เวลานัดรวมตัวกันในกลุ่มเพื่อน ๆ นอกเหนือจากการพูดคุยถามถึงสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว ก็มักจะมีคำถามหนึ่งที่ว่า ... ใครยังไม่เคยเป็นโควิด 19 บ้าง ?? ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ก็พบว่าคนที่เคยเป็นมีมากกว่าที่ไม่เคยเป็น แถมบางคนยังมีอาการลองโควิด (Long Covid) เป็นของแถมอีกด้วย
ปัจจุบัน ... จะเห็นได้ว่าการระมัดระวังป้องกันตัวจากโรคดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ไม่เคร่งครัดเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย ให้เป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีฝนตกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากต้องระวังโรคโควิด 19 แล้ว ยังต้องระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ที่อาการรุนแรงไม่แพ้กันเพิ่มเติมด้วย ซึ่งหากมีอาการป่วยก็อาจจำเป็นต้องหยุดเรียน ลางาน หรืองดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพักรักษาอาการป่วยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค อันถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ... นั่นเองครับ
พักเรื่องฟ้าฝน ... ขอพาย้อนกลับไปในช่วงที่โรคโควิด 19 กำลังระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารของตน แต่ได้ยื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยอ้างเหตุผลว่า ตนป่วยด้วยโรคโควิด 19 และต้องแยกกักตัวที่บ้าน ในช่วงเวลาที่จะต้องใช้สิทธิฟ้องคดีพอดี เช่นนี้ ... ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ? ไปดูกันครับ
เหตุของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ ... นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี (ผู้เช่าอาคารพาณิชย์) รื้อถอนอาคารโครงเหล็กชั้นเดียว เนื่องจากดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 วินิจฉัยยกอุทธรณ์ และได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยให้เจ้าหน้าที่ไปส่งหนังสือแจ้งด้วยตนเองที่อาคารพิพาท
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 17 สิงหาคม 2565
คดีนี้ ... ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เพราะเหตุว่าเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 52 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดว่า ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย อุทธรณ์ ให้เสนอคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า ตนไม่ได้รับหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ด้วยตนเอง แต่มีบุคคลอื่นรับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ไว้แทน ประกอบกับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ตนติดเชื้อโควิด 19 และแพทย์ให้แยกกักตัว 14 วัน ทำให้ไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2565
ข้ออ้างดังกล่าวจะฟังขึ้นหรือไม่? และการป่วยเป็นโรคโควิด 19 ที่ต้องแยกกักตัวตามคำสั่งของแพทย์ ในช่วงเวลาที่ต้องใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลนั้น ถือว่ามีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การแจ้งผลคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ด้วยการให้เจ้าหน้าที่นำส่ง ณ อาคารพิพาท ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยเสมียนที่สำนักงานของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับไว้แทน ถือเป็นการแจ้งโดยชอบด้วยมาตรา 69 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับทราบตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 อันเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ คือ ต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2565
แต่เมื่อวันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องภายในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการ (มาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 จึงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 52 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีติดเชื้อโควิด 19 โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งแนวทางการรักษาและควบคุมการระบาดของโรคในขณะนั้น คือ การให้ผู้ป่วยต้องแยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
ฉะนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีต้องกักตัวที่บ้านในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องคดี ถือเป็นเหตุที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง มิให้สามารถยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลา
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดกำหนดการแยกกักตัว 14 วัน นับแต่วันที่ตรวจพบเชื้อ (วันที่ 3 สิงหาคม 2565) โดยมิได้ปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าออกไปอีกแต่อย่างใด
จึงถือเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือ มีเหตุจำเป็นอื่น โดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้)
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ไว้พิจารณาตามรูปคดีต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1266/2566)
คดีข้างต้น ... ศาลได้วินิจฉัยให้เห็นถึงตัวอย่างของลักษณะเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลอาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามกฎหมายแล้ว คือ การป่วยเป็นโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคที่ในขณะนั้น ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และต้องกักตัวตามคำสั่งแพทย์ อันถือเป็นเหตุที่เป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้สามารถยื่นคำฟ้องได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
รวมทั้งศาลได้พิจารณาถึงพฤติการณ์อื่นประกอบด้วยว่า ผู้ฟ้องคดีมีความพยายาม และรีบดำเนินการเพื่อนำคดีมาฟ้องต่อศาลทันที ที่พ้นจากเหตุอันเป็นอุปสรรคขัดขวางนั้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างคดีที่ศาลได้เคยวินิจฉัยว่า เข้าลักษณะเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีผู้ว่าฯ กทม. ได้ระบุระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีในตอนท้ายของคำสั่ง เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ชัดเจนจนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้มีการยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กำหนด (90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี)
ซึ่งเมื่อศาลพิจารณาถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้ฟ้องคดีแล้ว ถือว่ามีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1206/2566)
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)