นโยบายนายกฯ เศรษฐา 1 ตรงปกหรือไม่ และฟื้นเศรษฐกิจได้เพียงใด

15 ก.ย. 2566 | 00:09 น.

นโยบายนายกฯ เศรษฐา 1 ตรงปกหรือไม่ และฟื้นเศรษฐกิจได้เพียงใด : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย... ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3923

จบไปแล้วการแถลงนโยบายของรัฐบาลใช้เวลา 2 วัน พรรคฝ่ายค้านออกมาอัดว่า เป็นนโยบายไม่ตรงปก ขาดทิศทาง ไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงและใช้เงินมากจนทำให้ไทยกลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” อาจเป็นปัญหาขาดเสถียรภาพทางการคลังในอนาคต 

นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเป็นเสมือนสัญญาประชาคม และโรดแมปทางเดินของประเทศ ว่า ในช่วง 4 ปี หากรัฐบาลอยู่ครบจะเดินไปทางไหน และเมื่อถึงจุดหมายจะฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งต้องมีดัชนีชี้วัดที่ฝ่ายค้านจะต้องติดตามแบบใกล้ชิด นโยบายที่แถลงหากสามารถทำได้จริง จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 

การแถลงนโยบายและมีการอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อน แสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเป็นทั้งฝ่ายค้านที่มีความแค้นเป็นทุนเดิม จะทำหน้าที่ตรวจสอบแบบเจาะลึกเป็นแค้นที่ต้องชำระ พรรคร่วมรัฐบาลหลังจากไปทำหน้าที่ตามกระทรวงต่างๆ ที่ช่วงชิงกันมา คงไม่มีเวลาฮันนีมูน เพราะงานนี้ฝ่ายค้าน นอกจาก พรรคก้าวไกล ยังมี พรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วมทีมเป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ

ก่อนอื่นต้องขอชม คุณเศรษฐา ทวีสิน ถึงจะเป็นนายกฯ แบบอินเทิร์นมือใหม่ ที่พึ่งเข้ามาเล่นการเมืองครั้งแรก ก็กระโดดขึ้นไปนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีฟอร์มที่ประทับใจรับมือกับแรงกดดันของฝ่ายค้านมืออาชีพได้ดี 

ส่วนข้อวิจารณ์ว่า นโยบายที่แถลงไม่ตรงปก ไม่ตรงกับที่หาเสียง ขึ้นอยู่กับมุมมองว่า มองต่างมุมกันอย่างไร เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม คงไม่สามารถเอาทุกนโยบายของทุกพรรคการเมืองมาทำได้หมด หากนำนโยบายของทุกพรรคมาใช้ คำถาม คือ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท จะเอาเงินมาจากไหน ที่สำคัญนโยบายที่บรรจุในโรดแมปจะต้องทำให้สัมฤทธิ์ผลไม่ควรหลอกประชาชน 

รายละเอียดนโยบายของ รัฐบาลเศรษฐา1 มีมากมาย บทความนี้คงไม่สาธยายลงรายละเอียด โดยจะยกประเด็นที่สำคัญซึ่งน่าจะมีผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจ

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาภายใต้งบประมาณที่ยังไม่ผ่านรัฐสภา อาจต้องใช้เวลาไปถึงต้น หรือ กลางไตรมาส 2 ปี 2567 เงินส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ หรือ งบประมาณที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้าแล้วทำให้ไม่มีเงินในกระเป๋า ที่จะนำไปใช้ในด้านการลงทุน หรือ โครงการต่างๆ ตามที่หาเสียง 

โครงการที่เป็นไฮไลท์ “Digital Wallet” ซึ่งไม่ใช่เงินสด แต่เป็น “Utility Token” ที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะใช้จ่ายกันอย่างไร โดยคาดว่าจะใช้ได้ต้นกุมภาพันธ์ปี 2567 รัฐบาลมุ่งหวังว่า เงินหนึ่งหมื่นบาทต่อคนต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยมีผลต่อ GDP อย่างน้อยร้อยละ 3.18 ยังไม่รวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายโครงการ ทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าอาจขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5.5 

ช่วงที่เหลือของปีนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากการกระตุ้นท่องเที่ยวและฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน และ คาซัคสถาน โดยหวังว่าจะเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวอีก 5 หมื่นล้านบาท ที่ต้องผลักดันสำหรับทัวร์จีนตั้งเป้า 5.0 ล้านคน 

ผู้เขียนเพิ่งกลับจากประเทศจีน เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ขาดกำลังซื้อ อาจกระทบเป้าท่องเที่ยว ขณะที่ภาคส่งออกช่วงที่เหลือของปีคงทำอะไรไม่ได้มาก ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะหดตัว และปีหน้าอาจเข้าถึงขั้นถดถอย อาจทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ซึ่งรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.2 

นโยบายที่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระยะ Quick Wins และระยะสั้น จำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ด้วยการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เอาเงินใส่มือประชาชนในรูปแบบต่างๆ อย่างช้าเงินต้องถึงมือประชาชนได้ภายในกลางเดือนตุลาคม

ตามด้วยมาตรการแก้หนี้ ซึ่งเริ่มจากโครงการพักหนี้ทั้งต้น และ ดอกเบี้ย ระยะเวลา 3 ปี ให้กับ เกษตรกร และ SMEs ที่ประสบภัยโควิด-19 

โดยคาดว่า วงเงินที่ใช้ในการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะเร่งโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งถือเป็นวิกฤตหนี้ครัวเรือน และธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพักหนี้บุคคลธรรมดา 4.4 ล้านบัญชี วงเงิน 3.1 แสนล้านบาท และ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลอีก 5.4 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้สามารถมีสภาพคล่องเดินหน้าต่อ หรือรักษาการจ้างงานส่งผลต่อการเพิ่มกำลังซื้อ 

                          นโยบายนายกฯ เศรษฐา 1 ตรงปกหรือไม่ และฟื้นเศรษฐกิจได้เพียงใด

นอกจากนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเติมสภาพคล่องด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ควรร่วมมือกับสถาบันการเงิน ซึ่งเดิมมีการปล่อยสินเชื่อเยียวยาความเสียหายในช่วงโควิด-19 อาจใช้แนวเดียวกับที่เคยทำมาในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งดอกเบี้ยไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปชดเชย เพราะธุรกิจ SMEs ต้องการเม็ดเงินมากกว่า (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR ร้อยละ 6.80 และเงินเกินบัญชี MOR ร้อยละ 7.325 สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ร้อยละ 7.050) 

สำหรับมาตรการที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้ว ที่รัฐบาลควรจะระมัดระวังเกี่ยวข้องกับการต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาทิเช่น การลดค่าไฟฟ้า หรือค่า FT จาก 4.45 บาท/หน่วย คงเหลืออัตรา 4.10 บาท/หน่วย ควรให้เฉพาะครัวเรือน หรือ ธุรกิจขนาดย่อม หรือ รายเล็ก กำหนดเป็นหน่วยไฟฟ้าเท่าใดที่จะได้รับ 

สำหรับลดราคาดีเซลคงเบรกไม่ทัน เพราะ คุณเศรษฐาฯ ประกาศจะเดินหน้าลดราคา 2 บาท พร้อมประกาศตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทไปจนถึงปลายปีนี้ 

เพียงแค่ 2 โครงการช่วงสามเดือนครึ่งจากนี้ไป ใช้เงินไม่ต่ำกว่าสามหมื่นล้านบาท การลดราคาพลังงานทั้งน้ำมันและแก๊สภายใต้สถานการณ์น้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ช่วง 2 เดือนราคาน้ำมันดิบโลก (WTI) เพิ่มจาก 76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาเพิ่มขึ้น 13 เหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 17 ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาหน้าโรงกลั่นในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นลิตรละ 5.73 บาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 

ปัจจุบันการเติมน้ำมันดีเซลต้องใช้เงินกองทุน (Oil Fund) ชดเชยลิตรละ 6.97 บาท ราคาน้ำมันเดิมตรึงราคาไว้ลิตรละไม่เกิน 31.94 บาทต่อเนื่องมาปีเศษ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพออยู่กันได้ การลดราคาดีแน่แต่ราคาสินค้าคงไม่ลดตาม แต่หากราคาน้ำมันดีเซลขึ้น รัฐบาลจะอุ้มตลอดไปได้ไหมตรงนี้ไม่มีคำตอบ 

นโยบายที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีเป้าหมาย 400 บาท หรือ เฉลี่ยปรับขึ้นประมาณร้อยละ 13.1 ที่จะบอกว่าจะทำทันที แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจช่วงขาลง ควรคำนึงถึงความสามารถเศรษฐกิจและศักยภาพของนายจ้าง ที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และ SMEs ที่จะรับมือไม่ไหว เป็นผลเสียต่อการส่งออก และการลงทุนในระยะยาว 

นอกจากนี้โครงการที่ควรทบทวน ซึ่งมีผลต่อการใช้งบประมาณจำนวนมาก เช่น การเข้าไปชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท ไม่ควรช่วยแบบเหวี่ยงแห เพราะปัจจุบันมนุษย์เงินเดือน อยู่คอนโดหลังละหลายล้านบาท ก็ใช้บริการรถไฟฟ้า ควรช่วยเหลือกลุ่มที่ใช้บริการสวัสดิการของรัฐ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก

สำหรับโครงการ 30 บาทพลัส ควรสนับสนุน เพราะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงด้านการรักษาพยาบาล เป็นโครงการที่ทำมานานแล้ว และเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย

ประเด็นที่มีความกังวลเกี่ยวข้องนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการรวมหลายพรรคการเมืองที่ต่างชูนโยบายประเภทประชานิยม ใช้งบประมาณจำนวนมาก จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ “รัฐสวัสดิการ” ขณะที่ศักยภาพและความสามารถในการจัดเก็บภาษีมีข้อจำกัด มีผู้เสียภาษีเพียง 4.5 ล้านคน ที่ต้องอุ้มประชากร 66.090 ล้านคน 

แต่ละปีงบประมาณขาดดุลต้องกู้เงินเข้ามาโปะ ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณตามโครงการต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล งบประมาณที่ขาดดุลจำนวนมากรัฐบาล ก็ต้องไปกู้หรือออกพันธบัตรระยะยาว จะส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ

ล่าสุด “ฟิตซ์ เรทติ้ง” ออกมาเตือนเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไปจนถึงถดถอยจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ 

นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสู่ “รัฐสวัสดิการ” ไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสูง โดยไม่สัมพันธ์กับผลิตภาพแรงงานที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จะกระทบต่อภาคส่งออกและอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งส่งผลต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้นนำไปสู่วงจรอุบาทว์ ที่ภาคแรงงานไปกดดันให้มีการขึ้นค่าแรงไม่มีที่สิ้นสุด 

อยากเห็นนโยบายของประเทศมุ่งเน้น การเพิ่มทักษะ และการยกระดับสินค้า และ บริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ และสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการค้าโลกได้อย่างลงตัว