“สลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ เรียกกันว่า “ลอตเตอรี่” หรือ “หวย” นั้น นอกจากจะเป็นความหวังของใครหลายคนในการที่จะได้เป็นเศรษฐีใหม่ในชั่วข้ามคืนแล้ว ... ยังเป็นช่องทางในการทำมาหากิน หรือเป็นอาชีพเพื่อหารายได้ของผู้ค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ ในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ได้มีโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล อันเป็นการเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถซื้อ-จองสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้า เพื่อนำไปจำหน่ายในลักษณะขายปลีกให้กับผู้บริโภค โดยมีข้อกำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายสลากและผู้ซื้อ-จองล่วงหน้า ที่เป็นบุคคลทั่วไปดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข อาทิ
ต้องจำหน่ายสลากในลักษณะขายปลีกด้วยตนเอง ห้ามนำสลากของตนไปจำหน่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลต่าง ๆ หากตรวจพบว่ามีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขการจำหน่ายสลากฯ และถูกพิจารณาตัดสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายและบอกเลิกสัญญาทันที ส่วนในกรณีผู้ซื้อ-จองล่วงหน้า ก็จะถูกพิจารณายกเลิกการลงทะเบียนผู้ซื้อ-จองล่วงหน้า เป็นต้น
อุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้ ... นายปกครองขอพาไปดูกรณีผู้ค้าถูกยกเลิกการเป็นผู้มีสิทธิทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากตรวจพบการจำหน่ายสลากฯ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชน อันนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่าข้อพิพาททำนองนี้ ... เป็นคดีปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ ?
เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีได้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจำหน่ายสลากฯ ในลักษณะขายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรง ต่อมา ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีหนังสือแจ้งยกเลิกการเป็นผู้มีสิทธิทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้า โดยระบุว่า ตรวจสอบพบสลากฯ ที่นำมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชนเป็นสลากฯ ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจำหน่าย อันเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนด
ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ตนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยตนเองเป็นปกติ มิได้นำไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์แต่อย่างใด การที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยกเลิกการเป็นผู้มีสิทธิซื้อ-จองล่วงหน้าของตน โดยระบุว่าเป็นการสั่งลงโทษ ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตนถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต
จึงได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คืนสิทธิ และให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ในการจำหน่ายสลากฯ เป็นเงินจำนวนกว่าหนึ่งแสนบาทแก่ตน
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ... การตัดสิทธิหรือยกเลิกสิทธิทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว มีลักษณะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง หรือ สัญญาทางปกครอง อันจะถือเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ? ไปติดตามหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยครับ !
ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและการอื่น ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แต่การดำเนินการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยผู้อำนวยการสำนักงานฯ ตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ ในการกำหนดวิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล คัดเลือกหรือแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เป็นเพียงการดำเนินกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเปิดให้ซื้อ-จองสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้าให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อนำไปจำหน่ายในลักษณะการขายปลีกให้กับผู้บริโภคเท่านั้น กรณีจึงมิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง
อีกทั้งการรับลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อ-จองล่วงหน้า ตามประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง ให้ตัวแทนจำหน่ายสลากและผู้ซื้อ- จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำหน่ายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ก็มิได้เป็นการทำความตกลงระหว่างผู้ฟ้องคดี กับ ผู้อำนวยการสำนักงานฯ ที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองฯ แต่อย่างใด
คดีนี้จึงมิใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองและสัญญาทางปกครอง) ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่ไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 488/2567)
สรุปได้ว่า … การดำเนินการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อกำหนดวิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล คัดเลือกหรือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิบุคคลทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เป็นเพียงการดำเนินกิจการอันเป็นปกติทางการค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการเปิดให้ซื้อ-จองสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้าแก่บุคคลทั่วไป เพื่อนำไปจำหน่ายในลักษณะการขายปลีกให้กับผู้บริโภคเท่านั้น
การตัดสิทธิการเป็นผู้ซื้อ-จองสลากฯ จึงไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง (มิใช่คำสั่งทางปกครอง) รวมทั้งไม่มีลักษณะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาททำนองนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม นั่นเองครับ ...
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีปกครองได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์”) https://aclib.admincourt.go.th/