รถยนต์ไร้คนขับในจีนมาเร็วกว่าที่คิด (2)

23 มี.ค. 2566 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 06:36 น.

รถยนต์ไร้คนขับในจีนมาเร็วกว่าที่คิด (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3872

ช่วงนี้ผมมีภารกิจพบปะและอำนวยความสะดวกแก่คณะจีนที่ถาโถมเข้ามา รวมทั้งไปติดตามความคืบหน้าการต่อเติมบ้านของคุณแม่ที่จังหวัดนครนายก พอดีผมกะจะเร่งให้เสร็จทันฉลองปีใหม่ไทย ก็เลยขอขโมยเวลาเขียนบทความในวันหยุดบ้าง ต้องขอโทษ FC ที่รออ่านภาคต่อของเรื่องนี้กันอยู่ครับ ...

บางคนสงสัยว่า มนุษย์เราจำเป็นต้องมี หรือ นำเอารถยนต์ไร้คนขับ หรือ AVs มาใช้ด้วยหรือไม่ในอนาคต คำตอบของผมก็คือ “อาจไม่จำเป็น” เพราะตลอดหลายร้อยปีของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ก็ไม่เคยมี AVs มาก่อน ถ้าเป็นคนรุ่นผมก็ต้องถือว่าใช้ชีวิตกับรถยนต์ระบบสันดาป ที่ไม่มีหรือมีความเป็นอัตโนมัติน้อยมากมาเกือบทั้งชีวิต

ผมเชื่อว่า ก่อนหน้านี้ ผู้อ่านส่วนใหญ่คงต้องทนขับรถกับพวงมาลัยหนักๆ ครัช และ เกียร์แข็งๆ ที่ส่งเสียงโกรกกรากเวลาเปลี่ยนเกียร์อยู่นานหลายสิบปี บางคนอาจผ่านช่วงเวลาของความตื่นเต้นชนิด “เหงื่อออกมือ” เมื่อต้องขับรถขึ้นสะพานสูง หรือ รอคิวขึ้นอาคารสูง เพราะกลัวว่ารถที่กำลังขับอยู่จะไหลไปชนคันหลัง 
และหากคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทดลองขับรถยนต์ในยุคเก่าแบบ “เกียร์มือ” ก็คงเป็นเสมือน “มือใหม่” และอาจต้องไปสมัคร “เรียนขับรถ” อีกครั้งก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราก็ได้สัมผัสประสบการณ์การใช้รถยนต์ที่มี “ความอัตโนมัติ” เพิ่มขึ้นโดยลำดับจนมีระบบ “เกียร์อัตโนมัติ” ที่ไว้วางใจได้ หรือมี “ระบบการสื่อสารและการควบคุม” ที่ช่วยการขับขี่ดังเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้น แม้ว่า AVs จะ “ไม่มีความจำเป็น” ในชีวิตจริงของคนรุ่นนี้ แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า เมื่อเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมสรรพ การใช้ AVs จะได้รับความนิยม และก่อประโยชน์กับผู้คนในวงกว้างในหลากหลายมิติได้อย่างแน่นอน

ประโยชน์แรกเลยก็คือ การลดอุบัติเหตุในการขับขี่ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินถนน และอื่นๆ ได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน เนื่องจาก AVs จะเป็นพาหนะที่ต่อยอดจาก EVs ทำให้ผู้ใช้รถลดการใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาป และเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานสีเขียว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ ระบบที่เป็นอัตโนมัติยังจะช่วยลดปัญหาการจราจร โดย AVs ที่มีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะเลือกเส้นทางถนนที่เหมาะสมแทนมนุษย์

ลองนึกถึงช่วงเวลาเร่งรีบหรือในบางสถานที่ อาทิ การติดอยู่ในท้องถนน หรือต้องวนหาที่จอดรถในลานจอดรถของสนามบินหรือห้างสรรพสินค้า ที่เราต้องสูญเสียเวลาคุณภาพและเสียอารมณ์ รวมทั้งเผาน้ำมันไปไม่มากก็น้อย

และถ้าเป็นกรณีของรถแท็กซี่ไร้คนขับ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “RoboTaxi” (โรโบแท็กซี่) คนขับก็ไม่ต้อง “ตรากตรำ” วิ่งหาลูกค้าตามท้องถนน เพราะระบบจะสามารถกำหนดให้ AVs วิ่งไปรับผู้โดยสารเมื่อถูกเรียกผ่านแอพ และสามารถให้บริการได้ 24/7 แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แถมเมื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบของรถแท๊กซี่ไร้คนขับ ก็จะประมวลผลและเคลื่อนตัวไปสู่จุดจอดรถที่เหมาะสมที่สุด และจอดพักจนกว่าจะมีคนเรียกใช้บริการอีกครั้ง ซึ่งนั่นหมายความว่า ระบบจะยังคงเชื่อมโยงกับศูนย์ควบคุมอยู่ตลอดเวลา

เท่ากับว่า การนำ AVs มาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และลดความหนาแน่นของการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ผู้อ่านอาจคิดเลยต่อไปถึงประเด็นผลกระทบเชิงลบ อาทิ ปัญหาการจ้างงาน ในด้านหนึ่ง AVs ระดับสูงจะแย่งตำแหน่งงานขับรถไปจากมนุษย์ 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากเรามองว่างานขับรถเป็นงานที่น่าเบื่อหน่ายและได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ การที่ไม่ต้องใช้คนขับรถก็เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เราสามารถพัฒนาคนเหล่านั้นไปทำงานที่มีคุณภาพและผลตอบแทนที่สูงกว่าได้

ยิ่งเรามองดูสภาพการณ์ที่อัตราการเกิดของคนจีน ที่มีแนวโน้มลดต่ำลง ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานที่น้อยลงด้วยแล้ว จีนก็อาจได้รับประโยชน์จาก AVs มากกว่าที่เราคาดคิดไว้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นรัฐบาลจีนสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนา AVs ในเชิงรุก

ในแง่ของการใช้งาน AVs อาจเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของผู้คนในจีนในวงกว้าง ผมสังเกตเห็นว่า คนจีนจำนวนมากมี “ความอึด” และ “นิยม” ขับรถท่องเที่ยวระยะทางไกล ส่วนหนึ่งเพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และมีโครงข่ายทางถนนที่ได้มาตรฐานและกว้างขวาง

                      รถยนต์ไร้คนขับในจีนมาเร็วกว่าที่คิด (2)

แต่ในทางปฏิบัติ “คนขับ” ก็ไม่อาจร่วมสนุก หรือ งีบหลับพักผ่อนเฉกเช่นเดียวกับผู้ร่วมเดินทางในระหว่างทางได้มากนัก และเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ก็มักอ่อนเพลียไปกับการขับรถ และไม่ได้สนุกกับกิจกรรมสันทนาการอย่างที่ควรจะเป็น การมาของ AVs จึงคาดว่าจะทำให้คนจีนเลือกเดินทางข้ามมณฑลและภูมิภาคกันมากขึ้น

ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือ การใช้ AVs จะเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้ช่วงเวลาระหว่างการเดินทางในการประชุม สังสรรค์ ชมหนัง หรือ ละครซีรี่ย์เรื่องโปรด หรือ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา รวมทั้งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้

เหล่านี้เป็นการเพิ่มระดับการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ รวมทั้งคืนเวลาคุณภาพให้แก่ผู้คนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผลจากโควิด-19 ยังทำให้คนส่วนใหญ่อยากลดความเสี่ยงโดยเลือกใช้รถส่วนตัว และเดินทางเป็นกลุ่มเล็กเฉพาะสมาชิกครอบครัวและคนสนิท ซึ่ง AVs สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้

ประการสำคัญ AVs ยังจะเปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพได้รับความสะดวกในการเดินทาง เพราะในบางประเทศ ผู้หญิงหรือคนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาจมีข้อจำกัดในการขอรับใบขับขี่ ขณะที่คนทุพพลภาพก็สามารถใช้ชีวิตในการเดินทางได้ด้วยความสะดวก

จีน “ฝันไกล” ในการยกระดับสถานะจากการเป็น “ผู้ตาม” ในยานยนต์ระบบสันดาปสู่การเป็น “ผู้นำ” ในตลาด EVs ในอนาคตอันใกล้ และยกระดับเป็น “ผู้คุม” ตลาด AVs ในระยะยาว 

แต่รัฐบาลจีนก็ยังมี “การบ้าน” ในการพัฒนาระบบนิเวศรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอด ระบบยานยนต์อัตโนมัติ ถนนอัจฉริยะ จุดพักรถพร้อมแท่นชาร์ตไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น รวมถึงกฎหมายความรับผิดชอบและระบบประกันภัย เป็นต้น

หนทางารพัฒนาสำหรับ AVs ในจีนยังอีกยาวไกล คราวหน้าผมจะชวนไปคุยกันว่ามาถึงวันนี้ จีนพัฒนา AVs ไปถึงไหนกันแล้ว และแบรนด์ AVs เข้ามาแข่งขันในท้องตลาดมากน้อยขนาดไหน และอยู่ในรูปแบบใด ...