รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการปฏิวัติ-รัฐประหารในประเทศเมียนมา ใน 4 ครั้งที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของเมียนมาที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำ และบางปีถึงขั้นติดลบ และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นตามราคาสินค้า และค่าครองชีพ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
ทั้งนี้ในการทำรัฐประหารในเมียนมาครั้งล่าสุด ( 1 ก.พ. 2564)โดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในเมียนมาได้หยุดการลงทุนหรือพับแผนการลงทุนในช่วง 3 ปีผ่านมา จากไม่มีความแน่นอนทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจและความมั่นคง เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินจ๊าตที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อของชาวเมียนมาลดลง สวนทางค่าครองชีพสูง รวมถึงการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ได้หยุดชะงัก
การค้าชายแดนไทยเพิ่มขึ้นจากการปิดด่านจีน-เมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบริโภคมีส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกภาพรวมเพิ่มจาก 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ขณะที่ปี 2566 ล่าสุด การค้าไทย-เมียนมาได้ขยายตัวลดลงจากปัญหาความไม่สงบส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของชาวเมียนมา
ในส่วนของค่าเงินจ๊าตไม่ว่าจะเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การรัฐประหารยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนไปอีก โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 1 ดอลลาร์แลกเงินจ๊าตได้ 980 จ๊าต ปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 จ๊าตต่อดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับเงินบาท เมื่อก่อน 30 จ๊าต/บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 60 จ๊าต/บาท
ก่อนปฎิวัติ นักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวเมียนมา 5 ล้านคน ทำรายได้ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเมียนมาเหลือหลักหมื่นคน
การลงทุนต่างประเทศในเมียนมา ขึ้นไปสูงที่ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2015 (ข้อมูล Macrotrends) ตรงกับสมัยประธานาธิบดี เต็งเส่ง (Thein Sein) และขึ้นสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017-18 ในสมัยประธานาธิบดี ทีนจอ (Htin Kyaw, ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก) แต่รายงานของ ISP Data Matters, May 31, 2023) บอกว่าก่อนปี 2019 FDI ในเมียนมาอยู่ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ Young Myanmar’s Scholars Commentary Series, Issue No. 4, 17 June 2022, “Doing Responsible Business in Post-Coup Myanmar” รายงานว่า FDI สูงสุดที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015-2016 และอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุดคือ การผลิตอุตสาหกรรม ไม่ใช่พลังงาน และยังรายงานต่อว่า หลังปฎิวัติ FDI เหลือปีละ 2,500 ล้านดอลลาร์ แสดงว่า หาย FDI หายไปครึ่งหนึ่ง
ปกติแล้ว สัดส่วน FDI ในเมียนมา 70% เป็นน้ำมัน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิต หลังปฎิวัติ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น Voltalia (ฝรั่งเศส) POSCO (เกาหลีใต้) Chevron (สหรัฐฯ) ทั้ง 3 บริษัทได้ถอนการลงทุนจากเมียนมาแล้ว ขณะที่ FDI จากเวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน เหลือศูนย์ ส่วน FDI สิงคโปร์และไทย หายไปครึ่งหนึ่ง
“เมียนมาในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นของเมียนมาในอดีตได้ส่งผลจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ 3 เรื่องคือ 1.การเข้ามาของอังกฤษแบบ แบ่งแยกและปกครอง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 2.ข้อตกลงปางหลวง ไม่เป็นตามที่ตกลง และ 3.การปฎิวัติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าฝ่ายทหารหรือพลเรือนชนะ ความแตกแยกของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของเมียนมาไม่รู้จบ”