สหรัฐฯ หงายไพ่ ต้องการ “อินเดีย” สู้กับ “จีน”

22 ก.ค. 2566 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 07:24 น.

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่คนต่างชาติเข้าไปอยู่มากที่สุดของโลก ด้วยเหตุผลใหญ่ ๆ 3 เรื่องคือเพื่อโอกาสการทำงานที่ดีกว่า การมีชีวิตที่ดีกว่า และการศึกษาที่ดีกว่า


บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช 
                      นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

ในช่วง 10 ที่ผ่านมาคนต่างชาติเข้าไปอเมริกาสะสมเพิ่มจาก 10 ล้านคน เป็น 45 ล้านคน (ในปี 2021) และปี 2022 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 49 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรสหรัฐฯ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขรวมทั้งคนอพยพเข้ามาในแต่ละปีและมีลูกคนต่างชาติที่เกิดในสหรัฐฯ (Foreign-Born Population)  ปี 2023 จำนวนคนต่างชาติสะสมคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 50 ล้านคนไปแล้ว

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้วยตัวเลขมหาศาลขนาดนี้ คงจำกันได้ว่านโยบายอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการลดจำนวนคนเข้ามาในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “The Reforming American Immigration for a Strong Economy (RAISE) Act” (ปี 2017) แต่พอเปลี่ยนผู้นำ กฎหมายนี้ก็ถูกยกเลิกไป หันมาเน้นการให้ “บัตรเขียว (Green Card)” (ทางการเรียกว่า “Lawful Permanent Residents : LPRs) ยากขึ้น

จากเดิมคนที่ได้รับ Green Card ในแต่ละไตรมาส 3 แสนคน ลดลงเหลือ 1.3 แสนคนต่อไตรมาส (Pew Research Center, 2022) ปี 2019 คนได้รับ Green Card 13.6 ล้านคน ปี 2022 เหลือ 8 ล้านคน โดยมีคนสมัครขอปีละ 8 แสนคน (the United States Citizenship and Immigration Service :“USCIS)

คนเม็กซิโกเป็นชาติที่เข้ามาในสหรัฐฯ มากสุด 20% (11 ล้านคน) ตามด้วยอินเดีย 2.7 ล้านคน และจีน 2.4 ล้านคน

และเมื่อแยกตามภูมิภาคพบว่าคนเอเชียเข้าไปสหรัฐฯ มากสุด 15 ล้านคน โดยเอเชียตะวันออก จีน 2.4 ล้านคน เกาหลี 1 ล้านคน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ประเทศละ 3 แสนคน เอเชียใต้ อินเดีย 2.7 ล้านคน ปากีสถาน 4 แสนคน บังกลาเทศ 2.6 แสนคน และเนปาล 1.6 แสนคน

ส่วนอาเซียน มีฟิลิปปินส์เป็นชาติที่เข้ามามากสุดของอาเซียน 2 ล้านคน เวียดนาม 1.3 ล้านคน ไทยเท่ากับคนบังกลาเทศ 2.6 แสนคน  ลาว และเมียนมา ตัวเลขใกล้เคียงกัน 1.6 แสนคน โดย 3 ภูมิภาคข้างต้นมีสัดส่วนอย่างละ 30% ของจำนวนคนเอเชียที่เข้าไป

สหรัฐฯ หงายไพ่ ต้องการ  “อินเดีย” สู้กับ “จีน”

ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับคนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ มากกว่า 30 ปี คุยกันในประเด็น “ธุรกิจคนต่างชาติในสหรัฐฯ ไทยอยู่ตรงไหน” มี คุณหมอเพชรไฟลิน อมราลิขิต (Dr. Phetpailin Amaralikit) (หมอกุ้ง) เจ้าของ “คลีนิก Urgent Care หรือ Family Immediate Care” ในรัฐเวอร์จิเนีย  คุณอเล็กซ์ อมราลิขิต (Mr.Alec Amaralikit) ผู้บริหารบริษัท Exponent Industries คุณเปรมณี วงศ์แสงไพบูลย์ Mrs.Premanee Wongsangpaiboon) Senior Vice President, Global Commercial Banking ที่  “Bank of America Merrill Lynch” วอชิงตัน ดีซี และคุณนที วงศ์แสงไพบูลย์ (Mr.Natee Wongsangpaiboon) จาก องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) กระทรวงการขนส่งสหรัฐอเมริกา

ผมพบว่าคนอินเดียที่เข้ามาในสหรัฐฯ อยู่ในหลายหลายธุรกิจของสหรัฐฯ มากกว่าคนจีน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้กังวลกับคนอินเดียในทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกังวลคนจีนมากกว่า ขณะนี้คนอินเดียเป็นผู้บริหารระดับสูงในหลายบริษัทใหญ่สหรัฐฯ เช่น คุณสุนดา พิชัย (Sundar Pichai) เกิดที่รัฐทมิฬนาฑู เป็น CEO ของบริษัทกูเกิล  คุณสัญญา นารายานา เนเดลล่า (Satya Narayana Nadella) เกิดที่ไฮเดอราบัด เมืองหลวงรัฐอาธรประเทศ เป็น CEO บริษัท Microsoft

ในขณะที่ธนาคารอันดับ 2 ของอเมริกา (อันดับหนึ่งคือธนาคาร JPMorgan Chase)  “Bank of America” งานหลายส่วนสัดส่วน 30% จ้างบริษัทอินดียทำงาน (outsource) โดยเฉพาะงานด้านเทคนิค (technical skills) เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทลูกค้า การวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้นของบริษัทลูกค้า

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เป็นตลาดใหญ่ของบริษัทไอทีอินเดีย เช่น บริษัทอินโฟซิส (Infosys) บริษัทวิปโปร (Wipro) และ HCL เป็นต้น บริษัท IT ใหญ่ของอเมริกาก็ตั้งอยู่ในอินเดียเช่น  IBM และ Accenture เป็นต้น ส่วนบริษัทอเมริกาเป็น 1,000 บริษัทในอินเดียก็จ้างคนอินเดียเป็น 1 ล้านคน

ที่น่าสนใจ บริษัทอินเดียที่ตั้งอยู่ในอเมริกาจะฝึกพนักงาน แล้วส่งกลับไปทำงานที่อินเดีย (ช่วยพัฒนาประเทศอินเดีย) ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ของอินเดียและสหรัฐฯ ในทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีอินเดียไปเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 20-24 มิย. 2566 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีไบเดน

ทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงหลายฉบับได้แก่  1. Strategic Technology Partnership 2.อวกาศ 3. Semiconductor Supply Chain and Innovation Partnership (บริษัท Micron Technology, Inc. ไปลงทุนในอินเดีย สร้างงาน 2 หมื่นคนในห้าปีข้างหน้า) 4. Research and Development in 5G/6G Technologies 5. Joint Indo-U.S. Quantum Coordination Mechanism 6. 35 Innovative Joint Research 7.พัฒนา AI  8.ความมั่นคง 9.พลังงานสะอาด 10. IPEF 11. ขยายการค้า การลงทุน  พัฒนา SMEs ทักษะฝีมือแรงงาน และการศึกษา อย่างนี้ต้องบอกว่า “สหรัฐฯ ต้องการคนอินเดีย และอินเดียต้องการตลาดสหรัฐฯ” เพื่อมาต่อกรกับประเทศจีนแน่ ๆ