สหรัฐเปิดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถ EV ลุยเพิ่ม 5 แสนจุดใน 8 ปี

14 ก.ค. 2565 | 23:28 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 07:02 น.

ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าฉบับล่าสุด สหรัฐตั้งเป้าเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 500,000 จุดทั่วประเทศ ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของ สหรัฐอเมริกา เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา (2564) แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ทุกประเภทในปี 2563-2564 กล่าวคือ มียอดขายที่ประมาณ 6 แสนคันจากยอดขายรถยนต์แบบ light vehicle ทั้งหมด 14.9 ล้านคัน โดยมี บริษัทเทสลา (Tesla) เป็นผู้นำด้วยยอดขายกว่า 3 แสนคัน

 

ปัจจุบัน ยังคงมีการแข่งขันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้นรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากค่ายรถต่าง ๆ เช่น เจเนอรัล มอเตอร์ (GM) และฟอร์ด (Ford) ที่เริ่มมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้ามาของค่ายรถยนต์ต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่ทยอยประกาศแผนการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ

สหรัฐฯ ตั้งเป้าเพิ่มสถานีชาร์จรถอีวี 500,000 จุดภายในปี 2573

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 สหรัฐได้ประกาศ แผนงานการพัฒนาเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ได้ 500,000 จุดภายในปี 2573 มีรายละเอียด ดังนี้

 

1. แผนงานที่ดำเนินการแล้ว

สหรัฐได้ทำโครงการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดย จัดสรรเงินลงทุนภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น

  • 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการ National Electric Vehicle Infrastructure (NEVI) โดยสนับสนุนเงินทุนให้แก่มลรัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานริมทางหลวงและในพื้นที่ห่างไกล
  • และอีก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นเงินสนับสนุน (competitive grant) ให้แก่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกทำโครงการพัฒนาคุณภาพอากาศ และส่งเสริมการเข้าถึงการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส

นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรเงินทุน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับจัดหาแร่ธาตุจำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และเพื่อการรีไซเคิล รวมถึงสร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตและแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตร้อยละ 50 ของรถยนต์ใหม่ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 และกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ

 

แผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ ให้อำนาจแต่ละมลรัฐในการจัดซื้อยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด โดยให้จัดซื้อยานยนต์ขนาดเล็ก (zero-emission light-duty vehicles) ทั้งหมดภายในปี 2570 และรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ภายในปี 2578 และกําหนดมาตรฐานสูงสุดของรถยนต์ปล่อยก๊าซไอเสียและมาตรฐานประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

เพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวีทั่วประเทศ รองรับการขยายตัวของตลาดยานยนตร์ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

2. แผนงานที่สำคัญของรัฐบาลกลางสหรัฐ

  1. กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันจัดตั้ง Joint Office of Energy and Transportation 
  2. และตั้งคณะกรรมการกลาง Electric Vehicle Working Group (EVWG) เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การคมนาคม และระบบพลังงาน 
  3. กระทรวงพลังงานจัดสรรเงินทุนจำนวน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดโครงการ EVs4ALL ส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า
  4. หน่วยงานบริการทั่วไป (General Services Administration) จัดทำร่างสัญญา (Blanket Purchase Agreements) สำหรับหน่วยงานรัฐบาลในการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้บริการชาร์จไฟฟ้า
  5. กระทรวงพาณิชย์ตั้งนโยบายสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ที่เกี่ยวกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2565 สหรัฐได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘2022  Select USA Investment Summit’ เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี และเน้นย้ำถึง โอกาสด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าภายในสหรัฐภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐานฉบับใหม่ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศอีกด้วย

 

ที่ผ่านมา แต่ละมลรัฐจะมีนโยบายในส่งเสริมสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น ให้ที่จอดรถฟรี ยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียน การได้รับ tax credit การยกเว้นค่าผ่านทาง และการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการประกาศส่งเสริมของรัฐบาลกลางข้างต้น น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐมากขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

ที่ผ่านมาแต่ละมลรัฐ มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างหลากหลาย เช่น ให้ที่จอดรถฟรี เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจประเภทชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ อาจพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่าง ‘2022  Select USA Investment Summit’ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ไทยเราอาจได้ช่องทางการลงทุนเพิ่มเติมในตลาดสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากการลงทุนในประเภทพลาสติก สารเคมี อาหารและเครื่องดื่ม ซอฟท์แวร์และบริการด้าน IT และอุปกรณ์ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทย-สหรัฐ ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังโควิด-19 อีกด้วย

 

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ /สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน