม และคลาวด์ รวมทั้งอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์
นวัตกรรมยังเกิดขึ้นในส่วนอื่น โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในจีนเกิดขึ้นในวงกว้าง และหล่อหลอมไปสู่ความสร้างสรรค์ บางส่วนยังอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกับองค์กรอื่นในระบบนิเวศ นั่นกำลังบ่งชี้ว่า จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นเสาหลักของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลกในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการยา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้ผลิตยาชั้นนำของโลกหลายรายหันไปเพิ่มการลงทุนในจีน หลายรายเปิดศูนย์นวัตกรรมที่มีขอบข่ายและโมเดลการดำเนินการที่แตกต่างกันในหลายเมืองของจีน ยกตัวอย่างเช่น AstraZeneca เปิดศูนย์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่เมืองอู๋ซี Merck เปิดศูนย์นวัตกรรมในหลายแห่ง และ Novo Nordisk เปิดแพล็ตฟอร์ม INNOVO ในกรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้ Johnson & Johnson นำเสนอแนวคิด JLABS และ F. Hoffmann-La Roche ก็เปิดศูนย์วิจัยใหม่ในเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ Sanofi ก็ประกาศเปิดสถาบันวิจัยระดับโลกที่ซูโจว เป็นต้น
ความสำเร็จในการลงทุนในจีน ทำให้สัดส่วนของรายได้จากตลาดจีนต่อรายได้โดยรวมของกิจการข้ามชาติเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนดังกล่าวอยู่ระหว่าง 25% ในหลายแห่ง
และในปีที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวก็ขยับสูงขึ้นเป็นกว่า 30% ของรายได้โดยรวมเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่บางบริษัทยกตำแหน่งผู้บริหารในจีนเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กร โดยให้รายงานตรงไปยังซีอีโอของบริษัทที่สำนักงานใหญ่
รัฐบาลจีนยังได้ผลักดันการจัดการประชุมใหญ่ด้านยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในจีน อาทิ China Development Forum (CDF) ที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้คณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพหลัก ขณะที่วงการสาธารณสุขโลกก็สนใจใช้จีนในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่ามีซีอีโอจากกิจการข้ามชาติชั้นนำไม่พลาดเข้าร่วมการประชุมเหล่านี้
ประการสำคัญ รัฐบาลจีนยังวางแผนที่จะยกเครื่องระบบสาธารณสุขให้มีความทันสมัย โดยอาศัยนวัตกรรมบนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย โดยถูกคาดหวังว่าจะสร้างระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านหยวนภายในปี 2030
จีนยังมีบทบาทในเรื่องเงินทุนและทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น จีนในวันนี้มีแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาล ทำให้บทบาทด้านเงินทุนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะด้านไบโอเทค
กลุ่มทุนใหม่จำนวนมากพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับกิจการที่มีศักยภาพในเชิงรุก ในปี 2018 กลุ่มทุนจีนมีสัดส่วนถึงราว 40% ในธุรกิจไบโอเทคในสหรัฐฯ กิจการยาและนักลงทุนของจีนยังขยายลงทุนเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในต่างประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต
รองประธานกลุ่มงานต่างประเทศของ AstraZeneca และหัวหน้าทีมประจำภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลางของ Novartis เป็นคนจีน และประจำในเซี่ยงไฮ้
ความสำเร็จยังครอบคลุมถึงการตีพิมพ์บทความทางวิชาการที่ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งเชื้อโรคเฉพาะทาง ข่าวที่องค์กรของจีนเหล่านี้แถลงในอดีตที่มักเป็นข่าวร้าย กลายเป็นข่าวเชิงบวกที่ผู้คนทั่วโลกจับตามอง
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564