รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (4)

13 เม.ย. 2566 | 04:49 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2566 | 04:57 น.

รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3878

เรามาคุยกันต่อเลยว่า จีนมีแบรนด์ดาวรุ่งในวงการ AVs ที่น่าสนใจอะไรอีกบ้าง ธุรกิจเหล่านี้จะมีอายุเฉลี่ยไม่ถึง 10 ปี แต่ก็เป็นสตาร์ทอัพที่สามารถเติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และกำลังเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่ในตลาดจีนและจะขยายต่อไปยังตลาดโลกในอนาคต ...

โพนี่.เอไอ (Pony.ai) ก่อตั้งเมื่อปี 2016 และเป็นกิจการแรกที่เริ่มทดลองขบวน AVs ในจีน ในปีต่อมา บริษัทฯ ได้ปล่อย AVs ลงถนนสาธารณะและทดลองใช้ “PonyPilot” แอพเรียกรถแท็กซี่ไร้คนขับ โดยจับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ในจีนหลายราย อาทิ GAC และ Toyota แถมยังขยายความร่วมมือกับเฉาเชา (Caocao) ตัวแทนด้านการท่องเที่ยว ในเส้นทางบริการใหม่ในเวลาต่อมา

ในปลายปี 2019 บริษัทฯ ยังได้กลายเป็นกิจการแรกในจีน ที่ได้รับอนุญาตให้บริการรถบรรทุกในกวางโจว และวางแผนที่จะร่วมมือ กับ ซานี่เฮฟวีย์อินดัสทรี (Sany Heavy Industry) ผู้ผลิตเครื่องมือก่อสร้างรายใหญ่ของจีน ในการผลิตรถบรรทุกจำนวนมากเพื่อขยายบริการดังกล่าว

จนถึงปัจจุบัน Pony.ai ยังถือเป็นกิจการจีนที่ทดสอบระบบเป็นระยะทางรวมยาวที่ journey สุดในแคลิฟอร์เนียราว 500,000 กิโลเมตร และยังได้รับอนุญาตให้ทดสอบระบบการขับขี่ไร้คนขับในมลรัฐแอริโซนาแล้ว

อีกรายหนึ่งได้แก่ เฮ่าโม๋.เอไอ (Haomo.ai) ซึ่งถือเป็นหน้าใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2019 นี่เอง บริษัทฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับ Great Wall Motors แห่งปักกิ่ง โดยการดำเนินงานของบริษัทฯ อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของ เหว่ย เจี่ยนจุน (Wei Jianjun) ประธานกรรมการ GWM 

แม้จะเข้าสู่ตลาด AVs ของจีนช้ากว่าหลายราย แต่การพัฒนาก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากพันธมิตรรายใหญ่อย่างควอลคอมม์ (Qualcomm) หนึ่งในผู้นำผลิตภัณฑ์ไร้สายของสหรัฐฯ และเหม่ยถวน (Meituan) ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์รายใหญ่ของจีน 

ไม่นานหลังจากนั้น บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบการนำทางที่ใช้ชื่อว่า “Navigation on HPilot” (NOH) ควบคู่ไปกับการทำตลาดรถยนต์แบรนด์หรูของ GWM อย่าง “WEY” (เวย์) รถเอสยูวี (SUV) ที่แยกรุ่นตามประเภทของกาแฟ อาทิ ม็อคค่า (Mocca) ลาเต้ (Latte) และ แม็คคิอาโต้ (Macchiato) และ รถครอสโอเวอร์ (Crossover) ที่ใช้ชื่อรุ่นนำหน้าด้วย “Tank” (แท้งค์) เช่น Tank 300, 500 และ 700

ในงานสัมมนาประจำปี 2022 บริษัทฯ เปิดเผยว่า ระบบนำทางดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้เป็นระยะทางรวมในจีนแล้วกว่า 15 ล้านกิโลเมตร และคาดว่าจะถูกนำไปใช้ใน 100 เมืองทั่วจีนภายในปี 2024

ประการสำคัญ เมื่อต้นปี 2023 บริษัทฯ ยังเปิดตัว “มานาโอเอซิส” (Mana Oasis) ศูนย์คอมพิวเตอร์ AVs ที่ใหญ่และทรงพลังมากที่สุดในจีน และประกาศเป็นพันธมิตรกับวอลคาโนเอ็นจิ้น (Volcano Engine) ที่แปลว่า “เครื่องยนต์ภูเขาไฟ” แพลตฟอร์มบริการคลาวด์ของไบต์แดนซ์ (ByteDance) 

ความร่วมมือดังกล่าวที่นำไปสู่พลังในการคำนวณที่สูงขึ้นดังกล่าว จะช่วยเชื่อม AVs กับศูนย์ฯ ด้วยแผนที่ที่ถูกต้องแม่นยำ และนำทางได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น และจะส่งเสริมให้การพัฒนาแพลตฟอร์มการอบรมอัจฉริยะของอุตสาหกรรมการขับ AVs เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

ดาวรุ่งอีกรายหนึ่งได้แก่ อินเซ็พทีโอเทคโนโลยี (Inceptio Technology) บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาทั้งในเซี่ยงไฮ้และฟรีมอนต์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีจุดขายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับ และตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายลอจิสติกส์ไร้คนขับทั่วประเทศจีน 

จนถึงปัจจุบัน รถบรรทุกของบริษัทฯ ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นระยะทางกว่า 10 ล้านกิโลเมตรไปแล้ว ผ่าน “Xuanyuan” (ซวนหยวน) ระบบนำทางไร้คนขับระดับ L3 ประสบความสำเร็จในการจัดส่งที่ระดับความแม่นยำ 100% อุบัติเหตุเป็นศูนย์ และใช้ระบบไร้คนขับกว่า 90%

ในด้านความร่วมมือ บริษัทฯ มี เหม่ยถวน (Meituan) และนีโอแคปปิตอล (NIO Capital) เข้ามาร่วมลงทุน ขณะที่ผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่ของจีนอย่าง Dongfeng และ Sinotruk ก็เข้ามาจับมือและทดลองใช้ระบบการช่วยเหลือคนขับในรถบรรทุก 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็มีช่องทางในการขยายตลาดในต่างประเทศ เมื่อได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในการทดสอบระบบการขับขี่เรียบร้อยแล้ว

รายถัดมาที่กำลังมาแรงก็คือ โรโบเซ้นต์ (Robosense) ก่อตั้งที่เซินเจิ้น เมื่อปี 2014 โดยมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการผลิตลิดาร์ (LiDAR) อุปกรณ์ตรวจจับแสง และ ช่วง ซึ่งมีกิจการในวงการ AVs ชั้นนำอย่าง WeRide และ Apollo ใช้ในรถโดยสาร รถบรรทุก และรถแท๊กซี่ไร้คนขับ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอัจฉริยะยุคใหม่

ต่อมา Robosense มีผู้ผลิตรถไฟฟ้าชื่อดังอย่าง BYD เข้ามาร่วมลงทุน และล่าสุดก็ขยายความร่วมมือในการจัดหาระบบ LiDAR ในรถยนต์อัจฉริยะรุ่นใหม่ให้แก่ Toyota 

กิจการต่อมาที่ไม่ยอมน้อยหน้าก็ได้แก่ ฮอไรซอนโรโบติกส์ (Horizon Robotics) ที่โด่งดังจากการพัฒนาชิปคุณภาพสูงอย่าง “Journey 5” ที่ช่วยสนับสนุนระบบการประมวลผลใน AVs อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระบุว่า บริษัทฯ ว่าจ้าง TSMC แห่งไต้หวัน เป็นผู้ผลิตชิปดังกล่าว ซึ่งซ่อนไว้ซึ่งความเสี่ยงอยู่บ้าง

                      รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (4)

นับแต่ปี 2015 บริษัทฯ ได้ขยายตลาดทั้งสินค้าฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ กับผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำหลายราย อาทิ Li Auto, BYD และ SAIC และด้วยศักยภาพที่มีอยู่ ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินทุนสนับสนุนมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกิจการข้ามชาติด้านซอฟท์แวร์หลายราย อาทิ อินเทล (Intel) ของสหรัฐฯ คาเรียด (Cariad) ของเยอรมนี และผู้ผลิตยานยนต์ของจีนอย่าง Chery และ FAW 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทฯ จะเข้าลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และด้วยสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ กดดันกับการจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีน ก็ทำให้ “วิกฤติ” ครั้งนี้อาจกลายเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต

รายสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงก็ได้แก่ แบล็กเซซามิเทคโนโลยี (Black Sesame Technologies) บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 และเก่งกาจในการผลิตชิปคอมพิวติ้งคล้าย กับ โฮไรซอนโรโบติกส์ ถึงขนาดระบุในเว็บไซต์ว่า “รู้เรื่องชิปดีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ และรู้เรื่องรถยนต์ดีกว่าอุตสาหกรรมชิป” 

บริษัทฯ มีเสียวหมี่ (Xiaomi) กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีนให้การสนับสนุนอยู่ โดยถือเป็นกิจการจีนรายแรกที่ ผลิตชิปเอไอสำหรับ AVs เมื่อเดือนเมษายน 2022 

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ยังได้รับการจัดชั้นโดยวารสารฟอร์บ (Forbes) ให้เข้าไปอยู่ในลิสต์ยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าแตะหลัก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังถูกคาดหมายว่าจะทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในอนาคตอันใกล้

คราวหน้าผมจะชวนไปพูดคุยถึงบทสรุปของอุตสาหกรรม AVs กัน จีนต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่อะไรอีกบ้าง เราจะได้ไปดูกันว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม AVs ของจีนจะเป็นเช่นไรในอนาคต ...