ว่าด้วย“กําลังการผลิตส่วนเกิน”สู่“กำลังการผลิตคุณภาพใหม่”ของจีน (3)

09 มิ.ย. 2567 | 01:30 น.

ว่าด้วย“กําลังการผลิตส่วนเกิน”สู่“กำลังการผลิตคุณภาพใหม่”ของจีน (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีนsหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3999

มาคุยกันต่อถึงข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ 2 กันครับ “สินค้าพลังงานใหม่ของจีนเกินความต้องการของโลก” ในประเด็นนี้ ผมคิดว่าอาจเป็น “ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน” และพอยิ่งไปส่องดูตัวเลขที่เกี่ยวข้องแล้วก็สรุปได้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวยัง “ห่างไกล” จากความเป็นจริงอยู่มาก

ประการแรก โดยบริบททางเศรษฐกิจที่ยึดถือกันมาในยุคหลัง ผลิตภัณฑ์ส่วนเกินภายในประเทศ ถ้าไม่เก็บเป็นสินค้าคงคลังไว้ ผู้ประกอบการก็จะมองหาแหล่งนำเข้าที่มีความต้องการในต่างประเทศ ในกรณีของกิจการขนาดใหญ่ที่เป็นมืออาชีพ ผู้บริหารมักออกแบบกำลังการผลิตที่สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

ในทางปฏิบัติ ทีมงานของบริษัทผู้ผลิตก็จะมองหาลูกค้าหลักจนได้ปริมาณออเดอร์ที่เหมาะสม และ “ผูกขา” กันไว้ในระยะยาว ซึ่งทำให้สามารถวางแผนด้านการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “การตลาด” นำ “การผลิต” ที่ให้ความสำคัญกับอุปสงค์ในตลาดโลก นอกจากครอบคลุมตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่าและอุปทานแล้ว จีนยังเร่งส่งเสริม “การพัฒนาคุณภาพสูง” ในอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทั้ง “ระบบนิเวศ” โดยมี “ความยั่งยืน” เป็นหลักสำคัญ

ส่งผลให้จีนมีความพร้อมในหลายด้าน จีนผลิตลิเธียมและนิกเกิลมากกว่า 50% และ โคบอลต์ คิดเป็นราว 70% ของผลผลิตโลก ซึ่งล้วนเป็นแร่ธาตุที่สําคัญสําหรับการผลิตพลังงานหมุนเวียน 

ขณะเดียวกัน จีนก็พัฒนาดเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าพลังงานสะอาดของจีน เช่น แบตเตอรีลิเธียม แผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม “ตอบโจทย์” เชิงการตลาด และสามารถส่งออกไปยังกว่า 200 ประเทศและภูมิภาค 

ประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกําลังพัฒนา สามารถเข้าถึงพลังงานที่สะอาด เชื่อถือได้ และ ราคาไม่แพง และ อํานวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็น “สีเขียว” และ “คาร์บอนต่ำ” ได้ทั่วโลก

การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวของจีนดังกล่าว จึงถือเป็นการสนับสนุนความพยายามของนานาประเทศ ในการปรับโครงสร้างสู่การผลิตสีเขียว และคาร์บอนต่ำบนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตสูง

ประการสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ก็ไม่มีความจำเป็นและไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องนำเข้าเกินกว่าความต้องการแต่อย่างใด ดังนั้น จีนจึงไม่ใช่ “ตัวปัญหา” แต่กลับช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน และค้ำจุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 

ประการที่ 2 แม้ว่าโลกจะมีความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และพยายามอย่างยิ่งที่จะยกระดับการผลิตสู่พลังงานสะอาด แต่จากข้อเท็จจริงก็พบว่า การผลิตสินค้าพลังงานใหม่ยังต่ำกว่าความต้องการของโลกในปัจจุบันและอนาคตอยู่มาก

จากรายงานของ “โกลบอลอีวีเอ้าต์ลุค” (Global EV Outlook) ที่ตีพิมพ์เมื่อปีก่อนระบุว่า สํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ประเมินว่า ความต้องการ EV ใหม่ทั่วโลก มีอยู่สูงถึง 45 ล้านคันต่อปี มากกว่า 3 เท่าของปริมาณการขายทั่วโลกในปี 2023 และถึงราว 4.5 เท่าของปี 2022 ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์ใหม่ EV ยังมากกว่าอุปทานโลกอยู่มากในปัจจุบัน

                                ว่าด้วย“กําลังการผลิตส่วนเกิน”สู่“กำลังการผลิตคุณภาพใหม่”ของจีน (3)

ขณะเดียวกัน แม้ว่าภาคพลังงานหมุนเวียนของสหรัฐฯ จะเฟื่องฟูระดับหนึ่ง แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่อาจผลิตอุปกรณ์ได้มากเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ข้อมูลหนึ่งระบุว่า ในปี 2021 สหรัฐฯ ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้เพียง 5 กิกะวัตต์ คิดเป็นไม่ถึง 25% ของการติดตั้งโดยรวมของประเทศ

นั่นหมายความว่า สหรัฐฯ ยังไม่อาจผลิตโซลาเซลล์ได้มากพอสำหรับอุปสงค์ภายในประเทศเสียด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ทั่วโลกในปี 2024 ก็คาดว่าจะสูงถึง 820 กิกะวัตต์ (Gigawatt ซึ่งเท่ากับ 1 พันล้านวัตต์) คิดเป็นราว 4 เท่าของปี 2022

และเพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โลกจําเป็นต้องมีกําลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีกถึง 7 เทระวัตต์" (Terawatt ซึ่งเท่ากับ 1 ล้านล้านวัตต์) ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ยิ่งเราพิจารณาจากสภาวะโลกร้อน ที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลงด้วยแล้ว ความต้องการกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน อาจจะต้องเพิ่มขึ้นมากและเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ซะด้วยซ้ำ หากโลกต้องรอคอย “กำลังการผลิต” ของสหรัฐฯ ชาวโลกก็อาจ “ร้อนตาย” ไปก่อนก็ได้ 

จากสถิติของ IEA พบว่า ในปีที่ผ่านมา โลกได้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 507 กิกะวัตต์ แต่การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตดังกล่าวก็คิดเป็นเพียงราว 50% ของความต้องการกำลังการผลิตตามที่สํานักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ประเมินไว้ว่าเท่านั้น

ทั้งนี้ IREA ประเมินว่า กำลังการผลิตหมุนเวียนของโลกจะต้องเติบโตปีละราว 1,000 กิกะวัตต์จนถึงปี 2030 เพื่อชะลอการเกิดสภาวะ “โลกเดือด” และบรรลุเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสมากกว่าอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมตามความตกลงปารีสดังกล่าว

โดยสรุป หากพิจารณาจากความต้องการที่แท้จริงของตลาดโลกก็พบว่า การนำเข้าสินค้าพลังงานใหม่ของตลาดโลกดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการสนองตอบต่อความต้องการบางส่วนที่มีอยู่เท่านั้น เพราะหลายประเทศยัง “รอ” นำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องอีกมากในอนาคต 

นั่นเท่ากับว่า โลกยังคงต้องการผลผลิตสินค้าพลังงานใหม่ จากฐานการผลิตแห่งใดๆ ในโลกอีกมากในอนาคต ตราบเท่าที่ฐานการผลิตเหล่านั้น “มีประสิทธิภาพ” 

แต่ดูเหมือนฐานการผลิตในสหรัฐฯ จะแข่งขันในเวทีโลกได้ ก็ต้องอาศัยเงินอุดหนุนผ่านกฎหมายหลายฉบับ ที่สหรัฐฯ ออกมาในช่วงหลัง อาทิ พระราชบัญญัติการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) 

ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว จะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็ผ่านข่าวหนึ่งที่สะท้อนสัญญาณเชิงบวก ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกิจการรายใหญ่ของคู่ขัดแย้งหลัก อันได้แก่ การริเริ่มก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ระหว่างฟอร์ด (Ford) แห่งสหรัฐฯ กับ Contemporary Amperex Technology Co. (CATL) ของจีน

โครงการความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดนี้มีมูลค่าการลงทุนถึง 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในมลรัฐมิชิแกน ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะ “ผลิดอกออกผล” ให้ “อินทรี” กับ “มังกร” ในภาพใหญ่หันมาจูบปากกันได้อีกครั้งหรือไม่

คราวหน้าผมจะชวนคุยข้อกล่าวหาในประเด็น “ขยะล้นโลก” และความเคลื่อนไหวของจีนที่งัดเอาเรื่อง “กำลังการผลิตคุณภาพสูงใหม่” มาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่กันครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน