รอยสักตราช่างกลมีผลต่อการเป็นทหารอากาศ!?

12 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

รอยสักตราช่างกลมีผลต่อการเป็นทหารอากาศ!? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4034 หน้า 6

ศรัทธา มนตรา คาถา อาคม ... “การสักหรือรอยสัก” ได้มีพัฒนาการจากแต่เดิมที่เป็นการสักยันต์ หรือ อักขระโบราณต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความเชื่อทางด้านคงกระพันชาตรี หรือ เป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันตัว มาเป็นเรื่องของศิลปะและความสวยความงามกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของกิจการร้านสัก   

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ารอยสักตามร่างกาย ยังเป็นเรื่องที่พึงระมัดระวังในบางสายอาชีพ ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ประสงค์จะเข้า “รับราชการ” ที่ผู้หลักผู้ใหญ่มักจะตักเตือน ด้วยอดีตรอยสักนั้นถูกตีตราในแง่ลบและอาจเป็นข้อห้ามสำหรับการเข้ารับราชการ 

หลายท่านคงอยากทราบแล้วว่า ... เจ้ารอยสักที่พูดถึงกันนี้ มีผลต่อการรับราชการมากน้อยเพียงใด และมีกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะเท่าที่นายปกครองพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีทั้งที่กำหนดชัดเจนและไม่ชัดเจน ในส่วนที่ชัดเจนก็คือ ข้าราชการทหารและตำรวจ แต่ก็ใช่ว่าการมีรอยสักจะทำให้ไม่สามารถเข้ารับราชการได้เสียทีเดียวนะครับ!  

แม้ว่าข้าราชการทหารและตำรวจ ซึ่งร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่และมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ทำให้มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการสักไว้ แต่ก็เป็นการจำกัดลักษณะรอยสักบางประการเท่านั้น มิใช่กรณีที่ไม่สามารถมีรอยสักได้เลยแต่อย่างใด

อีกทั้งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าว ในลักษณะที่ลดความเข้มข้นลง ซึ่งผู้สนใจเข้ารับราชการทหาร หรือ ตำรวจต้องคอยติดตามและอัพเดทข้อกำหนดเกี่ยวกับรอยสักกันนะครับ 

สำหรับข้าราชการตำรวจ ปัจจุบันกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2566 ข้อ 2 (13) กำหนดให้การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องไม่เป็นผู้มีแผลเป็น ไฝ ปาน รอยสัก หูด หรือซีสต์ ที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด 

ส่วนข้าราชการทหารนั้น วันนี้ ... นายปกครองขอพาทุกท่านตบเท้าเข้าสมรภูมิร่วมถกในประเด็นเกี่ยวกับการมีรอยสักของข้าราชการทหาร ซึ่งจะพบว่า กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ต่างก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับรอยสักบนร่างกาย สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารในสังกัดตนไว้

แต่การพิจารณาว่ารอยสักลักษณะใดไม่เหมาะสมต่อการบรรจุเข้ารับราชการทหารตามข้อกำหนด ถือเป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจเกิดข้อโต้แย้งและเป็นประเด็นปัญหาขึ้นสู่ศาลปกครองได้ เช่น กรณีของนายเหินฟ้าที่นำมาสนทนากันครับ 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... นายเหินฟ้ามีความใฝ่ฝันที่จะเข้ารับราชการในกองทัพอากาศ จึงสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร (แต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี) โดยผ่านการสอบคัดเลือกรอบแรก และได้เข้าทดสอบความถนัดบุคคลและวิภาววิสัย รวมทั้งการตรวจร่างกาย 

ผลปรากฏว่า นายเหินฟ้าเป็นหนึ่งในผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ด้วยเหตุมีรอยสักบนร่างกาย (รูปตราสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่บนหน้าอกข้างซ้าย) ที่ไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะของการเป็นทหาร ตามข้อกำหนดแนบท้ายประกาศรับสมัครฯ ที่ระบุลักษณะต้องห้ามว่า 

“รอยสักบนร่างกายที่อยู่ภายใต้ร่มผ้าที่มีรูป ตัวอักษร ข้อความ หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่แสดงถึงความรุนแรง ลามก หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือขัดกับหลักศาสนา วัฒนธรรม และศีลธรรมอันดี” และขัดต่อระเบียบกองทัพอากาศว่าด้วยการรับสมัคร การบรรจุ การโอน และการบรรจุกลับเข้ารับราชการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรอยสักบนร่างกายที่เห็นเด่นชัด” นายเหินฟ้าจึงไม่ผ่านการสอบคัดเลือกรอบสุดท้าย

นายเหินฟ้าเห็นว่า รอยสักรูปตราสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษาที่ตนเรียนมาถือเป็นสิริมงคลต่อตนเอง อีกทั้งเหตุผลที่ว่า อาจสร้างความขัดแย้งเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ จึงยื่นเรื่องอุทธรณ์คัดค้าน

แต่คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในกองทัพอากาศแจ้งยืนยันผลตามเดิม เป็นเหตุให้นายเหินฟ้ายื่นฟ้องประธานกรรมการและคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศที่ให้ตนไม่ผ่านการคัดเลือกและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ดังกล่าว 

ประเด็นพิจารณา คือ การตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีด้วยเหตุมีรอยสักบนร่างกายเป็นรูปตราสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? 

                          รอยสักตราช่างกลมีผลต่อการเป็นทหารอากาศ!?

ศาลปกครองสูงสุดท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า การเป็นข้าราชการทหารอากาศ มีความจำเป็นต้องรักษาวินัยและความสามัคคี เพื่อให้บรรลุซึ่งภารกิจของกองทัพอากาศ การแสดงออกซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาวินัยและความสามัคคี 

การที่ผู้ฟ้องคดี (อดีตนักศึกษาช่างกล) มีรอยสักเป็นรูปตราสัญลักษณ์และมีข้อความกำกับที่แสดงออกถึงสถาบันการศึกษาที่ตนจบมา ย่อมแสดงออกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับข้าราชการทหารผู้อื่น แม้จะอยู่ภายใต้ร่มผ้าก็ตาม แต่อยู่บริเวณหน้าอกข้างซ้ายและมีขนาดใหญ่

อีกทั้งเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องมีการถอดเสื้อออก ย่อมปรากฏต่อทหารที่ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือบุคคลอื่นจึงเป็นรอยสักบนร่างกายที่เห็นเด่นชัด และมีลักษณะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ตามข้อกำหนดแนบท้ายประกาศรับสมัครฯ 

ฉะนั้น ประกาศผลการสอบคัดเลือก (รอบสุดท้าย) ที่ไม่ปรากฏรายชื่อผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 6/2567)

คดีนี้ ... เป็นตัวอย่างกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเกี่ยวกับรอยสักบนร่างกาย ที่มีผลต่อการรับราชการทหารอากาศ โดยพิพากษาว่าการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่เห็นว่า รอยสักตามที่พิพาทมีลักษณะไม่เหมาะสมในการบรรจุเข้ารับราชการทหารอากาศนั้นชอบแล้ว 

การมีรอยสักบนร่างกาย จึงไม่จำกัดแต่เฉพาะรอยสักบนร่างกายที่ต้องไม่ปรากฏเห็นเด่นชัดนอกร่มผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรอยสักที่อยู่ภายใต้ร่มผ้าที่จะเห็นได้เมื่อถอดเสื้อด้วย ซึ่งกรณีทหารอากาศต้องไม่แสดงถึงความรุนแรง ลามก หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือขัดกับหลักศาสนา วัฒนธรรม และ ศีลธรรมอันดี  

ดังนั้น การมีรอยสักรูปตราสัญลักษณ์ขนาดใหญ่ และมีข้อความกำกับที่แสดงออกถึงสถาบันการศึกษาที่จบมา ย่อมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับข้าราชการทหารผู้อื่นได้ อันเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามข้อกำหนดแนบท้ายประกาศรับสมัครฯ นั่นเองครับ 

ท้ายนี้ ... แม้การมีรอยสักจะสามารถเข้ารับราชการได้ แต่บางลักษณะก็อาจขัดกับระเบียบ หรือข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงาน ดังเช่นคดีข้างต้น ซึ่งผู้ที่มีความใฝ่ฝันที่จะเข้าร่วมเป็นรั้วของชาติ หรือรับราชการอาจศึกษาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจดำเนินการลบ หรือแก้ไขรอยสักให้ไม่มีสภาพต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดครับ!  

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)