เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (1)

08 ธ.ค. 2567 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2567 | 08:56 น.

เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4051

จีนดำเนินนโยบาย Made in China 2025 มาเป็นเวลา 9 ปี มุ่งหวังพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ “วัสดุใหม่” (New Materials) 
วันนี้ ผมจะพาไปคุยเรื่องบทบาทของการนำเอา “วัสดุใหม่” มาใช้ในการผลักดันให้เศรษฐกิจจีน “ก้าวกระโดด” ครั้งใหม่กันครับ ...

ผมขอเริ่มเล่าย้อนหลังเกี่ยวกับนโยบาย MIC 2025 ซะหน่อย เมื่อราวกลางปี 2015 คณะรัฐมนตรีจีนได้เปิดตัว MIC 2025 โดยตั้งเป้าที่จะให้เป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับ 10 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์สู่ยุคใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การเกษตรสมัยใหม่ ชีวการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่ พลังงานทางเลือก เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ขั้นสูง วิศวกรรมการบิน อวกาศ และ ทางทะเล รวมทั้งวัสดุใหม่ 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของจีนในเวทีระหว่างประเทศ กลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก และท้าทายความเป็นผู้นําทางด้านเทคโนโลยีระดับโลกของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร รวมทั้งบรรลุ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” อย่างเป็นรูปธรรม  

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาศัยกลยุทธ์ “บันได 3 ขั้น” อันได้แก่ การกำหนดเป้าหมายให้จีนพัฒนาเป็นประเทศผู้ผลิตที่แข็งแกร่งในระยะแรก โดยเพิ่มระดับการพึ่งพาวัสดุหลักภายในประเทศ 70% (จาก 40% ในปี 2020) ภายในปี 2025 

และกำหนดเป้าหมายในระยะที่ 2-3 ให้จีนมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมผู้ผลิตผลิตอื่นภายในปี 2035 และเสริมส่งให้ก้าวขึ้นเป็นมหาอํานาจด้านการผลิตภายในปี 2049

ก่อนเริ่มนโยบายดังกล่าว จีนประเมินว่า หากต้องการเติบใหญ่ขึ้นเป็น “เบอร์หนึ่ง” ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต จีนไม่อาจ “รอคอย” ผลงานวิจัยและพัฒนาของต่างชาติได้อีกต่อไป 

เพราะต่างชาติผลิตผลงานวิจัยได้น้อยและช้าเกินไป หรืออาจไม่ตรงกับความต้องการของจีน รวมทั้งยังกีดกันการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และ เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์การผลิต อย่างที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ภายหลังการวางรากฐานและต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ทศวรรษหลัง จีนก็มี “ความพร้อม” ในการรังสรรค์นวัตกรรมได้เทียบเท่า หรือดีกว่าของต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากดัชนีนวัตกรรมโลกของจีน ที่ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนมาอยู่ในระดับท๊อป 10 ของโลกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี โดยที่การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 2025 ซึ่งท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายระยะแรกที่ตั้งไว้ก่อนกำหนดเวลา แต่จีนก็ยังคงไม่อาจหยุดการพัฒนา แถมผมยังรู้สึกว่า จีนเติมความมุ่งมั่นที่พร้อมจะเผชิญกับความท้าทายใหม่เพื่อหวัง “พุ่งชน” เป้าหมายระยะถัดไปที่รออยู่มาระยะหนึ่งแล้ว 

ทำไมผมถึงมีข้อสังเกตดังกล่าว เพราะนับแต่กลางปี 2024 ผู้นำจีนได้เริ่มส่งสัญญาณการ “ต่อยอด” ด้วยการกล่าวถึงนโยบายใหม่ที่มีชื่อว่า “New-Quality Productive Forces” ที่อาจแปลให้เห็นภาพว่า “กำลังการผลิตคุณภาพสูงรูปแบบใหม่” และหลังจากนั้นก็ถูกหยิบยกหารือและบันทึกไว้ในการประชุมสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ และรายงานผ่านสื่อหลักของจีนมาอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูลของภาครัฐจีนระบุว่า NQPF เป็นการบูรณาการนวัตกรรมยุคใหม่ อาทิ ควอนตัม (Quantum) บล็อกเชน (Blockchain) บิ๊กดาต้า (Big Data) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้าด้วยกันเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต

ทั้งนี้ วัสดุใหม่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจีน เล็งเห็นถึงประโยชน์และศักยภาพ เพราะมองว่าวัสดุใหม่เป็นช่องทางที่สำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้อีกมากมาย แถมกระแสดูจะมาแรงซะด้วย
การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ ไม่เพียงได้รับการส่งเสริมจนเกิดการพัฒนาทั้งระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมในเวลาเดียวกัน 

ในภาพใหญ่ เราได้เห็นรัฐบาลจีนกำหนดมาตรการและดำเนินกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนและมาตรการส่งเสริมด้านการคลังสำหรับการวิจัยและพัฒนา ที่เกี่ยวข้องในมูลค่ารวมหลายล้านล้านหยวน

ในด้านการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จีนยังปรับปรุงกฎหมายโดยคลอดฉบับใหม่เฉลี่ยทุก 10 ปี และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

ขณะเดียวกัน จีนยังจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาระดับชาติ เพื่อจัดการกับการอุทธรณ์ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มการคุ้มครองและการเยียวยาแก่กิจการต่างชาติที่ถูกละเมิด 

                             เมื่อมังกรใช้ “วัสดุใหม่” ในการก้าวกระโดดครั้งใหม่ (1)

ในด้านการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด จีนลงทุนปรับปรุงระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยหันไปมุ่งเน้น “ภาคปฏิบัติ” มากขึ้น และดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง อาทิ โครงการ “Thousand Talents” (หนึ่งพันพรสวรรค์) รวมทั้งการใช้ “กิจการ” เป็นเวทีในการเรียนรู้ที่จับต้องได้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงในการรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตแรง 

เรายังควรจับตามองการปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในจีนอย่างใกล้ชิด ภายหลังการทดลองจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลสายวิทย์ฯ ที่กรุงปักกิ่ง และการจัดทำหลักสูตรและบรรจุวิชาที่ก้าวล้ำ อาทิ หุ่นยนต์ และ สายการผลิตอัจฉริยะ เอไอ และอวกาศ มาระยะเวลาหนึ่ง 

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 จีนได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาร่างกฎหมาย “Science and Technology Popularization” ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว จีนจะกำหนดให้สถาบันการศึกษาของจีนในทุกระดับส่งเสริม และผลักดันการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย 

ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ สถาบันการศึกษาในจีน จะเดินหน้ายกระดับการเรียนการสอนในด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลให้จีนสามารถผลิตนักเรียนนักศึกษาสายวิทย์ฯ และบุคลากรที่มีพื้นฐานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนหลายสิบล้านคนต่อปีในอนาคต และลดข้อกีดกันนักศึกษาจีนของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องไปได้มาก

นอกจากนี้ การจัดตั้งสถาบันด้านวัสดุใหม่ การปรับปรุงการจดทะเบียนนิติบุคคลให้กระชับ สะดวก และ คล่องตัว และการ “เปิดกว้าง” ทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดให้กิจการต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับสถาบันด้านวัสดุศาสตร์ของต่างประเทศ ก็ล้วนมีส่วนให้อุตสาหกรรมฯ รุดหน้าไป

ยังไม่ทันเจาะลึกลงไปในเรื่องวัสดุใหม่ แต่พื้นที่ของผมก็หมดแล้ว ขอต่อตอนหน้าครับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน