เกษตรกรรมจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีหลัง ย้อนกลับไปในยุคปิดประเทศ คนจีนอดอาหารตายปีละเป็นล้านคน ครั้นพอเปิดประเทศ รัฐบาลจีนก็ส่งผู้แทนออกไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของไทย
แต่ในช่วงหลายปีหลัง เราต้องเปลี่ยนไปดูงานที่จีนกันแล้ว ผลิตภาพทางการเกษตรของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การปศุสัตว์ก็พัฒนาจนมีความทันสมัยอย่างคาดไม่ถึง
ในด้านการประมง จีนมีประวัติศาสตร์ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยาวนานกว่า 1,000 ปี ในช่วงหลายทศวรรษหลัง จีนประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์เทียมปลาคาร์พ และ สาหร่ายทะเลจีนหลายสายพันธุ์ ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการผสมพันธุ์เทียมสัตว์น้ำและพืชของจีน
ในระยะหลัง จีนได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการประมงเพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่อง จนผู้คนในวงการประมงเริ่มเปรยว่า จีนได้ปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงของตนเอง จนสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับโลกไปแล้วในปัจจุบัน ...
ในเชิงภูมิศาสตร์ จีนมีขนาดใหญ่กว่าไทยราว 18 เท่า และมีชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันออก ที่ยาวเหยียดถึงราว 14,500 กิโลเมตร ซึ่งถูกใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเข้มข้น
ขณะเดียวกัน จีนยังมีพื้นที่ทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำรวมกว่า 196,000 ตารางกิโลเมตร และสายน้ำในแม่น้ำหลายสายอีก 74,550 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลักของจีนอยู่ในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงตอนกลางและตอนล่าง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน
จีนสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยรวมถึงราว 70 ล้านตันในปัจจุบัน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นกว่า 60% ของการผลิตสัตว์น้ำทั่วโลก และมากกว่าอันดับ 2 อย่างอินเดียนับ 10 เท่าตัว
ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าจะมีกองเรือประมงทะเลลึกที่ใหญ่ที่สุด และส่งออกอาหารทะเลมากกว่าประเทศใดในโลก แต่จีนก็เป็นประเทศประมงรายใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ผลิตปลาในฟาร์มได้มากกว่าที่จับได้
อุตสาหกรรมการประมงนับว่ามีขอบข่ายกว้างขวาง โดยเกี่ยวข้องตั้งแต่ธุรกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิต การบำรุงรักษา และการจัดหาอุปกรณ์ตกปลา เรือประมง เครื่องจักรเครื่องมือการประมง และวิธีการผลิตอื่น
ไปจนถึงธุรกรรมปลายน้ำ เช่น การจัดเก็บ การแปรรูป การขนส่ง และ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมไปถึงส่วนสนับสนุน อาทิ การก่อสร้างท่าเรือประมง ผลิตภัณฑ์ปลาจึงนับว่าเป็นองค์ประกอบสําคัญของเศรษฐกิจจีน
ในด้านอุปสงค์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวจีน การขยายตัวของคนชั้นกลางทำให้ความต้องการบริโภคปลาของจีนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน จีนมีฐานะเป็นผู้บริโภคอาหารทะเลอันดับ 1 ของโลก โดยนําเข้าอาหารทะเลส่วนใหญ่มาจาก รัสเซีย สหรัฐฯ และ นอร์เวย์
การประมงยังมีส่วนสําคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างอาหาร และสนับสนุนนโยบายความปลอดภัยด้านอาหารของจีน รวมทั้งยังช่วยจัดหาวัตถุดิบแก่หลายอุตสาหกรรมแปรรูป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การประมงเป็นแหล่งที่มาของห่วงโซ่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำแปรรูปที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน นอกจากมิติในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำที่เกี่ยวข้องแล้ว การประมงของจีนยังมีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงโดยรวม
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลผลิตประมงของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำของจีน นับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากจนมีความทันสมัย ทำให้การประมงของจีนมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการตลาด การค้า และ การบริโภคทั้งภายใน และต่างประเทศ
ข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ลงสู่ทะเลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้รัฐบาลจีนใช้จังหวะโอกาสนี้ ในการจัดการระบบนิเวศและฟื้นฟูแหล่งน้ำในซินเจียง ซีกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ซินเจียงเป็นมณฑลประมงที่สําคัญที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และมีทรัพยากรมากมาย อาทิ พื้นน้ำขนาด 4.8 ล้านไร่ และพื้นที่ภูเขาน้ำแข็งมากกว่า 24,000 ตารางเมตร
และยังได้ขยายพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ดินและน้ำเค็มขนาดใหญ่ในท้องถิ่น ให้กลายเป็นพื้นที่สําหรับการเพาะปลูก ทำให้กลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงในภูมิภาค
กิจการประมงในพื้นที่ยังได้ขยายความร่วมมือกับธุรกิจอื่นตามยุทธศาสตร์ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เพื่อเชื่อมต่อกับ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง และส่งออกปูซินเจียง ปลาแซลมอน และ ผลิตภัณฑ์ประมงอื่นไปยังภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ซึ่งเพิ่มรายได้แก่ผู้คนในพื้นที่ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ประเด็นสำคัญก็คือ อะไรเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมด้านการประมงที่ทำให้จีนก้าวขึ้นมาสู่ระดับโลกในปัจจุบัน
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การพัฒนาฟาร์มเลี้ยงปลานอก ชายฝั่งขนาดใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกอัจฉริยะนี้ถูกออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์จากน่านน้ำ “นอกชายฝั่ง” และจาก “ความประหยัดอันเนื่องจากขนาด” (Economies of Scale) ที่นำไปสู่ต้นทุนที่ลดลง
อย่างไรก็ดี จุดเด่นเหล่านี้ ต้องมากพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง อันเนื่องจากระยะห่างที่ไกลจากชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านลอจิสติกส์ อาทิ การขนส่งอาหารสัตว์ การจัดหาพลังงาน และ การขนส่งผลผลิต
ที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาฟาร์มเลี้ยงปลาอัจฉริยะนี้ออกมาหลายเวอร์ชั่น ไล่ตั้งแต่ “Deep Blue 1” ซึ่งนับเป็นฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่งแห่งแรกของจีน
Deep Blue 1 ถูกออกแบบและก่อสร้างในโครงสร้าง 8 เหลี่ยมขนาดใหญ่สีเหลือง และมีเสาเหล็กที่ทอดยาวลงไปในน้ำ 30 เมตร ที่ล้อมรอบด้วยตาข่ายสีดํา ทำให้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงใต้น้ำทะเลที่มีปริมาตร 50,000 ลูกบาศก์เมตรในกลางทะเลเหลือง ที่อยู่ห่างจากฝั่งราว 100 ไมล์ทะเลทางตอนเหนือของจีน
ฟาร์มอัจฉริยะนี้เลือกใช้บริเวณทะเลเหลือง ที่น้ำมีอุณหภูมิเย็นตลอดทั้งปี ซึ่งเหมาะกับปลาแซลมอน และด้วยขนาดที่ใหญ่ ก็ทำให้สามารถเลี้ยงปลาแซลมอนในคราวเดียวกันได้มากถึง 300,000 ตัว และให้ผลผลิตปลาเกือบ 1,500 ตันต่อปี
ขณะที่เรือสนับสนุนก็เป็นที่พักของพนักงานในฟาร์ม และใช้เพื่อแปรรูปปลาที่พร้อมออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว
ไปส่องนวัตกรรมด้านการประมงของจีนต่อในตอนหน้าครับ ...