ไทยกับบริบทปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐบาล“มิน อ่อง หล่าย”ที่เปลี่ยนไป

17 เม.ย. 2567 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2567 | 10:33 น.

ไทยกับบริบทปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐบาล“มิน อ่อง หล่าย”ที่เปลี่ยนไป : บทความพิเศษ โดย... ดร.ธนิต โสรัตน์ อดีตรองประธานและเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา (กกร.) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3984

สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา เปรียบเสมือนยุคสามก๊ก หรือ สงครามรวมชาติยุคพระเจ้าตาก (สิน) สงครามเริ่มต้นช่วงปลายตุลาคมปีที่แล้วผ่านมาจนถึงวันนี้ รัฐบาลททาร “มิน อ่อง หล่าย” เพลี่ยงพล้ำเหลือพื้นที่ตอนกลางภาคใต้ ที่ยังปกครองได้ร้อยเปอร์เซ็น 

พื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ยึดได้ส่วนใหญ่บริเวณชายแดน เช่น ตั้งแต่รัฐยะไข่ รัฐสกายไปจนรัฐชายแดนที่ติดจีน เช่น กะฉิ่น-รัฐฉาน รัฐที่ติดชายแดนไทย เช่น คะยาห์ คะเรนนี ซึ่งเป็นรัฐกะเหรี่ยง

 

ล่าสุดกองกำลังกะเหรี่ยง “KNU” สามารถยึดจังหวัดเมียวดี (ตรงข้ามอำเภอแม่สอด) ได้เกือบหมด สถานการณ์ช่วงก่อนปิดสงกรานต์เข้ายึดสถานที่ราชการและค่ายทหาร มีการต่อสู้ยิงปืนใหญ่ใกล้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 คนในพื้นที่มีการอพยพเข้ามาตะเข็บชายแดน

พวกที่พอมีสตางค์เลือกที่จะเข้ามาพักในแม่สอด โดยใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน กองกำลังกะเหรี่ยงเข้าควบคุมการตรวจคนเข้าเมืองผู้คนยังเข้าออกได้ตามปกติ

จังหวัดเมียวดี เป็นเมืองใหญ่ของเมียนมา ทางด้านตะวันออก มีสำนักงานธนาคารถึง 9 แห่ง เช่น Kbz Bank และ Cb Bank ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของเมียนมา ธุรกรรมด้านการเงินสะพัดถึงขนาดเป็นเมืองที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลจ๊าด กับ เงินบาทอ้างอิงเป็นรายวัน เป็นเมืองศูนย์การค้าและ “Gateway”  

การขนส่งหลักระหว่างด่านแม่สอด กับ นครย่างกุ้ง เป็นที่ตั้งของ “Casino Multicomplex” ที่คนพม่าเรียกว่า “ชเวก๊กโก่” เป็นคาสิโนจีนสีเทาและแหล่งฟอกเงินอยู่ตรงข้ามท่าวังแก้วฝั่งแม่สอด เพื่อไม่ให้การขนส่งสินค้าชะงักกองกำลังกะเหรี่ยง (KNU) ทำหน้าที่ศุลกากรแทนเจ้าหน้าที่เมียนมาซึ่งหลบหนีไปหมด ทำให้การนำเข้าส่งออกด้วยรถบรรทุกยังทำได้แต่ปริมาณรถฝั่งไทยลดลงกว่าร้อยละ 70 (ล่าสุดเป็นศูนย์) 

การดำเนินพิธีการศุลกากรของเมียนมารถบรรทุกฝั่งไทยจะต้องนำสินค้าลงที่ “กาวินใหม่” แปลว่า “ท่ารถ” ทางการเรียกว่าเมียวดีเทรดโซน (Myawaddy Trade Zone) เป็นศูนย์กระจายสินค้ามีโกดังและศูนย์ขนส่ง การเสียภาษีจะเสียเมื่อนำสินค้าเปลี่ยนรถบรรทุกฝั่งเมียนมา ค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านศุลกากรกับค่าเคลียร์ “ส่วย” รายทางตามด่านต่างๆ กว่าสิบแห่ง ซึ่งจะเหมาจ่ายอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.45 เท่า 

ช่วงก่อนมีสงครามรถขนส่งขนาดเล็ก-กลาง (6-12 ล้อ) ราคาเดิม 8,000 – 9,000 บาทต่อคัน ปัจจุบันปรับเพิ่มเป็น 42,000 บาท รถบรรทุกขนาดใหญ่ (18 ล้อ) ราคาเดิม 15,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท ด้านราคาค่าขนส่งอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า ช่วงก่อนมีสงครามราคารถเล็ก-กลางราคาเดิม 25,000 – 30,000 บาท ปรับเป็น 80,000 บาทต่อเที่ยว รถขนส่งขนาดใหญ่ราคาเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 130,000 บาท  

สถานการณ์ช่วงก่อนปิดสงกรานต์สองวัน มีท่าทีว่ากองกำลังทหารเมียนมากลับมารุกคืนพื้นที่เมืองเมียวดี มีการส่งเครื่องบินขึ้นสังเกตการณ์ และมีการกระชับกองกำลังพื้นที่ชายแดน เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญเสมือนเป็นอู่ข้าว-อู่น้ำ กล่องดวงใจของ มิน อ่อง หล่าย ที่เสียไม่ได้ เพราะเป็นประตูนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 

ปัจจุบันราคาสินค้าในนครย่างกุ้งมีการขาดแคลนและราคาสูงประชาชนเดือดร้อนแต่ยังใช้ชีวิตปกติแต่พวกเศรษฐี-คนมีสตางค์โยกทรัพย์และ/หรือออกไปนอกประเทศโดยกรุงเทพฯ เป็นหมุดหมายสำคัญ 

ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากันที่เมืองเมาะละแหม่ง คงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างๆ ส่วนผลออกมาอย่างไรจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง 

                            ไทยกับบริบทปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐบาล“มิน อ่อง หล่าย”ที่เปลี่ยนไป

ความสำคัญทางเศรษฐกิจของเมียนมา ที่มีต่อประเทศไทย ปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้า-ส่งออกเฉพาะทางถนนผ่านชายแดนไทย-เมียนมารวมกันประมาณ 263,978 ล้านบาท (F) เป็นการส่งออกมูลค่าประมาณ 132,469 ล้านบาท ด้านการนำเข้าผ่านแดนมีมูลค่าประมาณ 131,509 ล้านบาท 

การค้าขายไทย-เมียนมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 92 เป็นการขนส่งทางถนนผ่านชายแดน เส้นทางสำคัญ คือ ด่านแม่สอด (จังหวัดตาก) มีมูลค่ารวมกันประมาณ 113,929 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.2 ของการขนส่งผ่านชายแดนไทย-เมียนมารวมกัน รองลงมาคือด่านสังขละบุรี (จังหวัดกาญจนบุรี) ด่านสิงขร (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และด่านระนอง  

ประเทศไทย และ เมียนมา มีชายแดนยาว 2,416 กิโลเมตร ระยะทางยาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา เป็นคู่ค้าที่สำคัญ และประชาชนมีทัศนคติทางบวกกับไทย

อีกทั้งสินค้าไทยเป็นที่นิยม ด้านประชากรศาสตร์แรงงานเมียนมาทำงานในประเทศไทย แบบถูกกฎหมายประเภทต่างๆ รวมกันประมาณ 2.308 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.66 ของแรงงานต่างชาติรวมกัน 

แรงงานเมียนมาเป็นกำลังสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในฐานะปัจจัยการผลิตทั้งในภาคส่งออก อุตสาหกรรมการผลิต บริการ เกษตรกรรม ประมง และ ปศุสัตว์ รายได้จากค่าจ้างปีละมากกว่า 2.542 – 3.0 แสนล้านบาท เงินที่ส่งกลับบ้านเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับเศรษฐกิจของเมียนมา เป็นแหล่งรายได้ให้กับรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธที่ครอบครัวเข้ามาทำงานในประเทศไทย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาเข้าสู่เดือนที่หก สงครามลุกลามมากกว่าที่คาดจนติดชายแดนไทย ย่อมส่งแรงกระเพื่อมต่อไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องประเมินสภาวะการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งอาจทำให้มีผลการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปจนถึงรูปแบบการปกครองประเทศ จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินสถานการณ์และปรับรูปแบบความสัมพันธ์กับเมียนมา ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับพลวัต 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมามาถึงวันนี้ คงไม่สามารถมีสถานะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก ไทยจะต้องใช้เป็นกรณีศึกษาโดยเฉพาะพวก “คลั่งชาติ” จนนำชาติไปสู่วิบัติเช่นกรณีที่เกิดกับประเทศเมียนมา...