ประเด็นของการศึกษา
ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรปและพันธมิตร ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อฮุตสาหกรรมไทย โดยใช้ “แบบจำลองเมตริกซ์ (SAM) ร่วมกับแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค” ในการวิเคราะห์ ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปี 2565 เท่ากับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล
กรณีที่ 2 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปี 2565 เท่ากับ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล
กรณีที่ 3 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปี 2565 เท่ากับ 140 ดอลลาร์/บาร์เรล
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และเงินเฟ้อ
ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เท่ากับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล (กรณีที่ 1) จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และส่งผลกระทบให้มูลค่า GDP ลดลง -0.5% หรือมีมูลค่าลดลงเท่ากับ -26,017.6 ล้านบาท แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 120 ดอลลาร์/บาร์เรล (กรณีที่ 2) จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 4.0% และส่งผลกระทบให้มูลค่า GDP ลดลง -1.6% หรือมีมูลค่าลดลงเท่ากับ -148,820.5 ล้านบาท
และถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์/บาร์เรล (กรณีที่ 3) จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 5% และส่งผลกระทบให้มูลค่า GDP ลดลง -2.9% หรือมีมูลค่าลดลงเท่ากับ -148,820.5 ล้านบาท
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ
สำหรับการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า “ถ้าราคาน้ำมันยิ่งปรับตัวสูงขึ้นจะยิ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้างขึ้น” โดยผลการศึกษาพบว่าถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เท่ากับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล จะส่งผลให้บางอุตสาหกรรมและธุรกิจได้รับผลกระทบในระดับมาก (มูลค่า GDP ของอุตสาหกรรม/ธุรกิจลดลงมากกว่า 1,000 ล้านบาท)
เช่น ขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก ผลิตไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ,ธนาคาร และการบริการธุรกิจ แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เพิ่มเป็น 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้อุตสาหกรรม/ธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยได้รับผลกระทบในระดับมาก และถ้าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2565 เพิ่มเป็น 140 ดอลลาร์/บาร์เรล จะส่งผลให้อุตสาหกรรมและธุรกิจของไทยเกือบทั้งหมดได้รับผลกระทบในระดับมาก โดยรายการอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระดับมากแสดงดังตาราง
สรุปผลการศึกษา
1.ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันที่ที่ปรับตัวสูงใน 3 กรณีจะทำให้ GDP ไทยลดลงมากขึ้น เงินเฟ้อก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
2.ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันที่ที่ปรับตัวสูงใน 3 กรณีจะทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมไทยและภาคธุรกิจขยายผลกระทบไปในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
3.ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่จะได้รับผลกระทบคืออุตสาหกรรมที่ใช้การขนส่งและบริการการขนส่งโดยตรง เช่น การขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก ธนาคารและบริการธุรกิจ และกลุ่มเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิต และหากราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบจะไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม
ข้อเสนอแนะ
1.ตรึงราคามันดีเซลใน 2 ไตรมาสหน้า เพื่อไม่ให้ต้นทุนการขนส่งของภาคอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้น
2.สนับสนุนให้มี “เงินทุนเพื่อพลังงานทางเลือก” โดยให้มีการติดตั้งการใช้พลังงานทางเลือกอื่น เช่น แสงอาทิตย์เพื่อลดคาใช้จ่ายไฟฟ้าในโรงงาน โดยให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่ง
3. “น้ำมันราคาถูกจากเพื่อนบ้าน” ซื้อน้ำมันราคาถูกจากมาเลเซียเป็นกรณีพิเศษ เพราะราคาน้ำมันจากมาเลเซียถูกกว่าไทย 50% ผ่านโครงการ “น้ำมันราคาถูกเพื่ออุตสาหกรรมไทย”