บริบททางเดินของไทยอยู่ตรงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งจุดแข็งไม่ได้มาจากภาคการส่งออก และการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นมูลค่า 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมไทย กำลังไปสู่รถยนต์ใช้พลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ขณะที่ไทยเป็นแชมป์ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ใช้สันดาปภายใน (ICE : Internal Combustion Engine)
รวมถึงอุตสาหกรรมฮาร์ดดิส ซึ่งไทยเป็นแหล่งผลิตระดับโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ชิปเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Chip) ภัยคุกคามที่กำลังมาแรง และเห็นได้ชัดคือ สินค้าโอเวอร์ซัพลายขายไม่ออกจากจีน ซึ่งโดนแบนจากสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ทะลักเข้ามาในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน กระทบทั้งตลาดภายในและการส่งออก
ปัจจัยจากจีน หรือ “China Effect” นอกจากถูกสินค้าราคาถูกเข้ามาแย่งตลาด ตามมาด้วยการหลั่งไหลอพยพของคนจีนโพ้นทะเลเข้าไทยครั้งใหญ่สุดในรอบศตวรรษ แต่ครั้งนี้ไม่ได้มาเหมือนรุ่น “อาก๋ง” ซึ่งแบกเสื่อ-หมอนใบเข้ามาเป็นกรรมมาชีพ
แต่คนจีนโพ้นทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 มาพร้อมกับเงินทุนเข้ามาเปิดร้านค้า ร้านอาหาร ทำธุรกิจซื้อคอนโด ซึ่งรัฐบาลกำลังสนับสนุนให้ลูกหลานของคนจีนเหล่านี้อยู่ได้ 99 ปี แม้แต่ในภาคเกษตรในไร่ และสวน ก็ไม่เว้นที่จะเข้าไปทำการซื้อขาย โดยไม่ปล่อยให้คนไทยได้กิน
หากรัฐไม่ดำเนินการใดๆ และ/หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบทำตัวนิ่งเฉย อนาคตสินค้าไทยจะหายไปพร้อมกับแหล่งจ้างงาน เพราะซื้อจากจีนถูกกว่าผลิตในประเทศ ดูตัวอย่าง สปป.ลาว และ กัมพูชา วันนี้แล้วจะเข้าใจ
ภาวะเศษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงดวงตก นอกจากปัญหาภายในประเทศ ยังมีปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลก ยังไม่ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 และความขัดแย้งในภูมิภาค โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กระเป๋าแทบฉีก กระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในประเทศ มีผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นตามเป้า แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจาก จีน อินเดีย อาเซียน และ เอเชีย การใช้จ่ายลดลงร้อยละ 20 ขณะที่ท่องเที่ยวในประเทศค่าใช้จ่ายต่อทริป/คนลดจาก 6,856 บาทเหลือ 2,683 บาท ลดลงร้อยละ 60.8
ปัญหาที่ตามมาจากวิกฤตเศรษฐกิจซึมยาว คือ โรงงานต่างๆ ทยอยปิดตัวช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ปิดไปกว่า 2,015 โครงการ กำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) ในช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ ดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคทรุดตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
สึนามิที่เกิดจากเศรษฐกิจซึมยาว คือ หนี้ครัวเรือน ที่สูงทั้ง หนี้ธุรกิจ ไปจนถึง หนี้ชาวบ้าน เมื่อการจับจ่ายใช้สอยทรุดตัว ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะครึ่งปีแรกยอดขายตกแบบฮวบฮาบ ราคาแข่งขันแบบไม่ต้องดูต้นทุน ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs ผลประกอบการในรูปกำไรไม่ต้องดูกัน แค่ประคองตัวให้รอดเข้าสู่โหมด “Survival Mode”
ที่เป็นดอกผลคือ หนี้เสีย ที่สูงมาก ข้อมูลจาก “เครดิตบูโร” ณ เดือนพฤษภาคม 2567 หนี้เสียมีถึง 1.14 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 11.3 สูงกว่าช่วงระบาดโควิด-19 เล็กน้อย และหนี้ที่กำลังเน่า (SM Debt) ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มีจำนวนถึง 6.8 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.1 (Y/Y)
ทั้งนี้หนี้ในระบบสถาบันการเงินรวมกันทั้ง NPL และ หนี้ ใกล้จะเสียสูงถึง 1.82 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 10.16 ของ GDP ส่วนใหญ่มาจากหนี้รถยนต์ จนไม่มีที่จะจอดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.1
ตามด้วยหนี้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 มีบ้าน และ คอนโด ถูกยึดแล้ว หรือ ระหว่างถูกยึดประมาณ 1.57 แสนหน่วย และหนี้บัตรเครดิตที่ใช้ และกู้จนเต็มวงเงิน ไม่มีเงินจ่ายอีก 6.7 หมื่นล้านบาทขยายตัวร้อยละ 15.6
ภาวะการณ์ที่กำลังซ้ำเติมภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ง่อนแง่นเป็นทุนอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่ของประเทศที่รอเวลาประทุ คือสภาวะหนี้ธุรกิจอ่อนแอ ส่งผลต่อผลประกอบการที่ไม่ดี ทำให้มีหนี้สูงและบางส่วนเป็นหนี้เปราะบาง ผลตามมา คือ สภาพคล่องทางการเงินลามจาก SMEs ไปสู่รายใหญ่
อีกทั้ง สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ บ้าน-คอนโด และ ธุรกิจขายรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
หน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 – 2.6 ชาวบ้านรอความหวังอยู่ที่เงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังขาดความชัดเจน ทั้งวิธีใช้ และ แหล่งเงิน แต่รัฐบาลเดินหน้า วันที่ 1 ส.ค.ลงทะเบียนไปก่อน
ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง รัฐบาลแกนหลัก คือ พรรคเพื่อไทย กำลังเดินหน้าเงียบๆ ในการปรับค่าจ้างรอบ 2 ในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 67 มีการนำเข้าที่ประชุมให้คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้เดือนกันยายน - ตุลาคม 2567
แต่ก่อนหน้านั้น ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเดือนพฤษภาคมยังไม่มีข้อสรุป โดยการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทางคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี มีมติให้คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสม กับ บริบทของแต่ละจังหวัดและกิจการโดยให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม
ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 346 บาทต่อวัน หากปรับ 400บาท จะเพิ่มเฉลี่ยวันละ 54 บาท สูงขึ้นร้อยละ 15.6 (กรณี กทม.และปริมณฑล ค่าจ้างวันละ 363 บาท เพิ่มขึ้น 37 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.2) หาก SMEs มีแรงงาน 200 คน ค่าจ้างที่ต้องเพิ่มขึ้นต่อปีประมาณ 3.9-4.0 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ
ในภาวะเศรษฐกิจซึม ยอดขายหดตัว และหนี้เพิ่ม หรือ บางรายกลายเป็นหนี้เสีย ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่กันได้อย่างไร
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อต้นทุนค่าจ้างเฉลี่ยร้อยละ 6 หากเป็นอุตสาหกรรม หรือ ธุรกิจใช้แรงงานเข้มข้นต้นทุนจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 8-14 การปรับขึ้นจะเป็นทั้งโซ่อุปทานส่งผลต่อต้นทุน และราคาสินค้า ที่จะสูงขึ้น ผลกระทบก็จะกลับไปสู่ผู้บริโภคและแรงงาน
อีกทั้ง ธุรกิจในต่างจังหวัดจะแข่งขันได้ลำบาก เนื่องจากต้องแบกรับค่าขนส่ง ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล จากเดิมลิตรละ 29.94 บาท ปรับเป็น 32.94 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีแนวโน้มกำลังพิจารณาปรับขึ้นในสิ้นเดือนนี้
การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ประเด็นอยู่ที่แรงงานต่างด้าว 3.329 ล้านคน ที่จะได้รับอานิสงค์แบบเต็มๆ ที่ตามมา คือ การปรับค่าจ้างให้กับแรงงานไทย ทั้งฐาน ซึ่งค่าจ้างต้องสูงกว่าแรงงานต่างด้าว
การแก้ปัญหาเพิ่มรายได้ให้กับภาคแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มกำลังซื้อ คงไม่ได้ง่าย แค่ประกาศขึ้นค่าจ้าง ประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา เช่น ราคาสินค้าจะสูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดังนั้น เงินที่ได้เพิ่มอาจไม่พอกับราคาสินค้า และบริการ ที่แรงงานไทยต้องจ่าย อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วโดยเฉพาะภาคการส่งออก และตลาดภายใน ที่ถูกสินค้าราคาถูกจากจีน
ขณะนี้เป็นช่วงที่อุตสาหกรรม และธุรกิจรายใหญ่ ไปจนถึงรายเล็ก กำลังทยอยปิดตัว อาจไม่ใช่ช่วงจังหวะหาเสียงด้วยค่าจ้างประชานิยม ...