จีนสร้างความตื่นตะลึงด้วยการลงทุนในการพัฒนาบ้านเมือง โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในโครงการที่พึ่งเปิดใช้เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้แก่ โครงการผันน้ำยักษ์ ซึ่งไม่วายสร้าง “ความว้าว” อีกครั้ง ยิ่งในสภาวการณ์ที่ภัยแห้งถาโถมเข้าใส่ภูมิภาคเอเซียอยู่ด้วย น้ำยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
“เมกะโปรเจ็ก” นี้ใหญ่ขนาดไหน ผันน้ำจากที่ไหนไปสู่พื้นที่ใด และจีนต้องเผชิญและฟันฝ่าเอาชนะปัญหาอุปสรรค และความท้าทายได้อย่างไร ...
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ในเชิงภูมิศาสตร์ จีนนับเป็นดินแดนแห่งขุนเขา โดยพื้นที่ราว 2 ใน 3 เป็นแนวเทือกเขาและที่ราบสูง “หิมาลัย” ถือเป็นแนวเทือกเขาสูงสุดในโลกที่ตั้งอยู่ในบริเวณ “ตูดไก่” ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บางท่านรู้จักผ่าน “เขตที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่”
ขณะเดียวกัน เทือกเขาและเขตที่ราบสูงดังกล่าวก็เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำใหญ่หลายสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำแยงซีเกียง หวงเหอ หรือที่เรานิยมเรียกว่า แม่น้ำเหลือง และ แม่น้ำโขง ที่ลดหลั่นทอดยาวลงมาสู่พื้นที่ราบด้านซีกตะวันออกและตอนใต้ นำไปสู่แหล่งอารยธรรมสำคัญของจีน และประเทศในกลุ่ม CLMVT
ขณะที่พื้นที่ตอนบนเหนือแนว “คอไก่” ของจีน ก็เป็นทะเลทรายบ้าง ภูเขาบ้าง แต่ไม่อาจเป็นแหล่งต้นน้ำที่ใหญ่มากพอสำหรับเลี้ยงดูผู้คนทางตอนเหนือของจีน ที่มีจำนวนหลายร้อยล้านคนได้ และต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ในภาคเหนือของจีน ยังเป็นศูนย์กลางการเมือง อุตสาหกรรม และ การเกษตร
ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายมิติดังกล่าว ทำให้ภาคเหนือของจีนมีส่วนแบ่งของแหล่งน้ำต่อหัวที่จํากัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่ตอนเหนือพยายามลดข้อจำกัด ด้วยการใช้ประโยชน์จากน้ำใต้ดินที่มากเกินไป ซึ่งบ่อยครั้งเป็นต้นทุนและความเสียหายของภาคการเกษตร และนําไปสู่ปัญหามากมาย อาทิ การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในพื้นที่ชนบท การทรุดตัวของพื้นดิน และ การเกิดพายุทราย
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งอย่างจริงจังและยั่งยืน จีนจึง “คิดการใหญ่” ด้วยการลงทุนในโครงการผันน้ำจากพื้นที่ทางตอนใต้ขึ้นสู่ตอนเหนือ
ข้อมูลระบุว่า เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอแนวคิดโครงการผันน้ำเอาไว้ครั้งแรก เมื่อปี 1952 โดยกล่าวไว้ว่า “ทางใต้มีน้ำมาก ทางเหนือมีน้ำน้อย ถ้าเป็นไปได้ การยืมน้ำสักหน่อยก็คงจะดี” เพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มขึ้นใน ปักกิ่ง เทียนจิน และ เมืองทางตอนเหนือในมณฑลเหอเป่ย เหอหนาน และ ซานตง เป็นต้น
แต่จีนต้องรอความพร้อมอยู่นานกว่าจะเริ่มต้นดำเนินโครงการผันน้ำนี้ได้ โดยหลังจากการศึกษาวิจัยและวางแผนในรายละเอียด รวมทั้งประชุมหารือกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุด “เมกะโปรเจ็ก” นี้ ก็ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2002 ซึ่งอาจถือเป็นวันก่อกำเนิดโครงการนี้อย่างเป็นทางการ
ในภาพรวม โครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างรวม 50 ปี โดยประกอบด้วยเส้นทางผันน้ำ 3 สายหลักที่ทอดยาวจากใต้จรดเหนือทั่วภาคตะวันออก ภาคกลาง และ ตะวันตกของประเทศ และเชื่อมโยงแหล่งน้ำหลัก 4 ส่วนของจีน อันได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำเหลือง ฮ่วยเหอ และ ไห่เหอ เข้าด้วยกัน
หากพิจารณาจากบทบาทและประโยชน์ของแต่ละเส้นทางน้ำแล้ว ผมประเมินว่า เส้นตอนกลางน่าจะเป็นเส้นทางน้ำที่สำคัญที่สุด เพราะถูกออกแบบเพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำตันเจียงโข่ว ในมณฑลหูเป่ย ผ่านเหอหนาน และ เหยเป่ย เข้าสู่กรุงปักกิ่ง และ นครเทียนจิน มหานครแฝดทางตอนเหนือของจีน โดยมีความยาวรวม 1,267 กิโลเมตร และเริ่มทดลองผันน้ำตั้งแต่ปลายปี 2014
ปัจจุบัน ราว 3 ใน 4 ของปริมาณน้ำที่ปักกิ่งดื่มใช้โดยรวมมาจากอ่างเก็บน้ำดันเจียงโช่ว ที่ตั้งอยู่ห่างไปกว่า 1,200 กิโลเมตร หรือ ว่าง่ายๆ เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเคลื่อนย้ายมวลน้ำจำนวนมหาศาลจาก กทม. ถึงเบตง ใต้สุดของไทยเลยทีเดียว!!!
ขณะที่เส้นตะวันออกถูกออกแบบเพื่อผันน้ำจากมณฑลเจียงซู ขึ้นไปหล่อเลี้ยงมณฑลซานตง และ นครเทียนจิน ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี 2013
ที่น่าสนใจก็คือ เส้นตะวันออกนี้พาดผ่านเส้นทางแกรนด์คาแนล (Grand Canal) คลองขุดด้วยฝีมือมนุษย์ ที่เริ่มต้นก่อสร้างในสมัยราชวงศ์สุย และ พาดยาว ระหว่างปักกิ่ง-หางโจว รวมระยะทาง 1,776 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นคลองเทียมที่ยาวที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายการก่อสร้างเส้นทางตะวันออก และ ตอนกลางโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่กว่า 37,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนได้สํารองเงินไว้อีกราว 8,000 ล้านเหรีญสหรัฐฯ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นโยบายระดับชาติ และ โครงสร้างการลงทุนในโครงการ
ขณะที่เส้นตะวันตกที่อยู่ระหว่างการวางแผน โดยถูกออกแบบเพื่อผันน้ำจากที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ที่ระดับความสูงระหว่าง 3,000-5,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายทางวิศวกรรมและภูมิอากาศ
แต่เมื่อเส้นทางนี้แล้วเสร็จในราวปี 2050 โครงการส่วนนี้จะนําน้ำปริมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จาก 3 แควของแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นระยะทางราว 500 กิโลเมตร ข้ามเทือกเขาบายันกาลา ใน มณฑลชิงไห่ ไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ที่แห้งแล้งด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เช่น ชิงไห่ กานซู่ ส่านซี ซานซี มองโกเลียใน และ หนิงเซี่ย
โครงการผันน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2050 และใช้เงินลงทุนรวม 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของเขื่อนสามโตรก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโครงการผันน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถผันน้ำ 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไปยังศูนย์กลางประชากรของภาคเหนือที่ขาดแคลนน้ำ
เรากำลังพูดถึงการผันมวลน้ำในปริมาณกว่า 200 เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ที่เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก (มีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร) ในแต่ละปี
มาถึงวันนี้ โครงการนี้ดำเนินการไปถึงไหน และโครงการต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอะไรบ้าง เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...