เวียดนาม ลุยบันได 3 ขั้น ดัน “เหล็กสีเขียว” ผงาดแชมป์อาเซียน-แถวหน้าโลก

20 ก.ค. 2567 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2567 | 10:38 น.

ทำไม “เหล็กเวียดนามขึ้นเบอร์หนึ่งอาเซียนและติดระดับโลก” อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามเริ่มมาจากการตั้งโรงงานเหล็กแห่งแรกชื่อว่า Thai Nguyen Integrated Steelworks ในปี 1959 ที่จังหวัด Thai Nguyen ที่ถูกขนานนามว่า “ดินแดนเหล็ก (Land of Steel)”

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

หลังมี “นโยบาย Doi Moi” (ปี 1986)  เหล็กเวียดนามโตก้าวกระโดด ทั้งการผลิตและส่งออก แรงผลักดันสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเหล็กจากไต้หวัน Formosa Ha Tinh Corporation เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและอันดับต้นของโลก

มีนโยบาย (บันได) 3 เรื่อง (ขั้น) คือ

บันไดขั้นที่ 1 ผลิตและส่งออกเพิ่มรวดเร็ว แรงส่งจากจีนและรัสเซีย (สมัยเวียดยนาม-ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ) ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ตามด้วยแรงส่งจากนโยบาย Doi Moi มูลค่าส่งออกจาก 2 พันล้านเหรียญ (2013) เป็น 12,000 ล้านเหรียญ (2021) ส่งออก 13 ล้านตัน อาเซียนเป็นตลาดหลัก กัมพูชาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซียและเกาหลี

การส่งออกเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ปี 2560 เวียดนามผลิตเหล็ก 11.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) ปี 2565 ผลิต 19 ล้านตัน เป้าหมาย 66 ล้านตันในปี 2578  

นโยบายส่งออกมีหลัก ๆ คือ 1.อัตราการขยายตัวในปี 2025 อยู่ที่ 80-85% และ 90% (2050)  2.ร่วมมือกับนานาชาติให้มากขึ้น 3.ส่งออกเหล็กคาร์บอนต่ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Hydrogen Energy Strategy 2030-2050 ทั้งนี้เพื่อลด GHG ของประเทศ และหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดนจากยุโรป CBAM รวมถึงจากประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอน 4.กระจายตลาดส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นและรักษาฐานตลาดอาเซียน

บันไดขั้นที่ 2 ปกป้องเหล็กในประเทศ แม้ว่าเวียดนามเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ แต่การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น มาจากการทำข้อตกลงการค้าหลาย ๆ ฉบับของเวียดนาม ทำให้กระทบต่อการผลิตเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะเหล็ก HRC (Hot Rolled Coil)

เวียดนาม ลุยบันได 3 ขั้น ดัน “เหล็กสีเขียว” ผงาดแชมป์อาเซียน-แถวหน้าโลก

ตัวเลขการนำเข้าของกรมศุลกากรเวียดนาม (General Department of Customs : GDC) รายงานว่า ปี 2023 เวียดนามนำเข้า HRC เพิ่มขึ้น 143% เพิ่มขึ้นจาก 7.5 ล้านตัน (2021) และเพิ่มเป็น 9.6 ล้านตันในปี 2023 ทำให้ผลผลิตเหล็กในประเทศลดการผลิตลง 1.5 ล้านตัน

เหล็กนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเหล็กจากจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade : MOIT) จึงต้องออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กเร่งด่วนคือ 1.ตรวจสอบเข้มข้นการทุ่มตลาดเหล็กต่างประเทศในเวียดนาม 2.ตรวจผลกระทบต่อทุกมิติของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ได้แก่ วิธีการทุ่มตลาด ทั้งมูลค่าและยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด ผลผลิตและกำไร และการตั้งราคา

3.ศึกษาวิเคราะห์และผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการทุ่มตลาดกับผลผลิตภายในประเทศ การนำเข้าเพิ่มจะทำให้ลดการผลิตภายในประเทศหรือไม่ และทำให้ส่วนแบ่งตลาดผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศลดลง 4.ศึกษาและแก้ช่องโหว่ของกฎหมายการนำเข้า ที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีนำเข้า 5.ใช้มาตรการอุปสรรคทางเทคนิค (Technical Barrier) ในการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ

บันไดขั้นที่ 3 From Gray Steel to Green Steel เหล็กเวียดนามปล่อย 7% ของ CO2 เวียดนามจึงตั้งเป้าผลิตเหล็กสีเขียวให้ได้ปีละ 9.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดคาร์บอน เวียดนามใช้มี 2 วิธีสำคัญคือการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการดักเก็บและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ตาม Hydrogen Energy Development Strategy of Vietnam to 2030, vision to 2050

บันได 3 ขั้นของเวียดนาม ไทยจะได้รับผลกระทบ จากเหล็กราคาถูกเวียดนามเข้าในไทยมากขึ้นอีก  และแม้ว่าไทยจะปกป้องเหล็กภายในประเทศเหมือนที่เวียดนามกำลังทำ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว เวียดนามมีนโยบายการบังคับใช้  การส่งเสริม การปกป้องที่เข้มข้นกว่าไทย เพราะ เวียดนามกำหนดเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่เหล็กไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมรองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นเท่านั้นเอง