ต่อข้อกล่าวหาว่า “จีนทุ่มตลาดสินค้าเพราะกำลังการผลิตส่วนเกิน” มาคุยกันต่อเลยครับ ...
ในเชิงอุปสงค์ ความร่วมมือที่เคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันแบบไร้รอยต่อระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชนของจีน ก็มีส่วนช่วยเสริมให้การลงทุนของภาครัฐ และการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องพลอยได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
ในกรณีนี้ การเสริมสร้างกระแส “ความรักชาติ” จึงนับว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนานั่นเอง ลองคิดดูหากผู้บริโภคจีนไม่เสี่ยงซื้อสินค้าใหม่ที่สตาร์ตอัพจีนพัฒนาขึ้น การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิต และอื่นๆ ของภาคเอกชน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ก็ย่อม “สูญเปล่า” และ “ขาดประสิทธิภาพ” ในที่สุด
ในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ จีนยังมีหลักคิด “เปลี่ยนเลนส์แซง” ที่มองข้ามช็อตไปสู่อุตสาหกรรม EV ควบคู่กับการผลักดัน “กลไกตลาด” (Market Mechanism) เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันและการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม โดยยึดเอาผลประโยชน์ของ “ชาติและประชาชน” ในระยะยาวเป็นที่ตั้ง
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็น EV จีนจำนวนราว 500 แบรนด์ในยุคก่อนโควิด แต่ด้วยระดับการแข่งขันที่สูง ผสมโรงเข้ากับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ก็ทำเอาหลายร้อยแบรนด์เหล่านั้นล้มหายตายจากไป และลดลงเหลือราว 200 แบรนด์ในปัจจุบัน
ด้วยระบบนิเวศที่แข็งแกร่งดังกล่าว กิจการ EV ที่เหลือรอดอยู่จึง “แข็งแกร่ง” มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และพร้อมก้าวออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า อุตสาหกรรม EV จีนเติบใหญ่ขึ้นมาได้โดยอาศัยโมเดลการพัฒนา “วงจรคู่” ที่ใช้ตลาดภายในประเทศเป็น “พลังหลัก” และเติมเต็มด้วยตลาดต่างประเทศ นั่นหมายความว่า ตลาดต่างประเทศเป็นเพียง “พลังเสริม” ให้กับสินค้าจีนเท่านั้น
แต่ปัจจัยความพร้อมและประสิทธิภาพเหล่านี้ ช่วยให้ EV ของจีนมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับของสินค้าต่างชาติ แม้กระทั่งในตลาดนอกบ้าน
รายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ยังพบว่า ผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีอัตราการใช้ประโยชน์จากตลาดต่างประเทศในระดับปกติ ไม่ได้สูง “มากเกินไป” และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการอุดหนุนของรัฐบาลจีนอย่างที่สหรัฐฯ กล่าวหาแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน หลายประเทศตะวันตก อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ต่างพยายามสร้างภาพว่าจีนเป็น “ภัยคุกคาม” เพื่อให้โลกเข้าใจผิด และมองการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ของจีนในเชิงลบ และบั่นทอนโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน
เท่านั้นไม่พอ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็ยัง “ซ่อนดาบ” ดำเนินมาตรการกีดกันการนำเข้า และอุดหนุนอุตสาหกรรม EV ภายในประเทศ หรือ กลุ่มพันธมิตรอย่างเข้มข้น
ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กฎหมายการลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) รัฐบาลสหรัฐฯ อัดเม็ดเงินงบประมาณเกือบ 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ซึ่งครอบคลุมถึง EV ทำนองคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับหลายประเทศในยุโรป
นี่ยังไม่ได้นับรวมถึง พระราชบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ (Chip and Science Act) ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จัดตั้งเงินกองทุนและกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจำนวนมหาศาล แก่กิจการในกลุ่มสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แถมขณะเขียนบทความตอนนี้ สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าระลอกใหม่ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเรียกเก็บอากรในสินค้าจีนหลายประเภทเพิ่มขึ้นราว 2-4 เท่าของอัตราเดิมที่เรียกเก็บอยู่
อาทิ EV (จาก 27.5% เป็น 102.5%) แผงโซล่าเซลล์ (จาก 25% เป็น 50%) เซมิคอนดักเตอร์ (จาก 25% เป็น 50%) แบตเตอรีลิเทียมไอออน (จาก 7.5% เป็น 25%) ถุงมือยางและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ (จาก 0-7.5% เป็น 25-50%) ยังเป็นการส่งสัญญาณแปลกๆ ออกมา
ประการแรก การกำหนดมาตรการในครั้งนี้ ดูจะขัดแย้งกับหลักการของเศรษฐกิจเสรีที่สหรัฐฯ ยึดมั่นและผลักดันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว เหมือนกำลังบอกกับโลกว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้หมดศรัทธาใน “การค้าเสรี” และหลักการเศรษฐกิจเสรีที่อยู่บนพื้นฐานของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแล้ว
ประการถัดมา การอุดหนุนและการออกมาตรการกีดกันแบบ “ฟาดแรง” ใส่สินค้าจีนในครั้งนี้โดยหยิบเอาประเด็น “การส่งออกที่มากเกินไป” และ “การอุดหนุน” ของจีนมาเป็นข้ออ้าง ยังนับเป็นการส่งสัญญาณไปยังจีน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกว่า สหรัฐฯ ต้องการเพียง “ให้ทำตามที่บอก แต่ห้ามทำอย่างที่(เรา)ทำ”
ในมุมมองของผม การออกมาตรการกีดกันด้านภาษีในครั้งนี้มุ่งหวังผลเพื่อ “ปกป้องคุ้มครอง” ตลาดภายในประเทศให้แก่ผู้ผลิตของสหรัฐฯ
ขณะที่การเพิ่มอากรนำเข้าในอัตราที่สูงลิ่วดังกล่าว ก็ดูไร้เหตุผลรองรับ หรือเป็นการประเมินอย่างคลาดเคลื่อน มิได้อยู่บนพื้นฐานของระดับ “การอุดหนุน” ของจีนอย่างที่กล่าวอ้าง แต่กลับไปอยู่บนความมุ่งหมายที่ต้องการ “ชดเชย” ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้าจีน
ยิ่งพอพิจารณาจากรายการสินค้าจีนที่โดนกีดกันดังกล่าว และช่วงเวลาที่ใกล้เข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้าด้วยแล้ว ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การกำหนดมาตรการในครั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่สินค้าเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และแฝงไว้ด้วยความมุ่งหวังผลทางการเมืองเป็นสำคัญ
ที่น่ากังวลใจมากขึ้นก็คือ มาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าวยังทำท่าจะ “ขยายวง” โดยหลายฝ่ายคาดว่ายุโรปอาจจะ “เลียนแบบ” ประกาศเรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าจีน ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในอนาคตอันใกล้
สิ่งนี้สะท้อนว่า สหรัฐฯ และ ชาติพันธมิตร กำลังมองผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องเหนือผลประโยชน์ของโลก
ปัจจัยทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นตัวกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของตนเอง และชาติพันธมิตร โดยไม่คำนึงถึงส่งผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาโดยรวมของโลกในอนาคต
ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาว่า “สินค้าพลังงานใหม่ของจีนเกินความต้องการของโลก” เราไปคุยกันในตอนหน้าครับ ...