จีน เปิด เส้นทางรถไฟ เชื่อมโยงต่างประเทศสายใหม่ระหว่าง จีน-เมียนมา (นครฉงชิ่ง เมืองหลินชาง-ประเทศเมียนมา) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 โดยเดินทางออกจากท่าเรือกว่อหยวน ในเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง นครฉงชิ่ง ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 60 ตู้ ภายในมีสินค้าต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องกล ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ฯลฯ
เส้นทางการขนส่งดังกล่าวดําเนินการโดยความร่วมมือของบริษัท YUXINOU (Chongqing) Logistics บริษัท COSCO SHIPPING Logistics และ บริษัท SOUTH ASIA FUTURE GROUP โดยเดินทางผ่านนครฉงชิ่ง - เมืองหลินชาง มณฑลยูนนาน - เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา รวมระยะทาง 2,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 15 วัน ซึ่งเร็วกว่าเส้นทางขนส่งปกติถึง 20 วัน และช่วยลดค่าใช้จ่าย 20% โดยเส้นทางขนส่งสายนี้ สามารถลำเลียงสินค้าจากนครฉงชิ่งและพื้นที่โดยรอบออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านช่องทางสู่ทะเลของเมียนมา และสามารถเชื่อมต่อกับยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
ทั้งนี้ บริษัท YUXINOU (Chongqing) Logistics กําลังเร่งเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งขากลับจากเมียนมา มายังนครฉงชิ่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เส้นทางขนส่งสายใหม่นี้ เชื่อมโยงเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง เป็นเส้นทางเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างจีนตะวันตกเฉียงใต้กับมหาสมุทรอินเดียที่สะดวกและสั้นที่สุดในปัจจุบัน ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และเชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ช่วยส่งเสริมโลจิสติกส์ “เส้นทาง+ฮับ+เครือข่าย” ของนครฉงชิ่ง และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
นอกจากนี้ จีนยังมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมทางบกและทางทะเลจากนครเฉิงตูและเมืองเต๋อหยาง ในมณฑลเสฉวน ไปยังเมียนมา โดยมีเป้าหมายใช้เมืองหลินชางเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อไปยังยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียใต้
ในอีกด้านหนึ่ง ท่าเรือกว่อหยวนนับเป็นเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่สําคัญและเป็น “ประตูสู่เศรษฐกิจของจีนตะวันตก” ปัจจุบัน ช่องทางการส่งออกจากท่าเรือกว่อหยวนไปยังเมืองอื่นภายในประเทศและต่างประเทศมีอยู่หลายช่องทาง เช่น เส้นทางขนส่งทางแม่น้ำแยงซี เส้นทางขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (ILSTC) และเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 ได้มีการเปิดเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศ ระหว่างจีน-เวียดนาม จากท่าเรือกว่อหยวน ในนครฉงชิ่ง ไปยังนิคมอุตสาหกรรมไฮฟอง ในกรุงฮานอย อีกทั้งเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ยังได้มีการเปิดเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเล จากแม่น้ำแยงซี-คาบสมุทรอินโดจีน โดยรถไฟจะเดินทางจากท่าเรือกว่อหยวนไปยังเมืองเวียงจันทน์ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
การเปิดเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศสายใหม่ระหว่างจีน-เมียนมา สะท้อนให้เห็นว่า จีนให้ความสําคัญกับการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีน และมุ่งมั่นส่งเสริมนครฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและเชื่อมต่อกับอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มตัวเลือกและอํานวยความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่งและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคจีนตะวันตกมากยิ่งขึ้นในอนาคต
เส้นทางรถไฟสายใหม่ระหว่างนครฉงชิ่ง-เมืองมัณฑะเลย์เป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้า และการค้าระหว่างจีน-เมียนมา จากระยะเวลาที่ลดลง ซึ่งไทยเองจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปยังเมียนมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หรือ Super Gateway ในการเชื่อมโยงและกระจายสินค้าไปยังจีน อินเดีย และมีศักยภาพด้านการลงทุน เนื่องจากเนืองแน่นไปด้วยนักธุรกิจ SME และยังเป็นหนึ่งใน ASEAN Smart City ที่สำคัญอีกด้วย โดยสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุนในมัณฑะเลย์นั้น ได้แก่ ธุรกิจซื้อ-ขาย สินค้าเกษตรแปรรูป และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังมีแผนจะเชื่อมต่อกับอาเซียน เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยไทยเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายที่สำคัญของจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ EEC ในอนาคต
เราจึงอาจได้เห็นการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน และกระจายไปยังต่างประเทศ หรือภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ยิ่งขึ้น ดังนั้น การปรับตัวด้านศักยภาพและคุณภาพของสินค้าและแรงงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งพัฒนาในระหว่างนี้
คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ /สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู