การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ “รัฐบาลเศรษฐา” ในวันที่ 11 กันยายน 2566 มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ได้จัดทำไว้แล้ว ซึ่งรัฐบาล โดยกำหนดกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
คำแถลงของนายกรัฐมนตรี ระบุเหตุผลว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้า จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวน ที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย
ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
ที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใส ให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
เปิดนโยบายเร่งด่วน
การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายอีกหลากหลายประการที่สามารถทำได้โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายดังต่อไปนี้
แก้ปัญหาหนี้สิน
นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
ลดรายจ่ายด้านพลังงาน
นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการ ราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รวมทั้งเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป
สร้างรายได้การท่องเที่ยว
นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า
การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วม งานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี
รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้างานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่าง ๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการ ที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น
รวมทั้งแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเทียว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
แก้ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ
นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไข ในหมวดพระมหากษัตริย์
โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
ทั้งนี้เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ