นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนไม่ดี เป็นผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกและของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ลดลง
ต่อเรื่องนี้ นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเฉพาะในครึ่งหลังของปี 2565 ที่เขามองว่าน่าจะเป็นปีแห่งความผันผวนและไม่แน่นอนสำหรับธุรกิจเหล็ก รวมถึงข้อกังวลกรณีเหล็กจากจีนที่อาจกลับมาทุ่มตลาดเหล็กในไทยและในอาเซียนอีกครั้งก็อาจเป็นไปได้ ขณะที่การใช้กำลังการผลิต ในประเทศยังอยู่ในภาวะต่ำมาก
มองการเคลื่อนไหวครึ่งปีหลัง
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ประเมินภาพอุตสาหกรรมเหล็กครึ่งปีหลังปี 2565 ว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกจะขึ้นลงตามปัจจัยหลัก คือ ต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ สินแร่เหล็ก เศษเหล็ก และต้นทุนของพลังงานที่ใช้ทั้งถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนค่าขนส่ง โดยปัจจัยหลักเหล่านี้มีความผันผวนมากในปี 2565 จากภาวะสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เพราะทั้งสองประเทศนี้รวมกัน เป็นแหล่งผลิตสินแร่และแก๊สมากสุดถึง 1 ใน 5 ของโลก เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบสัดส่วน 1 ใน 10 ของโลก และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเหล็กสัดส่วน 1 ใน 20 ของโลก
นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ยิ่งส่งผลให้ราคาเหล็กเปลี่ยนแปลงในช่วงกว้างได้ ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็ก ที่สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กของทั้งโลกในปี 2565 จะมีปริมาณ 1,804.2 ล้านตัน ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.4% จากปีก่อน
สำหรับการใช้เหล็กในไทยมองว่า การที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศไทย ในโครงการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐนั้น เป็นนโยบายที่ดีและเหมาะสมยิ่งในช่วงที่ไทยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างมาก ซึ่งช่วยให้การใช้เหล็กในโครงการก่อสร้างภาครัฐยังเดินหน้าและมีปริมาณสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐสามารถพิจารณาการปรับราคาค่างานก่อสร้าง (ค่า K) ให้สอดคล้องกับราคาวัสดุก่อสร้างตาม Supply Chain จะสามารถช่วยผู้ประกอบการรับเหมางานก่อสร้าง
นอกจากนั้น หากสามารถขยายผลให้การจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือโครงการ Public Private Partnership (PPP) ส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศด้วย จะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจของชาติฟื้นตัวและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น
ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชน แม้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็เป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เพราะภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสินค้าเหล็กในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 64 ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะถ้าไม่เกิดปัญหาขาดแคลนชิพและชิ้นส่วน น่าจะมียอดผลิตที่ฟื้นตัวดีและสูงกว่านี้
ยังต้องจับตาสงคราม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุน และห่วงโซ่การผลิตสินค้าหลายประเภทของโลกรวมถึงเหล็กด้วย และความขัดแย้งอาจลุกลามไปเป็นสงครามเย็น (Cold War) ทั่วโลกได้ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด
นอกจากนี้กรณีที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป ตอบโต้รัสเซียโดย sanction สินค้าจากรัสเซียรวมถึงสินค้าเหล็กด้วยนั้น ประเทศไทยต้องระมัดระวัง อาจมีการนำเข้าสินค้าเหล็กจากรัสเซีย โดยสำแดงประเทศแหล่งกำเนิดอันเป็นเท็จ ซึ่งประเทศไทยอาจถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงานด้วยกฎหมาย Secondary Sanction และสินค้าเหล็กบางประเภทของรัสเซียซึ่งถูกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) อยู่อาจฉวยโอกาสหลบเลี่ยงมาตรการดังกล่าว
ส่วนเรื่องระยะกลาง การกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการค้าสินค้าเหล็ก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 และ 2569 ตามลำดับ จะมีผลกระทบรุนแรงต่อสินค้าเหล็กของไทยที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงแนวโน้มที่ประเทศต่างๆทั่วโลกอาจใช้มาตรการตามแนวทางดังกล่าวด้วย
สงครามดันราคาเศษเหล็กพุ่ง
เช่นเดียวกับเรื่องราคาเศษเหล็กในตลาดโลกในปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 ไม่ได้ผันผวนมาก แต่หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งรัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ราคาเศษเหล็กในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกยกเว้นในจีน ปรับตัวสูงขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จนขึ้นไปสูงสุดในเดือนมีนาคม อันเนื่องมากจากความตระหนกของตลาดโลกว่าวัตถุดิบในการผลิตเหล็กอาจขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ราคาเศษเหล็กในตลาดโลกได้อ่อนตัวลงตามดีมานด์เหล็กที่ไม่ค่อยดี ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา จนปัจจุบันใกล้เคียงกับระดับราคาปี 2564 แล้ว
สำหรับประเทศไทยเรามีเศษเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้อยู่แล้ว โดยมีอัตราเศษเหล็กเพียงพอต่อการใช้งาน (Scrap Self-Sufficiency Rate) ราว 65% เท่านั้น และต้องพึ่งพิงการนำเข้าเศษเหล็กปีละเกือบ 2 ล้านตัน ซึ่งปัญหาขาดแคลนเศษเหล็กมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประเทศต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการเศษเหล็กเพื่อนำมาหลอมผลิตเหล็กมากขึ้น ตามกระแสลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ของโลก
ประเมินสถานการณ์เหล็กจากจีน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. ยังตั้งข้อสังเกตอีกถึง ความเคลื่อนไหวเหล็กจากจีนหนึ่งในแหล่งทุ่มตลาดเหล็กตัวหลักในไทยนั้น ไตรมาสแรกของปี 2565 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กปริมาณเกือบ 7.9 แสนตัน มายังไทย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -5% โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็กจากจีนที่ไทยยังไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) หรือมาตรการ AD นั้นถูกยกเลิกไป เช่น เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้มีสินค้าเหล็กจากจีนบางประเภท ที่มีการนำเข้าโดยหลบเลี่ยงมาตรการ AD เช่น สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบ และสินค้าเจืออัลลอยด์ เป็นต้น
แม้รัฐบาลจีนพยายามปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเหล็กของจีน และควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กในปี 2565 ให้ไม่เกิน 1,035 ล้านตัน แต่จีนก็ยังเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของโลก โดยคาดว่าจีนจะมีการใช้เหล็กเองภายในประเทศ 952 ล้านตัน ดังนั้นจะยังคงเหลือเหล็กจีนส่งออกไปทั่วโลกปริมาณมากแม้แนวโน้มจะลดลงจากปี 2564 โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กไปทั่วโลกแล้ว 18.2 ล้านตัน
สิ่งที่น่าห่วงยิ่งคือ ภาวะเศรษฐกิจปี 2565 ของจีนแนวโน้มไม่ค่อยดี เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยไตรมาส 1 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 4.8% จากเป้าเดิม 5.5% ของทั้งปี จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เหลือเพียง 4.4% เท่านั้น หากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่นี้ไม่บรรลุผล ก็มีความเสี่ยงที่ความต้องการใช้เหล็กของประเทศจีนอาจลดลง จนสินค้าเหล็กจากจีนต้องเร่งระบายและทุ่มตลาดมายังอาเซียนและไทยซึ่งอยู่ใกล้เคียงและเป็นเป้าหมายหลัก
กังวลยังมีนำเข้าสูง10 ล้านตันต่อปี
นายนาวา กล่าวถึงข้อกังวลในอุตสาหกรรมเหล็กว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเพียงการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าเหล็กบางประเภทจากบางประเทศที่มีพฤติกรรมทุ่มตลาดจริงเท่านั้น โดยไม่มีมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น มาตรการตอบโต้การอุดหนุน แต่อย่างใด
ที่ผ่านมา การพิจารณา AD ของประเทศไทยเกือบทุกกรณี กระทรวงพาณิชย์ใช้ระยะเวลานานกว่าจะเปิดไต่สวน และพิจารณาไต่สวนนานเต็มกรอบเวลาสูงสุด ไม่รวดเร็วเช่นหลายประเทศ และการบังคับใช้มาตรการ AD ก็มีการผ่อนคลายยกเว้นในกรณีต่างๆ ด้วยอยู่แล้ว ซึ่งมั่นใจว่าคณะกรรมการพิจารณาการตอบโต้การทุ่มตลาดที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานต้องพิจารณาโดยรอบคอบและเป็นธรรม ซึ่งแม้มีการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแล้ว ก็ยังมีการนำสินค้าเหล็กเข้าประเทศไทยราว 10 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 61% ของความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย
“หากเราไม่สามารถรักษาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไว้ได้ ความมั่นคงทั้งทางอุตสาหกรรมและความมั่นคงแห่งชาติของไทยย่อมอ่อนแอจนไม่สามารถรับมือหากเกิดวิกฤติ”
ปัจจุบัน ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งมีการลงทุนรวมไปหลายแสนล้านบาท แต่มีการใช้กำลังการผลิต (Production Utilization) เพียง 33% เท่านั้น ซึ่งต่ำมากและยังน่าเป็นห่วง สาเหตุเบื้องต้น คือ 1. สินค้าเหล็กบางประเภททุ่มตลาดเข้ามา ในขณะที่มาตรการตอบโต้ทางการค้ายังไม่ทันการณ์และไม่มีประสิทธิผลพอ 2.โครงสร้างอุตสาหกรรมผลิตเหล็กมีปัญหา โดยผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภท เช่น เหล็กเส้น มีการส่งเสริมการลงทุนและให้เปิดโรงงานจำนวนมาก จนกำลังการผลิตล้นเหลือมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ
ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมเหล็ก 8 สมาคม ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมั่นใจว่า หากภาครัฐและอุตสาหกรรมเหล็กร่วมมือกันผลักดันและดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้จริง จะสามารถแก้ปัญหาซ้ำซากดังกล่าวได้