“สุพันธุ์”กับผลงาน 3 สมัย ฝากว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ดันต่อช่วย SME

07 เม.ย. 2565 | 00:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2565 | 08:02 น.

กลางเดือนเมษายนนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)จะมีการเลือกประธานส.อ.ท.คนใหม่ ในโอกาสนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. 3 สมัย (ปี 2557-2559, ปี 2561-2563 และปี 2563-2565) ก่อนหมดวาระ

 

“สุพันธุ์”กับผลงาน 3 สมัย ฝากว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ดันต่อช่วย SME

 

ทั้งนี้ได้พูดถึงผลงาน ภารกิจที่อยากบอกผ่านไปถึงประธานส.อ.ท.คนใหม่สานต่อ  รวมถึงข้อกังวลวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และฝากถึงภาครัฐในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

นายสุพันธุ์ กล่าวถึง หลักการทำงานว่า ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ต้องมีเป้าหมายมาตลอด ตั้งแต่ทำธุรกิจของตัวเอง จนมาถึงบทบาทใน ส.อ.ท. โดยมีเคล็ดลับความสำเร็จที่ปฏิบัติมา คือเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น ยอมถอย เพื่อให้เกิดความสามัคคี  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อใจ ไว้ใจกัน ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพรวมของ ส.อ.ท.  ขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยความสามัคคี

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

 

  • ผลงานเด่นประธาน 3 สมัย

สำหรับการทำงานของ ส.อ.ท.ในยุคที่ตนมีบทบาทตลอด 3 สมัยนั้น จะให้ความสำคัญกับยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ดีให้เอสเอ็มอีเป็นสำคัญ  โดยเฉพาะเร่งผลักดันผู้ประกอบการทั่วประเทศจัดทำงบการเงินตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว และในช่วงวิกฤติโควิด กำลังซื้อในประเทศลดลง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดในประเทศ  จึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบากนี้ไปได้

 

ส.อ.ท.ได้จัดทำ โครงการ Made in Thailand โดยร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT เพื่อให้เข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

 

รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในด้านต่าง ๆ ในการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อร่วมกันดำเนินงานด้านงานวิจัยและพัฒนา การเผยแพร่ข้อมูล และการจัดทำโครงการฝึกอบรมต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบบริการด้านข้อมูล หรือ Data service อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

 

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส.อ.ท. มีการผลักดันจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม ตามโครงการ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมใจสู้ COVID-19” เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 เหล่านี้คือภารกิจหลัก ยังไม่นับรวมภารกิจย่อย อื่น ๆ ที่ร่วมผลักดันโดยยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

 

“สุพันธุ์”กับผลงาน 3 สมัย ฝากว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ดันต่อช่วย SME

 

 

  • เตรียมจัดงานใหญ่ FTIEXPRO 2022

นายสุพันธุ์ ยังกล่าวอีกว่า ล่าสุดส.อ.ท.เตรียมจัดงานใหญ่ FTI EXPO 2022 ภายใต้แนวคิด BCG โมเดล หรือ Bio Cicular Green Economy อุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ขานรับนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งการจัดงานจะครอบคลุม 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ รวมกว่า 400 ราย

 

ภายในงานยังมีการจัดสัมมนา การเจรจาธุรกิจ  รวมสุดยอดผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ด้านนวัตกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งซีอีโอชั้นนำระดับประเทศ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายการขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต โดยงาน FTI EXPO 2022 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 3 ก.ค. 65 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่

 

  • ฝากประธานคนใหม่ดันต่อช่วย SME

นายสุพันธุ์ ยังสื่อผ่านไปถึงว่าที่ประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ที่จะมารับช่วงว่า ต้องให้ความสำคัญในการดูแลเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และเดินบทบาท ของ ส.อ.ท. ด้วยความเป็นกลาง

 

“บทบาทของ ส.อ.ท. คือเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาให้กับรัฐบาลเห็นและก้าวต่อไป คือร่วมกันทำงานอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น  ทั้งภาครัฐ-เอกชน  วันนี้เรามองว่ารัฐบาลน่าจะเปิดประเทศแล้ว เราต้องเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แล้ว รวมถึงต้องการให้ประธาน ส.อ.ท.คนต่อไปสานต่อการแก้ไข พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มสมาชิกได้มากขึ้น และหาสถานที่ถาวรในการตั้งสำนักงาน ส.อ.ท. ซึ่งที่เดิมอยู่ได้อีกราว 20 ปี ก็เป็นภารกิจที่ต้องมองหาไว้ล่วงหน้า”

 

  • กังวลวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน

ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและภาคธุรกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าพลังงานพุ่งต่อเนื่อง ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น และกระทบนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทย และกระทบการค้าไทย-รัสเซียลดลง หากผลกระทบลามไปยังยุโรปก็จะกระทบต่อการส่งออกไทยมากขึ้น

 

 “สิ่งที่ห่วงในขณะนี้คือภาคประชาชนและภาคการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากตามราคาพลังงาน-ค่าขนส่ง  ค่าไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเวลานี้แบกภาระต้นทุนสูงขึ้นมาก ขณะที่ราคาสินค้าปรับขึ้นยาก ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ แต่มีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ พุ่งสูงขึ้นรอบด้าน  บางคนตกงาน ใช้ชีวิตยากขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงแต่รายได้เท่าเดิม  ผลกระทบเหล่านี้รัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ไข และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติให้ได้ในเร็ววัน”

 

  • เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่ามีเครื่องมือตัวไหน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้ได้บ้าง นายสุพันธุ์มองว่า นับจากนี้กลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ น่าจะมาจาก 1.การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ-เอกชน จะช่วยได้ปลุกเศรษฐกิจภายในประเทศก่อน  2.ภาพรวมการส่งออกตอนนี้ยังเสียหายน้อย การส่งออกไปประเทศยูเครน รัสเซียที่ผ่านมาก็ไม่ได้สูงมาก

 

 3.การท่องเที่ยวปี 2565 คาดการณ์ว่าจะดีกว่าปี 2564 เพราะวิกฤติโควิดคลายตัวลง และถ้าไทยยกเลิก Test & Go ทั้งหมดทุกอย่างจะดีขึ้น  ซึ่งหลายประเทศก็จะกลับมาเปิดประเทศมากขึ้น  จึงคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวไทยปีนี้อย่างน้อย 5-6 ล้านคน และถ้าไทยเปิดกิจกรรมต่างๆ ก็จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้เป็นปกติได้ การท่องเที่ยวถ้าฟื้นตัวเร็ว นักท่องเที่ยวก็จะกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น 4.การลงทุนไทยยังได้เปรียบตรงที่อยู่ในสมรภูมิที่ดี ก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาไทยจำนวนหนึ่งก่อนแล้ว

 

“สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาลคือการวางนโยบายร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยจะต้องเอาข้อเสนอของเอกชนมาคุยกับรัฐบาล แต่เวลานี้ข้อเสนอกลายเป็นภาครัฐเป็นฝ่ายชี้มา โดยวาระทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นของรัฐ  อยากให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐ-เอกชนที่มีอะเจนด้าของภาคเอกชนร่วมด้วย จากที่เวลานี้ข้อเสนอจากภาคเอกชนที่ส่งตรงถึงรัฐบาล บางเรื่องก็ได้รับการตอบรับ แต่บางเรื่องที่สำคัญก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ”

 

  • ภารกิจหลังพ้นตำแหน่ง

นายสุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้จะพ้นจากประธานส.อ.ท.ไปแล้ว แต่โดยตำแหน่งยังเป็นประธานกิตติมศักดิ์อยู่ และยังมีบทบาทในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) 2022 ที่ยังต้องร่วมกันเดินหน้าต่อ เพราะมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้นำและภาครัฐ ในประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเสนอมุมมองในหลากหลายประเด็นกับคณะทำงานด้านต่าง ๆ ของ ABAC ด้วย

 

ส่วนความเห็นบทบาททางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้นายสุพันธุ์ ให้ความสนใจนั้น   ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ยอมรับว่าเวลานี้เศรษฐกิจประเทศชาติกำลังมีปัญหา การเข้า มามีบทบาทในทางด้านการเมือง ต้องคำนึงถึงความเสียสละ ความซื่อสัตย์ มุ่งมั่นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ ในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ดี สร้างความร่วมมือปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3772 วันที่ 7 – 9 เมษายน 2565