"เวียดนาม" ลุยพัฒนาภาคกลาง หนุน BCG-ดิจิทัล เป้าจีดีพี 8% จี้ไทยเชื่อมโอกาส

28 ก.ค. 2567 | 03:58 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2567 | 04:24 น.

เวียดนามลุยพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ภาคกลาง ดันเป็นประตูสู่อาเซียนเชื่อมลาว-ไทย ชี้มีศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดของประเทศ เป้าหมาย 7-8% ต่อปี แนะไทยแสวงหาความร่วมมือ พัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อม หวังขนสินค้าไทยไปเวียดนาม-จีนได้เพิ่ม

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ประเทศเวียดนาม มีทั้งหมด 63 จังหวัด แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาคใหญ่ ๆ คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในแต่ละภูมิภาคยังแบ่งย่อยออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่ ภาคเหนือที่มี 25 จังหวัด แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ Northwest มี 6 จังหวัด ติดกับมณฑลยูนนาน   Red River Delta มี 10 จังหวัด ฮานอย อยู่ตรงกลาง และ Northeast มี 9 จังหวัดติดกับเขตปกครองตนเองกว่างสี ภาคกลางมีทั้งหมด 19 จังหวัด

ตำแหน่งจังหวัดเหมือน “ตัววายกลับหัว” แบ่งออกเป็น กลางตอนเหนือ  (North Central) 6 จังหวัด ไล่ตั้งแต่จังหวัด Thanh Hoa, Nghe An, Ha Tinh, Quang Binh, Quang Tri และ Thua Thien (Hue) หรือจังหวัด “หางตัววาย” ที่สูงภาคกลาง (Central Highlands) มี 5 จังหวัดได้แก่ Kon Tum, Gia Lai, Dak Lak, Dak Nong และ Lam Dong หรือจังหวัด “ขาตัววายทางซ้าย” และ ชายฝั่งทะเลภาคกลางใต้ (South Central Coast) 8 จังหวัด Khanh Hoa, Ninh Thuan, Binh Thuan, Quang Nam, Da Nang, Quang Ngai, Binh Dinh และ Phu Yen  หรือจังหวัด “ขาตัววายทางขวา” ที่เหลือเป็นจังหวัดภาคใต้ (จังหวัดทางใต้และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง)

ปี 2024 เวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจ 465,814 ล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้ามาเลเซีย และกำลังจะแซงหน้าฟิลิปปินส์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามร้อยละ 80% อยู่ที่ภาคเหนือและใต้ ทำให้รัฐบาลต้องผลักดันและเปิดเขตเศรษฐกิจใหม่ของประเทศคือ “กลุ่ม 19 จังหวัดภาคกลาง”

\"เวียดนาม\" ลุยพัฒนาภาคกลาง หนุน BCG-ดิจิทัล เป้าจีดีพี 8% จี้ไทยเชื่อมโอกาส

การเปิดภาคกลางเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่เวียดนาม เพราะ 1.ขนาดเศรษฐกิจเศรษฐกิจจังหวัดภาคกลางต่ำกว่า ภาคเหนือ และใต้ ภาคกลางมีขนาดเศรษฐกิจเพียง 19% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ภาคเหนือ 35% และภาคใต้ 46% รัฐบาลจึงต้องการสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในภาคกลาง

2.เป็นประตูสู่อาเซียน ติด สปป.ลาว (ตั้งแต่ภาคเหนือจนภาคกลาง ในขณะที่ภาคใต้เวียดนามติดกัมพูชา) และสามารถเชื่อมต่อกับประเทศไทย 3.ประตูเชื่อมเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคใต้เข้าด้วยกัน 4.สร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ในทุกมิติและครบวงจร เกษตร อุตสาหกรรม บริการ สิ่งแวดล้อม พัฒนาแรงงาน พัฒนาเมือง เศรษฐกิจแบบ BCG AI และดิจิทัล 5.มีศักยภาพที่จะขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของประเทศที่เป้าหมาย 7-8% ต่อปี

6.ประตูสู่ทะเลของประเทศลาว จะเห็นได้ชัดว่าภาคเหนือและใต้มีเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจฮานอย และโฮจิมินห์ แต่สำหรับเขตเศรษฐกิจใหม่มีศูนย์กลางเศรษฐกิจหลายจังหวัด ไม่ใช่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง มี 4 จังหวัดนำเศรษฐกิจหลักคือ Nghe An, Ha Tinh, Hue และ Da Nang

กำหนด Da Nang เป็นศูนย์กลางผู้ประกอบการ นวัตกรรม ท่องเที่ยวและการค้า อุตสาหกรรมไฮเทค  Thua Thien Hue เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม Phu Yen และ Khanh Hoa ศูนย์กลางการขนส่งเพราะมีท่าเรือและสนามบิน  Binh Thuan, Ninh Thuan เป็นศูนย์กลางพลังงงานทางเลือก และจังหวัด Ha Tinh เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กและเครื่องจักร

 โครงการที่น่าสนใจอีกหนึ่งโครงการคือโครงการรถไฟเวียงจันทน์-หวุงอ่าง  ระยะทาง 544 กิโลเมตร เงินลงทุน 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนลาวและเวียดนามคือ Vietnam’s Deo Ca Group JSC และ Petroleum Trading Lao Public Company (PTL) โดยระยะแรกจะสร้างจากท่าเรือหวุงอ่าง ไปจังหวัดกวางบิน (Quang Binh) เพื่อไปเชื่อมกับเส้น R12 ของแขวงคำม่วน ระยะทาง 103 กิโลเมตร (อย่างไรก็ตาม โครงการนี้อาจจะสะดุดหรือล่าช้าออกไปหรือไม่ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจลาวไม่ค่อยดีนัก ค่าเงินกีบอ่อนต่อเนื่อง ทุนสำรองลดลงอย่างมาก หนึ้สาธารณะต่อ GDP เป็นอันดับสองอาเซียน)

สำหรับประเทศไทยต้องแสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับเวียดนามกลาง เช่น พัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยให้ไทยขนส่งสินค้าไปเวียดนามและจีนได้เพิ่มขึ้น และแสวงหาโอกาสการร่วมลงทุนกับจังหวัดภาคกลางเวียดนามในอุตสาหกรรมเป้าหมายเวียดนามร่วมกัน