รถยนต์ไร้คนขับในจีน...มาเร็วกว่าที่คิด (1)

09 มี.ค. 2566 | 02:01 น.

รถยนต์ไร้คนขับในจีน...มาเร็วกว่าที่คิด (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ ฉบับ 3868

ภายหลังการดำเนินนโยบาย “Made in China 2025” เมื่อปี 2015 จีนก็เดินหน้าพัฒนา “ยานยนต์พลังงานทางเลือก” มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน จนมีความรุดหน้าในวงกว้าง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จีนจะไปไกลขนาดไหน อย่างไร ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปติดตามกัน ... 

ในช่วงที่ผ่านมา ยานยนต์สารพัดยี่ห้อ ประเภท ระดับคุณภาพ และอื่นๆ ถูกติดตั้งด้วยระบบไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน อาทิ รถยนต์นั่ง รถบัส เรือ รถไฟ และโดรน แถมยังทำลายสถิติอย่างเนืองๆ เช่น รถไฟพลังงานไฮโดรเจนที่เร็วที่สุดในโลก

จีนมองว่า การ “เปลี่ยนเกมส์” จากเวทียานยนต์ “ระบบสันดาป” ไปสู่ “พลังงานทางเลือก” ซึ่งสอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก จะทำให้จีนมีโอกาสอย่างมากในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในอนาคต 

ที่เห็นได้ชัดในช่วงหลายปีหลังก็ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าที่กิจการรถยนต์ระบบ สันดาปและสตาร์ตอัพหน้าใหม่จากหลายค่าย และหลายหัวเมืองของจีน ต่างกระโดดเข้าสู่ตลาดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ผ่านไปไม่ถึงทศวรรษ ปรากฏว่า จีนมีจำนวนแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100 แบรนด์

นอกจากนี้ ธุรกิจจีนยังทุ่มทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ วัสดุตัวถัง และ ยางรถยนต์ และว่าจ้างนักออกแบบชั้นนำของจีนและของโลกมายกระดับคุณภาพรถยนต์ ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีฟังก์ชั่นและรูปโฉมที่ทันสมัยและโดนใจผู้บริโภค 

แต่ดูเหมือนว่าจีนจะไม่หยุดการพัฒนาเพียงแค่นั้น เพราะในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 จีนก็สุ่มพัฒนาระบบนิเวศ และทดสอบทดลองการใช้รถยนต์ไร้คนขับจนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและเปิดให้ใช้มากขึ้น
ในการทดลองระยะแรก รัฐบาลจีนยังไม่ให้ใช้ “ความอัตโนมัติ” ของยานยนต์ไร้คนขับกับมนุษย์ในเชิงพาณิชย์ และยังไม่เปิดให้มีการซื้อขายดั่งเช่นรถยนต์ทั่วไป 

แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็มิได้เป็นปัญหาในเชิงธุรกิจและการพัฒนา ผู้ประกอบการจีนที่ “หัวใส” ก็นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับรถยนต์ที่มีเส้นทางเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด เช่น รถขนวัสดุภัณฑ์ รถเก็บขยะ และ รถทำความสะอาดถนน  

สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือ แม้กระทั่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นำเอารถไร้คนขับมาจัดส่งเอกสาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ และอื่นๆ กันอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน กิจการอีคอมเมิร์ซ ก็เริ่มนำเอารถยนต์ไร้คนขับขนาดเล็กมาจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าในเมือง หรือ ชุมชน  

ในระยะแรกที่นำออกมาทดลองใช้ มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถานที่ที่เด็กจีนอยากชวนพ่อแม่และเพื่อนๆ ไปวิ่งเล่นกับรถยนต์ไร้คนขับ สิ่งที่ผมเห็นก็คือ รถยนต์ไร้คนขับที่ใช้ส่งพัสดุภัณฑ์กลายเป็นเสมือน “รถนำขบวน” ที่มีฝูงเด็กเดินตาม

บ้างก็ยืนดูด้วยความสงสัยว่า รถขนเอกสารขนาดเล็กอัตโนมัติ ที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วต่ำจากคณะหนึ่งไปยังอีกคณะหนึ่งเหล่านี้ ขับเคลื่อนอย่างไร ใครบังคับอยู่

ขณะที่บางส่วนก็ชอบทดลองการวิ่งตัดหน้าเพื่อทดสอบว่า รถไร้คนขับจะหยุดหรือไม่ ทำให้การขนส่งเอกสารไปจุดหมายใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะรถไร้คนขับเหล่านี้ “วิ่งไปหยุดไป” เป็นระยะ บางมหาวิทยาลัยก็มีคณาจารย์และนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นในหลายหัวเมือง ได้นำเอารถไร้คนขับออกมาช่วยทำความสะอาด หรือแม้กระทั่งวิ่งเก็บขยะในตัวเมืองจีน กลายเป็นว่า เวลาผ่านไปไม่นาน เมืองหลักและเมืองรองของจีนมีรถไร้คนขับออกมาให้บริการหลากหลายรูปแบบ 

ในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนก็ผ่อนคลายอีกระดับหนึ่ง โดยอนุญาตให้นำเอารถยนต์ไร้คนขับมาจัดแสดงและสาธิตการใช้งานในพื้นที่ปิดล้อม อาทิ ในสวนอุตสาหกรรมไฮเทค และสถานที่จัดแสดงสินค้า ผมมีโอกาสพาคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยไปคนทดลองนั่งรถบัสเล็กไร้คนขับอยู่หลายครั้ง  

แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังคงวิ่งด้วยความเร็วที่จำกัดราว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเพื่อนร่วมงานของผมเปรียบเปรยอย่างเห็นภาพว่าเป็นระดับความเร็ว “เต่ากัดยาง”  

                        รถยนต์ไร้คนขับในจีน...มาเร็วกว่าที่คิด (1)

ทั้งนี้ ขณะที่โลกยังงงๆ อยู่กับการจัดการวิกฤติโควิด-19 ในปี 2022 รัฐบาลจีนก็อนุญาตการใช้ รถยนต์ไร้คนขับในระดับ L3 ที่เปิดให้มีการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับสาธารณะกับมนุษย์ในเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบของ “แท็กซี่ไร้คนขับ” (RoboTaxi) 

แต่บริการดังกล่าวยังคงต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชานเมืองของหัวเมืองใหญ่ของจีน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ก็ทดสอบ ทดลองในเขตเจียติ้ง (Jiading) เฟิงเสียน (Fengxian) และหลิงกั่ง Lingang) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

ขณะเดียวกัน การทดลองใช้ก็ขยายต่อไปในหัวเมืองอื่น อาทิ เซินเจิ้น ปักกิ่ง และซีอาน โดยให้มีคนขับรถนั่งสแตนด์บายหลังพวงมาลัย และอยู่ภายใต้การกำกับติดตามของศูนย์ควบคุมในระหว่างให้บริการ 

แบรนด์ “Apollo Go” (อพอลโล โก) ของไป่ตู้ (Baidu) และ “Auto X” (ออโต้เอ๊กซ์) สตาร์ตอัพแห่งเซินเจิ้นของค่ายอาลีบาบา (Alibaba) ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ผ่านการเข้าสู่ตลาดก่อน อย่างที่ศัพท์เทคนิคเรียกกันว่า “First Mover Advantage” โดยคว้าใบอนุญาตและจับมือกับผู้ผลิตยานยนต์หลายรายในจีน 

ในงานประชุมปัญญาประดิษฐ์โลก (World Artificial Intelligence Conference) เมื่อต้นเดือนกันยายน 2022 จีนก็เปิดถนนในใจกลางมหานครเซี่ยงไฮ้เพื่อนำร่องการใช้รถยนต์ไร้คนขับใน “เขตสาธิตการทดลองใช้รถที่เชื่อมต่ออัจฉริยะจินเฉียว” (Jinqiao Intelligent Connected Vehicle Testing Demonstration Zone) เขตผู่ตง 

พื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมถนน 12 สายเกือบ 60 แยกสัญญาณไฟจราจร และมีระยะทางรวม 29.3 กิโลเมตร โดยให้นำเอารถยนต์ไร้คนขับจำนวนกว่า 20 คันจากหลายแบรนด์ อาทิ ออโต้เอ๊กซ์ ดับบลิวเอ็มมอเตอร์ (WM Motor) และปันหม่า (Banma) มาร่วมทดลองใช้ภภายใต้สารพัดฉฉากทัศน์ในตลอด 3 วันของการจัดงาน 
ประการสำคัญ ปี 2023

อาจถือเป็นปีของการ “จุดพลุ” ครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับของจีนอย่างแท้จริง ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น เหตุสำคัญก็เพราะรัฐบาลจีน “เปลี่ยนแนว” จากการออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไปสู่รถยนต์ไร้คนขับ 

ผมสังเกตเห็นการปรับลดการอุดหนุนการซื้อหารถยนต์พลังงานทางเลือกในช่วงปลายปีก่อน แต่ไปปรับเพิ่มมาตรการส่งเสริมการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับในระดับ L4 ที่ไม่ต้องมีคนขับรถสแตนด์บายหลังพวงมาลัยอีกต่อไป (ยังคงมีผู้ควบคุมคอยติดตามและควบคุมการใช้รถในขณะให้บริการ)

โดยเมื่อต้นปี 2023 จีนได้ประกาศเขตนำร่องตามนโยบายยานยนต์ที่เชื่อมต่ออัจฉริยะปักกิ่ง (Beijing Intelligent Connected Vehicle Policy Pilot Zone) ในพื้นที่ 20 กิโลเมตร และอนุญาตให้ไป่ตู้ และ Pony.ai ทดลองให้บริการรถยนต์ไร้คนขับ โดยไม่ต้องมีคนขับสแตนด์บายหลังพวงมาลัยในพื้นที่ดังกล่าวรายละ 10 คัน   

และเมื่อผ่านการทดสอบระยะหนึ่งจนเป็นที่น่าพอใจ บริษัททั้งสองก็จะขยายบริการเป็น “แท๊กซี่ไร้คนขับ” ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป


คราวหน้าไปคุยกันต่อครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน