“น้ำนางเอก” วลีฮิตติดปากคนไทย ที่สื่อถึงภาพลักษณ์ของนางเอกละครสมัยก่อน ที่จะต้องสั่งน้ำส้มมาดื่มทุกครั้งทุกครา จะว่าไป ... ในชีวิตจริงน้ำส้มก็นับว่าเป็นน้ำผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพและนิยมดื่มกันทั่วไป
ไม่เฉพาะแต่นางเอก แต่ถ้าโชคไม่ดีอาจเจอน้ำส้มที่ไม่สะอาด มีสารเคมีตกค้าง หรือ วัตถุเจือปน อันเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่ามีเป็นส่วนน้อยนะครับ โดยส่วนใหญ่จะถูกหลักอนามัย ยิ่งถ้ามีเครื่องหมาย อย. มาการันตีย่อมจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
สำหรับวันนี้ ... นายปกครองขอชวนทุกท่านไปชมละครฉากหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
โดยนางเอก คือ น้องอนงค์คนงามแห่งเมืองพระนคร ที่จะเป็นตัวเอกในการเล่าเรื่องราวคดีพิพาท ซึ่งเกิดจากการที่เธอพบว่าเครื่องดื่ม คือ น้ำส้มผสมวุ้นมะพร้าว ที่บรรจงเลือกให้พระอรรถคดีวิชัย หรือ คุณพระผู้เป็นสามีนั้น มีความน่าสงสัยว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกหลักอนามัย เธอจึงรีบแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ในขณะเดียวกัน เธอยังหวังด้วยว่า จะได้รับเงินสินบนนำจับตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากการพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
เมื่อเธอติดตามเรื่องทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วแต่กลับเงียบหาย ไม่จ่ายเงินรางวัลนำจับ ซึ่งเป็นสิทธิที่เธอควรจะได้รับ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เรื่องนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ? ตามมาฟังคำตอบกันเลยครับ!
เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... อนงค์พบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์น้ำส้มยี่ห้อหนึ่ง ที่ไม่ถูกต้อง โดยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะของผลิตภัณฑ์ว่า ถูกยกเลิกเลขสารบบอาหารไปแล้วหรือไม่ รวมถึงไม่แสดงวันที่ผลิตหรือวันที่ควรบริโภคก่อนเป็นภาษาไทย จึงได้แจ้งความนำจับและประสงค์รับเงินสินบนนำจับต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ต่อมา อนงค์ได้รับทราบว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้วว่า มีความผิดจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด หากแต่ อย. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด และไม่จ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่เธอ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินสินบนนำจับและชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลปกครองสูงสุดท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติอาหารฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งควบคุมคุณภาพอาหาร โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร
รวมตลอดถึงข้อความที่ต้องระบุในฉลากตามมาตรา 6 (10) ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษในทางอาญา และกำหนดให้เลขาธิการฯ หรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ที่กระทำความผิดได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับแล้ว คดีอาญาก็เป็นอันเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ฉะนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ อย. ตั้งแต่การรับแจ้งความ การตรวจสอบ และการดำเนินการทั้งหลายอื่นใดเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา ตลอดจนการเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติอาหารฯ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดความผิดและโทษในทางอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง ที่อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับ และเรียกค่าเสียหายจากการที่ อย. ไม่ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีการแจ้งความนำจับนั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเรียกร้องค่าเสียหายจากการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าว
คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือ ความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 949/2567)
สรุปได้ว่า ... แม้การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกรณีพิพาทข้างต้น จะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่กฎหมายว่าด้วยอาหาร เป็นกฎหมายที่มุ่งควบคุมคุณภาพอาหาร โดยคำนึงถึงความปลอดภัย คุ้มค่า และเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และใช้เป็นเกณฑ์หลักให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารนำไปปฏิบัติ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษในทางอาญา
และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถเปรียบเทียบปรับผู้ที่กระทำความผิดได้ โดยเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ดังนั้น ข้อพิพาทด้วยเรื่องไม่จ่ายเงินสินบนนำจับ จากกรณีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมครับ
ท้ายนี้ อนงค์ก็ฝากทุกท่านช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการในการเสริมสร้างความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่สังคม หากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ยา หรืออาหาร หรือได้รับความเสียหายจากการบริโภค ก็สามารถร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสายด่วน อย. 1556 ได้เลยครับ !
ก่อนจาก ... นายปกครองขอแนะนำหนังสือรวมถาม - ตอบ (ฉบับการ์ตูน) หัวข้อ รู้ไว้ ฟ้องได้ถูก ... “เรื่อง เป็นคดีปกครองหรือไม่ ?” ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตาม QR Code ที่ปรากฏด้านล่างนี้ครับ
https://anyflip.com/htowh/fpml/