หลังจากพาท่านผู้อ่านไปชิมบะหมี่ “เริ่อกันเมี่ยน” ซดซุป “รากบัวกระดูกหมู” และลิ้มรส “เป็ดอู่ฮั่น” รวมทั้งไปรู้จักงานเทศกาลว่ายข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงที่จัดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึง ท่านเหมา เจ๋อตง ที่ไปลงว่ายน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงในครั้งสุดท้ายแล้ว ผมจะขอพาไปส่องอู่ฮั่นในมิติอื่นกัน...
อู่ฮั่นจัดเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการศึกษาของภาคกลางของจีน
นอกจากนี้ อู่ฮั่นยังมีชื่อเสียงในการเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์แต่ครั้งในอดีต คนจีนเปรียบเปรยอู่ฮั่นว่าเป็นเสมือน “สี่แยกใหญ่” ของจีน
คนจีนมองว่า อู่ฮั่นมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ใครจะเดินทางข้ามภูมิภาค มักแวะพักค้างคืนที่อู่ฮั่นก่อนเสมอ พร้อมตั้งฉายานามว่าเป็น “เส้นทางสู่มณฑลทั้ง 9” ของจีน
เพื่อรักษาสถานะดังกล่าวไว้ รัฐบาลอู่ฮั่นได้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่อง อู่ฮั่นในปัจจุบันจึงกลายเป็น “ชุมทาง” หลากหลายรูปแบบการขนส่ง
ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน สนามบิน และท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งแต่ละรูปแบบก็นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ตอนกลางของจีน ทำให้อู่ฮั่นถูกขนานนามว่าเป็น “ชิคาโกของจีน” ในอีกชื่อหนึ่ง
อู่ฮั่นถือเป็นเมืองใหญ่ที่คนท้องถิ่นภาคภูมิใจ และนิยมเรียกกันว่า “ต้าอู่ฮั่น” ที่เกิดขึ้นจากการรวมกันของ 3 เมืองประวัติศาสตร์ อันได้แก่ อู่ชาง (Wuchang) ฮั่นโข่ว (Hankou) และ ฮั่นหยาง (Hanyang) ซึ่งเป็นเขตชุมชนเมืองตอนในของอู่ฮั่น ที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และกระจายตัวครอบคลุม 13 เขตบริหารของอู่ฮั่นในปัจจุบัน
“เมืองทั้ง 3 ของอู่ฮั่น” ดังกล่าวถูกแบ่งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสำคัญ อันได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง ที่ถือเป็น “สายน้ำทองคำ” กับ “แม่น้ำฮั่น” ลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำแยงซีเกียง
กล่าวคือ แม่น้ำแยงซีเกียงได้แบ่งอู่ชางออกจาก ฮั่นโขว่ และ ฮั่นหยางที่ตั้งอยู้ด้านซ้ายของสายน้ำนี้ และแม่น้ำฮั่น ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแยงซีเกียง ก็แบ่งฮั่นโขว่ (ทางตอนเหนือ) และฮั่นหยาง (ทางตอนใต้) ออกจากกัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่อู่ฮั่นถูกขนานนามว่า “เจียงเฉิง” (Jiang Cheng) หรือ “นครแห่งสายน้ำ” แถมห่างออกไปทางตะวันตกของมณฑลหูเป่ย ไม่ไกล ก็เป็นที่ตั้งของ “ซานเสียต้าป้า” (San Xia Da Ba) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “เขื่อนสามโตรก” (Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของกำลังผลิตติดตั้ง
อย่างไรก็ดี ด้วยสายน้ำใหญ่เหล่านี้ ก็ทำให้การเดินทางในพื้นที่ตอนในของอู่ฮั่น ต้องข้ามแม่น้ำเหล่านี้อยู่ตลอด แถมสะพานเหล่านี้ก็ถูกออกแบบก่อสร้างไว้สูงมาก เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สามารถลอดไปมาได้ ดังนั้น หากมีฝนตกครั้งใด ผู้สัญจรก็อาจต้องเผชิญกับปัญหารถติดหนักได้
และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนใน 3 พื้นที่นี้ นิยมเลือกที่พักอาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันในอดีตอยู่ในเขตเดียวกันซะเป็นส่วนใหญ่
แต่ก็โชคดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการก่อสร้างสะพานเพิ่มเติมในหลายจุดแล้ว รัฐบาลอู่ฮั่นยังได้ลงทุนก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำอีกหลายแห่ง ทำให้ปัญหาการจราจรระหว่าง 3 พื้นที่นี้ดีขึ้นมากในปัจจุบัน
ในการเดินทางคราวก่อน ผมพยายามเฟ้นถามคนท้องถิ่นเพื่อค้นหาว่าเขตใดเป็นพื้นที่เด่น “แลนด์มาร์ก” ของอู่ฮั่นตั้งอยู่ที่ไหน เขตใด ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มี” เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ทั้ง 3 ต่างก็พยายามสร้าง “จุดเด่น” ของตนเองเพื่อเสริมสร้างความเป็นที่รู้จักและชื่อเสียงอยู่ตลอด
“อู่ชาง” ถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดา “เมืองทั้ง 3” ดังกล่าว และเป็น 1 ใน 13 เขตเมืองของอู่ฮั่นในปัจจุบัน โดยตั้งอยู่ในด้านขวาของแม่น้ำแยงซีเกียง ตรงข้ามปากแม่น้ำฮั่น
เขตนี้มีความโดดเด่นในด้าน “การศึกษา” และนับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้อู่ฮั่น มีชื่อเสียงในการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาที่สำคัญของจีน
ในบรรดาสถาบันการศึกษาระดับปริญญาจำนวนเกือบ 100 แห่ง ในอู่ฮั่น ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตนี้ และมีนักศึกษารวมถึง 1.4 ล้านคน จนคนท้องถิ่นเปรยว่า อู่ฮั่นมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปต่อเมืองมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว
สถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ Wuhan University และ Wuchang Institute of Technology มีจุดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้อู่ฮั่นพัฒนา “ไฮเทคพาร์ค” (Hi-Tech Park) สวนอุตสาหกรรมล้ำสมัย ที่ใหญ่โตและเต็มไปด้วยต้นไม้และสวนดอกไม้สมดั่งชื่ออย่างแท้จริง
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใจกลางเมืองที่อยู่ในเขตนี้ ก็ได้แก่ “หวงเฮ่อโหลว (Huang He Lou) หรือ “หอนกกระเรียนเหลือง” ซึ่งไว้มีโอกาสต้องขอหยิบยกเอาประวัติ และเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอนกกระเรียนเหลืองแห่งนี้สักตอนเป็นการเฉพาะเลย
นอกจากนี้ เขตอู่ชางยังมีโรงแรมใหญ่อยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมเวสต์อิน (Westin) ที่ผมมีโอกาสไปพักเมื่อคราวก่อน เพราะนอกจากความใหม่เอี่ยมอ่องแล้ว โรงแรมแห่งนี้ยังมีอาหารเช้าคุณภาพดีที่หลากหลาย ห้องและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสรรพ และบริการที่ยอดเยี่ยม แถมยังมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
WS Dream Plaza ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่เปิดเมื่อปลายปี 2022 และร้านอาหารที่มีชื่อเสียง รวมทั้งร้านกาแฟอเมซอน สาขาแรกในอู่ฮั่น ก็ตั้งอยู่ในเขตนี้
ขณะที่เมืองฮั่นโข่วในอดีต ถูกซอยย่อยออกเป็น 4 เขตบริหารของอู่ฮั่น โดยพื้นที่ส่วนนี้เป็นเสมือนศูนย์กลางเชิงพาณิชย์ มีธุรกรรมการค้าขายมาก สาเหตุสำคัญเพราะเขตนี้เป็นที่ตั้งของท่าเรือใหญ่หลายแห่ง ท่าเรือที่ใหญ่สุดของพื้นที่แยงซีเกียงตอนกลางก็อยู่ในเขตนี้ จึงเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญในพื้นที่ตอนกลางของจีน
เจียงฮั่น (Jianghan) ถนนคนเดินชื่อดังที่มีอายุกว่า 100 ปี ก็อยู่ในเขตนี้ และยังคงเต็มไปด้วยคราบไคลของสถาปัตยกรรมตะวันตก ตั้งแต่ครั้งเข้ามายึดครองเมืองนี้ ที่ถูกเก็บรักษาและบูรณะไว้เป็นอย่างดี
ตลอดระยะทางราว 1 กิโลเมตร บนถนนคนเดินที่กว้างขวางพอควรแห่งนี้ ผมสังเกตเห็นจุดถ่ายภาพสวยๆ มากมาย และอุดมไปด้วยร้านสินค้าแบรนด์เนมของจีน โดยมีแบรนด์ต่างชาติค่อนข้างน้อย
บางช่วงก็ถูกตกแต่งเป็นอารมณ์ย้อนยุค ขายสินค้าแบรนด์ดังในอดีต ซึ่งนับว่าโดนใจผู้สูงอายุอย่างผมเป็นอย่างมาก พื้นที่บางช่วงก็สะท้อนถึงอิทธิพลของกระแสนิยมญี่ปุ่น เพราะร้านค้าถูกตกแต่งคล้ายย่านชินชูกุ (Shinjuku) ที่ร้านค้าจำหน่ายสินค้า และเปิดเพลงญี่ปุ่นอย่างกึกก้อง โดยมีวัยรุ่นจีนแต่งตัวคล้ายวัยรุ่นญี่ปุ่น เดินป้วยเปี้ยน และถ่ายรูปกันอย่างหนาตา
อีกบริการหนึ่งที่ผมเห็นหลายแห่งบนถนนนี้ที่หาดูได้ยากในเมืองไทยก็ได้แก่ “ร้านแคะหู” และดูจะเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะมีผู้คนจำนวนมากทั้งหญิงและชาย ต่างแวะเวียนไปใช้บริการอย่างหนาตา โดยร้านเหล่านี้แปะป้ายราคาค่าบริการเท่ากันหมดที่ 30 หยวน
โครงสร้างพื้นฐานสำคัญอีกแห่งหนึ่งก็ได้แก่ สนามบินอู่ฮั่นเทียนเหอ (Tianhe) ซึ่งถือเป็นสนามบินขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในเขตหวงผี (Huangpi) ราว 30 กิโลเมตรทางตอนเหนือของเขตนี้
สนามบิน “เทียนเหอ” หรือแปลตรงตัวว่า “สายน้ำแห่งท้องนภา” ถือเป็นสนามบินที่มีเครื่องบินขึ้นลงหนาแน่นมากที่สุดในภูมิภาคตอนกลางของจีนในปัจจุบัน
ตอนที่ผมไปใช้บริการสนามบินแห่งนี้ เมื่อคราวก่อนแล้วก็รู้สึกได้ถึง “ความมหึมา” และ “ความเพียบพร้อม” แค่การแท๊กซี่จากรันเวย์มาที่จุดจอดก็ใช้เวลาหลายนาที ตลอดเส้นทางจากประตูเครื่องไปประตูสนามบิน ก็ยาวสุดลูกหูลูกตา โชคดีที่มีสายพานเดินเชื่อมต่อกันตลอดทาง แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังใช้เวลาอีกนับสิบนาทีเลยทีเดียว
แถมช่วงนั้น ร้านรวงภายในสนามบินจำนวนมากก็ติดป้าย “ลดราคา” อย่างละลานตา จนนักช้อปหลายคนต้องเหลียวหลังมองกันเป็นแถว ดังนั้น หากท่านผู้อ่านผ่านไปทำธุระ หรือ ต่อเครื่องที่อู่ฮั่น ผมก็ขอแนะนำให้ท่านเผื่อเวลาภายในสนามบินไว้หน่อยครับ
ภายหลังการล็อกดาวน์อู่ฮั่น เมื่อต้นปี 2020 สนามบินแห่งนี้ก็ถูกสั่งปิดชั่วคราว และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง นับแต่เดือนเมษายน 2020 แต่เท่าที่ผมสังเกต ดูเหมือนสนามบินจะยังไม่กลับมาสู่สภาวะปกติ เพราะจำนวนเที่ยวบินเข้าออกยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ ทำให้บางพื้นที่ภายในอาคารที่กว้างใหญ่ยังดูเวิ้งว้าง
อีกเรื่องนี้ที่ทำให้ฮั่นโข่วต้องพยายามสร้าง “จุดขาย” ใหม่ ก็คือ ภาพความโดดเด่นในการเป็นตลาดค้าส่งสินค้าที่สำคัญของจีนในอดีต ได้ถูก “อี้อู” เมืองขนาดเล็กในมณฑลเจ้อเจียงแย่งชิงไปแล้ว โดยหลังจากใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมา เมืองอี้อูได้พัฒนาขึ้นเป็น “ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่สุดในโลก” ไปเสียแล้ว
ตอนหน้าผมจะขอพาไปสัมผัสฮั่นหยาง อีกเมืองประวัติศาสตร์ของอู่ฮั่น และไปทดลองนั่งรถไร้คนขับ และรถรางแบบแขวนกันครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน