“ไห่หนาน”จากภาระกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (จบ)

07 พ.ค. 2565 | 02:15 น.

“ไห่หนาน”จากภาระกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฉบับ 3780 โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

คราวก่อนผมพาไปรู้จักเมืองเอกและเศรษฐกิจหลักที่สร้างชื่อเสียงให้มณฑลไห่หนานอย่างนครไหโค่วไปแล้ว วันนี้ผมจะพาไปรู้จักเมืองเศรษฐกิจอื่นกันครับ ...  

 

เมื่อกล่าวถึง “โป๋วอ่าว” (Boao) คนไทยส่วนใหญ่คงนึกถึงเมืองที่ใช้เป็นสถานที่จัดการประชุม “โป๋วอ่าวฟอรั่มเพื่อเอเซีย (Boao Forum for Asia) ที่ริเริ่มมากว่า 2 ทศวรรษ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จนเปลี่ยนโป๋วอ่าว เมืองริมทะเลขนาดเล็กด้านซีกตะวันออกของไห่หนานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยลำดับ 

 

หลายคนนึกถึงเวทีการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกที่ก่อตั้งมาก่อนราว 3 ทศวรรษอย่าง “World Economic Forum” (WEF) ที่จัดเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส (Davos) สวิตเซอร์แลนด์ จนขนานนาม “โป๋วอ่าวฟอรั่มเพื่อเอเซีย” ว่าเป็นเสมือน “WEF  แห่งเอเซีย” หรือ “Asian Davos”

 

ยิ่งเศรษฐกิจจีนเติบใหญ่และขยับเข้าใกล้เบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐฯ มากขึ้นเท่าไหร่ งานประชุมนี้ก็ดูจะมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในระดับนานาชาติ แนวคิดหลักในแต่ละปีก็เปลี่ยนจากการให้ความสนใจในระดับภูมิภาค (เอเซีย) ไปสู่ระดับโลกมากขึ้น จนทำให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งนักวิชาการจากทั่วโลกต่างยินดีบินข้ามน้ำข้ามทะเลมากระทบไหล่กับคนดังของจีนในงานพิเศษนี้ในทุกช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีกันเป็นแถว

ไม่แน่นะครับ เมื่อแกนเศรษฐกิจโลกหันมาอยู่ที่โลกตะวันออก โดยมีจีนเป็นผู้นำที่ชัดเจนในอนาคต ผู้จัดงานอาจปรับเปลี่ยนชื่องานประชุมโป๋วอ่าวฟอรั่มนี้ โดยลดถ้อยคำ “for Asia” หรือเปลี่ยนเป็น “for the World” ก็เป็นได้


นอกจากนี้ จีนยังได้กำหนดให้โป๋วอ่าวเป็น “พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนานาชาติ” (International Medical Tourism Pilot Zone) ผมจำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน จีนพยายามสร้างภาพลักษณ์ของระบบ 5G และด้านการรักษาพยาบาลแบบ “เทเลเมดดิซิน” (Telemedicine) ด้วยการให้นายแพทย์ชั้นนำที่ปักกิ่งผ่าตัดสมองทางไกลคนไข้ที่นอนรอรับการรักษาอยู่ที่ไห่หนาน


ในอนาคต เมื่อโครงการนี้พัฒนาเป็นรูปธรรม มหาเศรษฐี นักธุรกิจ และศิลปิน ดารา และคนที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกสามารถมาร่วมประชุมโป๋วอ่าวฯ ทำงาน และบริหารงานทางไกลควบคู่ไปกับการพักผ่อนและดูแลสุขภาพในโป๋วอ่าวได้อย่างสบาย


เมืองตานโจว (Danzhou) ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ถือเป็นอีกเมืองที่เปี่ยมด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจหยางผู่ (Yangpu Economic Development Zone) และท่าเรือหยางผู่ (Yangpu Port) ที่อยู่ติดกัน


ท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไห่หนาน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ท่าเรือมีปริมาณการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์กว่า 403,000 ตู้ เพิ่มขึ้นถึง 61.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา


ในโอกาสเยือนไห่หนานในครั้งนี้ สี จิ้นผิง และคณะได้ไปตรวจเยี่ยมและสำรวจความคืบหน้าของโครงการขยายท่าเรือหยางผู่ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2021 ซึ่งตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ท่าเรือแห่งนี้จะถูกใช้เพื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือในพื้นที่เกรตเตอร์เบย์ (Greater Bay Area) และพื้นที่หลังท่าด้านซีกตะวันตกของจีน

                                     “ไห่หนาน”จากภาระกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (จบ)
และโดยที่ไห่หนานเป็นเสมือนจุดเชื่อมของระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบก-ทางทะเลแห่งใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภูมิภาคอาเซียน โดยอยู่ห่างจากท่าเรือหลักในอาเซียนกว่า 10 แห่งไม่ถึง 500 ไมล์ทะเล ผู้นำจีนจึงอยากให้ไห่หนานสนับสนุนส่งเสริมนโยบาย BRI และกำหนดเป้าหมายให้ไห่หนานมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนถ่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศที่สำคัญทางตอนใต้ของจีน และมีอิทธิพลระดับโลกในระยะยาว


จังหวะเวลาก็ดูช่างเหมาะเจาะยิ่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับแรกของจีน ขณะที่จีนก็เป็นคู่ค้าอันดับแรกของอาเซียนตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา แถมโครงสร้างอุตสาหกรรมของไห่หนานก็มีความคล้ายคลึงกับของหลายประเทศในอาเซียน ทำให้ง่ายต่อการเชื่อมโยงคลัสเตอร์และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน 


นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังต้องการเห็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจหยางผู่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างของการปฏิรูปและการเปิดประเทศยุคใหม่ของจีน สามารถรองรับการสร้างนวัตกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาชั้นเลิศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กิจการที่สามารถแยกส่วนงานวิจัยออกจากด้านการผลิต และช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานเชิงลึก อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี


ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเกาะก็มีซานย่า (Sanya) เมืองพักผ่อนตากอากาศริมทะเลชื่อดังของจีน ในช่วงหลายปีก่อน จีนยังจัดคณะมาศึกษาดูงานพัทยาและเมืองตากอากาศในบ้านเรา แต่ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซานย่ากลายเป็นสถานที่พักผ่อนและกีฬากลางแจ้งชั้นนำไปแล้ว 


ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องมีบทบาทราว 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจของเมืองนี้ และในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่จีนยังไม่เปิดให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเสรีดังเช่นแต่ก่อน ซานย่าก็รับ “ส้มหล่น” จากนักท่องเที่ยวจีนที่อยากมาพักผ่อนที่ไทยไปแบบเต็มๆ 


ในโอกาสเยือนไห่หนานในครั้งนี้ ผู้นำจีนและคณะยังได้ไปตรวจเยี่ยม Ocean University of China และสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทะเลลึก (Institute of Deep-Sea Science and Engineering) ซึ่ง Chinese Academy of Sciences สถาบันระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ของจีน ได้จัดตั้งขึ้นที่เมืองซานย่านับแต่ปี 2011 อีกด้วย ดังนั้น สถาบันแห่งนี้จึงคาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นเวทีในการวิจัยทะเลลึกที่สำคัญของจีนในอนาคต


หลิงสุ่ย (Lingsui) เป็นอีกเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของไห่หนาน เมืองนี้ถูกออกแบบให้เป็น “ศูนย์กลางด้านการศึกษายุคใหม่” ที่มีโมเดลการพัฒนาที่น่าสนใจมาก โดยในระยะแรก จะมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือของสถาบันการศึกษาจีนกับนานาชาติในระดับปริญญาตรีขึ้นไป หรือการสร้างหลิงสุ่ยให้กลายเป็น “เมืองมหาวิทยาลัยนานาชาติ” และจะขยายสู่สถาบันการศึกษานานาชาติระดับต่ำกว่าปริญญาตรีลงมาถึงอนุบาลในระยะยาว เพื่อก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาระว่างประเทศ” อย่างที่วาดไว้


หลิงสุ่ยอยู่ห่างจากซานย่าไม่ถึง 70 กิโลเมตร ยิ่งพอส่องไปดูพื้นที่ในเชิงลึกก็พบว่า รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดสรรพื้นที่ราว 8,000 ไร่ในภูมิทัศน์ที่มีท้องทะเลอันกว้างใหญ่อยู่ด้านหน้า และมีทิวเขาล้อมอยู่ในด้านหลัง จึงนับว่า ทำเลของโครงการมีฮวงจุ้ยที่ดีเยี่ยม 


ยิ่งพอนึกถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกยุคใหม่ที่รัฐบาลจีนจะลงทุนพัฒนาด้วยแล้ว ครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องน่าจะเพลิดเพลิน สะดวกสบาย และมีความสุขอย่างมากในการใช้ชีวิตในพื้นที่โครงการ


รัฐบาลท้องถิ่นยังก่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมที่สะดวก แถมยังมีจุดจอดสถานีรถไฟความเร็วสูงของตนเอง ทำให้นักศึกษาสามารถบินไปลงสนามบินที่ซานย่าและนั่งรถไฟความเร็วสูงต่อไปอีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง หรือนั่งรถเมล์ประจำทางหรือขับรถต่อก็ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงก็ถึงหอพักแล้ว 


ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนา FTP ไห่หนานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เราน่าจะเห็นหลายเมืองเศรษฐกิจเติบใหญ่และเป็นที่รู้จักมากขึ้น มณฑลไห่หนานจะเต็มไปด้วยสีสันของการพัฒนาที่น่าสนใจยิ่งในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า


จาก “ภาระ” ด้านเศรษฐกิจจีนในอดีต ไห่หนานกำลังเปลี่ยนตนเองเป็น “พลัง” ทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน และจะยกสถานะเป็นมณฑลที่มี “บทบาทนำ” ในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในเชิงคุณภาพในอนาคต ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน